ความผิดปกติภายในร่างกายไม่เพียงส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆ ข้างใน แต่โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้หรือโรคภูมิแพ้ผิวหนัง คืออีกปัญหาที่พบได้บ่อยและส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยภายใน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้หรือโรคภูมิแพ้ผิวหนัง ก็อาจเกิดจากปัจจัยภายนอกได้เช่นกัน เราจึงควรทำความเข้าใจแบบเจาะลึก…เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้นี้
โรคผิวหนังที่พบบ่อย แบ่งเป็น 6 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
- โรคติดเชื้อต่างๆ เช่น โรคติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และโรคจากปรสิต เป็นต้น
- โรคผิวหนังอักเสบเอกซิมา แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
-
- โรคเอกซิมาที่เกิดจากปัจจัยภายใน (Endogenous eczema)
- โรคเอกซิมาที่เกิดจากปัจจัยภายนอก (Exogenous eczema)
- โรคผื่นแดง (Erythemas), ลมพิษ (Urticaria), ผื่นแพ้ยาชนิดต่างๆ (Drug eruptions)
- โรคกลุ่มที่เป็นผื่นแดงลอกเป็นสะเก็ดหรือขุย (Papulosquamous diseases) เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคผื่นขุยกุหลาบ เป็นต้น
- โรคภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง เช่น โรค เอส แอล อี โรคพุพองกลุ่ม Bullous pemphigoid
- โรคมะเร็งผิวหนัง (Skin malignancy)
ทำความเข้าใจ…โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้หรือภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic eczema)
เป็นโรคผิวหนังในกลุ่มที่ 2 ที่มีปัจจัยภายในเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้เกิดอาการของโรคผิวหนัง แต่ไม่ได้หมายความว่า..โรคผิวหนังที่เกิด
จากปัจจัยภายนอกจะไม่มีส่วนในการเกิดอาการของโรคเลย เพราะโรคทุกโรคจะเกิดอาการได้ด้วยสาเหตุและปัจจัยทั้งภายในและภายนอกมากระทบกับร่างกายเสมอ
ความผิดปกติภายใน หรืออาจกล่าวได้ว่า คือลักษณะทางพันธุกรรมของผู้ป่วยที่เป็นปัจจัยพื้นฐานนั่นเอง ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนจะมีลักษณะทางพันธุกรรมที่เป็นจุดอ่อนหรือผิดปกติที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบิดามารดาไม่เหมือนกัน ความบกพร่องที่ได้มาจากบิดามารดานี้จะมีความแตกต่างกัน มีความผิดปกติมากบ้างหรือน้อยบ้างไม่เท่ากัน ทำให้ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้มีอาการและอาการแสดงปรากฏออกมาไม่เหมือนกันและมีความรุนแรงแตกต่างกันอย่างมาก ตั้งแต่เป็นน้อยๆ เป็นตลอดเวลา เป็นๆ หายๆ เป็นตั้งแต่เด็กๆ เริ่มมีอาการเมื่อเข้าช่วงวัยรุ่น บางรายมีอาการเมื่อเป็นผู้ใหญ่ โดยลักษณะอาการสำคัญที่พบในผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ คือ
- ผิวหนังมีน้ำมันในชั้นหนังกำพร้า (Stratum corneum) น้อยกว่าคนปกติทั่วๆไป
- มีอาการคันที่ผิวหนังได้ง่ายกว่าปกติ และมักเป็นมากตอนกลางคืน
- เกิดผื่นแดงที่ผิวหนังง่าย
- เป็นขุยลอกตามผิวหนัง
ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้มักมาพบแพทย์ ด้วยอาการเหล่านี้..
- ผื่นแดงคันตามข้อพับ เช่น ข้อพับแขน ข้อพับขา คอ รักแร้ ขาหนีบ ร่องก้น
- ผื่นหรือตุ่มคันตามแขน ขา 2 ข้าง แต่บางรายก็เป็นข้างเดียว
- เป็นดวงหรือวงขาวบริเวณแก้ม แขน ขา หรือลำตัว อาจเป็นวงเดียวหรือหลายวง
- ตุ่มนูนบริเวณรูขุมขนส่วนแขน ขา
- ผื่นคันแดงหรือน้ำตาลบริเวณศอก เข่า ต้นคอ
- ผื่นแดงลอกเป็นสะเก็ดที่นิ้วมือ นิ้วเท้า ฝ่ามือหรือ ฝ่าเท้า
- ริมฝีปากแดง แห้งลอกเป็นขุย เป็นๆหายๆ
อาการคันเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเดือดร้อน ทำให้นอนไม่หลับ หงุดหงิด การเกาหรือแกะผิวหนังอย่างมาก ทำให้อาการผิวหนังอักเสบกำเริบมากขึ้น มีน้ำเหลืองออกมาที่ผิวหนัง ยิ่งทำให้อาการคันกระจายไปทั่วตัวที่ ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำเหลืองเสีย”
โดยอาการอื่นๆ ที่ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้อาจมีร่วมด้วยได้แก่ อาการน้ำมูกไหล ไอ จามเป็นๆหายๆ หรือมีอาการ หอบหืดร่วมด้วย
การวินิจฉัยหาสาเหตุโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้
การวินิจฉัยโรคนอกจากจะอาศัยประวัติอาการและอาการแสดงดังกล่าวมาแล้ว บางครั้งยังต้องอาศัยการถามประวัติในครอบครัวผู้ป่วยซึ่งมักพบว่า พี่น้อง บิดามารดา น้า อา ลุง ปู่ ย่า ตา หรือยายมีอาการโรคภูมิแพ้ชนิดใดชนิดหนึ่งร่วมอยู่ด้วย
เมื่อวินิจฉัยโรคได้แล้วแพทย์จะประเมินความรุนแรงของโรคแล้วจึงให้การดูแลรักษาตามลำดับดังนี้
- อธิบายเรื่องโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ให้ผู้ป่วยและญาติ เพื่อให้ทราบว่า จุดอ่อนหรือความบกพร่องของผิวหนังเป็นลักษณะทางพันธุกรรมจะอยู่กับผู้ป่วยตลอดไป แต่ร่างกายของผู้ป่วยสามารถปรับตัวได้โดยการให้ผู้ป่วยออกกำลังกาย รักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นทาโลชั่นบำรุงผิวหนังอยู่เสมอๆ ตามสภาพอากาศ ไม่อาบน้ำอุ่นนานๆ เพราะน้ำอุ่นจะชะล้างไขมันที่ผิวหนังออกไป แพทย์สามารถควบคุมโรคได้ในช่วงที่ผิวหนังอักเสบ แต่การดูแลอาการต่างๆ ของโรคในระยะยาวต้องอาศัยผู้ป่วยและญาติที่ใกล้ชิดช่วยควบคุมและดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ที่จะทำให้โรคสงบหรือหายไปได้ในระยะยาว
- แพทย์จะควบคุมอาการคันด้วย ยาแก้คัน (Anti-histamine) ต้องรับประทานยานี้ติดต่อกัน จนไม่มีอาการคันติดต่อกัน 7 วันจึงหยุดยาแก้คันได้ อาการคันอาจไม่หายไปหมดจากการรับประทานยาให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบหรือใช้ครีมเพิ่มความชุ่มชื้นชโลมผิวหนังจะช่วยลดอาการคันได้
- ผิวหนังที่อักเสบแดงหรือเป็นขุยลอกให้ใช้ครีมสเตียรอยด์ความแรงระดับกลาง เช่น Triamcinolone acetonide 0.1% cream, Betamethasone 17-valerate cream ทาวันละ 2 ครั้งติดต่อกันนาน 7-14 วัน ถ้าผื่นผิวหนังอักเสบเป็นมากกระจายทั่วตัวหรือการอักเสบเป็นรุนแรงจนมีน้ำเหลืองออกมาอยู่บนผื่นผิวหนัง ในกรณีเช่นนี้ จำเป็นต้องใช้ยารับประทานสเตียรอยด์และใช้น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9 % เช็ดน้ำเหลืองอย่าปล่อยให้น้ำเหลืองเยิ้มอยู่ที่ผิวหนังเพราะจะทำให้เกิดอาการคันและตุ่มแดงกระจายทั่วตัวที่ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำเหลืองเสีย”
ถ้าผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตัวได้ตามที่กล่าวมาแล้วจะช่วยให้ผิวหนังที่อักเสบกลับคืนสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว อย่างไรก็ตามการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยตามที่แนะนำแล้ว จะช่วยลดการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบซ้ำกันได้ ในกรณีที่เกิดผื่นผิวหนังอักเสบผู้ป่วยสามารถใช้สเตียรอยด์ครีมความแรงที่เหมาะสมทาเพื่อช่วยให้ผื่นหายไปได้รวดเร็วขึ้น ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยทุกท่านในการดูแลโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ให้หายและเกิดเป็นซ้ำให้น้อยที่สุดหรือไม่เป็นอีกเลย