อวัยวะที่คอยรับน้ำหนักร่างกายและช่วยเรื่องการเคลื่อนไหวอย่างหัวเข่า ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อต่อที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อควรระวังมากมาย เพราะอาจเกิดการบาดเจ็บได้หลากหลายรูปแบบ ด้วยลักษณะอวัยวะที่ความซับซ้อน มีทั้งกระดูก ข้อ เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ หากเกิดการบาดเจ็บของจุดใดจุดหนึ่งและปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รีบเข้ารับการรักษา อาจส่งผลให้ส่วนอื่นๆ บาดเจ็บเพิ่มขึ้นตามมาได้
เข่าประกอบด้วยอะไรบ้าง
ลักษณะทางกายวิภาคส่วนข้อเข่าของเรานั้นประกอบไปด้วย กระดูกต้นขา (Femur) กระดูกหน้าแข้ง (Tibia) กระดูกสะบ้า (Patella) โดยบริเวณที่กระดูกทั้ง 3 ชิ้นสัมผัสกันนั้นจะมีทั้งกระดูกอ่อน (Articular cartilage) และเยื่อบุข้อ (Synovial membrane) หุ้มเอาไว้ รวมถึงหมอนรองกระดูกข้อเข่า (Meniscus) หมอนรองกระดูกข้อเข่า ทรงลิ่มรูปร่างคล้ายเกือกม้าตัว C รองอยู่ทั้งด้านนอกและด้านในคอยทำหน้าที่ลดแรงกระแทกบนผิวข้อเข่า เสริมความมั่นคง และช่วยให้น้ำหล่อลื่นข้อเข่าไปเคลือบผิวข้อได้ดีขึ้น
เจ็บหัวเข่า…มีสาเหตุมาจากอะไร
ซึ่งอาการเจ็บที่หัวเข่านั้นส่วนหนึ่งอาจมีสาเหตุเกิดจากหมอนรองกระดูกข้อเข่า (Meniscus) บาดเจ็บได้ด้วยเช่นกัน ซึ่ง พ.ต.อ.นพ.จิรันธนิน รัตนวารินทร์ชัย แพทย์ประจำศูนย์ทางการแพทย์คลินิกโรคกล้ามเนื้อ กระดูก โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้แนะนำว่า อาการบาดเจ็บในจุดนี้มักจะแสดงออกมาชัดเจนในขณะที่เข่ากำลังบิดหมุน รวมถึงการถูกกระแทกหรือลงน้ำหนักในขณะที่เข่างอ โดยลักษณะอาการที่พบบ่อยคือ ปวด บวม ตึง อาการเข่าล็อกหรือเข่าขัดกัน งอเข่าได้ไม่สุด บางรายอาจรู้สึกเหมือนเข่าหลุด
การรักษาเป็นอย่างไร
เบื้องต้นแพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการซักประวัติและตรวจร่างกาย ตลอดจนใช้การเอ็กซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งจะมีความแม่นยำถึง 80 – 90 % ส่วนการวางแนวทางการรักษาของแพทย์นั้นอยู่ภายใต้ปัจจัยที่หลากหลาย หากอาการบาดเจ็บเกิดขึ้นเล็กน้อยหรือรอยฉีกยาวไม่เกิน 1 เซ็นติเมตรและอยู่ในส่วนที่มีเลือดหล่อเลี้ยงซึ่งสามารถหายเองได้ แพทย์จะแนะนำให้พักการเคลื่อนไหว ควบคู่ไปกับการประคบเย็น การรับประทานยา และกายภาพบำบัด แต่หากพบว่าเกิดการบาดเจ็บในระดับรุนแรง การผ่าตัดจะเป็นทางเลือกในการรักษาอาการดังกล่าว โดยเฉพาะการผ่าตัดส่องกล้อง เทคโนโลยีทางการแพทย์ยุคใหม่ที่ลดขั้นตอนและร่นระยะเวลาการรักษาได้มาก สามารถทำได้ทั้งเย็บซ่อมแซมส่วนที่ฉีกขาด หรือตัดเล็มส่วนที่เสียหายออก
ผ่าตัดส่องกล้อง แผลเล็กเจ็บน้อย
ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้องนั้น อาจใช้เวลาพักฟื้นหลังการผ่าตัดที่โรงพยาบาลเพียง 1 – 2 วัน โดยหลังจากนั้นอาจะใช้ไม้เท้าพยุงเดินต่อเนื่องไปอีก 1 – 2 สัปดาห์ ซึ่งหากประกอบอาชีพที่ไม่ต้องเดินหรือเคลื่อนไหวมากนัก คนไข้สามารถกลับไปทำงานได้ทันที พร้อม ๆ กับการทำกายภาพบำบัดตามท่วงท่าที่แพทย์แนะนำซึ่งคนไข้นั้นสามารถทำได้ที่บ้านด้วยตัวเอง