โรคติกส์ในเด็ก (Tics) ภาวะกล้ามเนื้อกระตุก...คล้ายโรคลมชัก

โรคติกส์ในเด็ก (Tics) ภาวะกล้ามเนื้อกระตุก...คล้ายโรคลมชัก

โรคติกส์ เป็นอาการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นเอง หรืออาการกล้ามเนื้อกระตุก โดยอาการจะเกิดขึ้นทันทีทันใด ไม่นาน เป็นเร็ว หายเร็ว สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้ แต่อาการที่เกิดขึ้นมักไม่มีแบบแผน ไม่เป็นจังหวะและไม่สม่ำเสมอเหมือนกับโรคลมชัก  และจุดที่กระตุกก็จะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม โรคนี้ไม่ทำให้เป็นอันตรายต่อสมองหรือการเรียนรู้ของเด็ก แต่อาจทำให้รู้สึกน่ารำคาญหรือเสียบุคลิกได้ โดยในเด็กที่อายุเกิน 10 ขวบ อาจรู้สึกถึงอาการเริ่มกระตุกด้วยตนเอง เช่น มีอาการคันบริเวณที่กระตุก และในเด็กที่โตขึ้น ผู้ใหญ่สามารถแนะนำวิธียับยั้งอาการที่เกิดขึ้นชั่วขณะได้

 

โรคติกส์ โรคนี้มีสาเหตุมาจากอะไรนะ?

    1. พันธุกรรม เช่น การมีคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องมีประวัติเป็นโรคติกส์ โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคสมาธิสั้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้
    2. ความผิดปกติของวงจรการทำงานของสมองซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมกล้ามเนื้อในส่วนของการเคลื่อนไหว ถ้าสมองส่วนนั้นทำงานผิดปกติไป ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคติกส์ได้
    3. การติดเชื้อ เบต้า-ฮีโมไลติก สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (Group A beta-hemolytic streptococcus ) ทำให้มีอาการอักเสบเจ็บคอ และเชื้อเข้าไปอยู่ในส่วนของสมอง ทำให้ภูมิคุ้มกันเข้าไปทำปฏิกิริยากับส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อ
    4. สาเหตุไม่ชัดเจน แต่อาจเกิดจากความเครียดหรือตื่นเต้นเกินไป ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคติกส์ได้

 

อาการโรคติกส์ในเด็ก…สังเกตได้อย่างไร ?

    1. กระพริบตา ยักไหล่ สะบัดคอ แขนขากระตุก (ในส่วนของเด็กที่ยังเกิดอาการไม่รุนแรง)
    2. บางรายที่อาการเพิ่มมากขึ้นรุนแรงขึ้น อาจมีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ซับซ้อน เช่น อาจกระโดดโดยไม่ทราบสาเหตุ ตีตัวเอง แคะจมูก แลบลิ้น จับจมูก
    3. การเปล่งเสียงที่ผิดปกติ กระแอม บางครั้งพูดคำซ้ำ คำหยาบ เป็นต้น

 

คำแนะนำในการดูแลเด็กที่เป็นโรคติกส์

    1. การใช้ยา ยาสามารถช่วยแค่บรรเทาอาการเท่านั้น อาการมักเป็นๆ หายๆ หรือทำให้เบาลง แต่ไม่สามารถรักษาหายขาดได้ แต่โรคไม่ได้มีอันตรายแต่อย่างใด ในบางครั้งเด็กอาจมีอาการติกส์เกิดขึ้น แนะนำให้ผู้ปกครองอย่าทักเด็ก หรือห้ามไม่ให้ทำ หรือทำให้เด็กรู้สึกกังวลเพราะจะทำให้มีอาการมากขึ้น
    2. ไม่กระตุ้นให้เด็กเครียดเกินไป ให้เด็กลดความกังวล หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเครียด
    3. ปรับพฤติกรรมในเด็กที่โตขึ้น โดยให้เด็กเกร็งกล้ามเนื้อเพื่อลดความกระตุกของกล้ามเนื้อส่วนนั้น
    4. ลดความขัดแย้งในครอบครัว เพราะอาจทำให้เด็กเกิดความเครียด เป็นต้น

แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ




Loading...