แค่ได้ยินคำว่าผ่าตัดกระดูกสันหลังก็คิดไปไกลแล้วว่าต้องเป็นการผ่าตัดใหญ่ ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน ที่สำคัญก็ไม่รู้ด้วยว่าหลังผ่าตัดจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้หรือไม่ จะมีความเสี่ยงมากไหม และทิ้งใหญ่ไว้ด้วยหรือเปล่า
ใครที่กังวลเรื่องนี้อยู่อาจโล่งใจขึ้น เมื่อรู้ว่าการผ่าตัดกระดูกสันหลังในปัจจุบันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะ 5 เทคนิคในการผ่าตัดรักษาโรคกระดูกสันหลังแบบแผลเล็ก Minimally Invasive Spine Surgery (MIS) นั้นให้ประสิทธิภาพสูง ลดผลกระทบที่เคยมี เสียเลือดน้อย เจ็บน้อย แผลเล็ก จึงฟื้นตัวไว แถมยังลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้มากขึ้นด้วย
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังด้วยกล้องเอ็นโดสโคป (Endodiscectomy)
เป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ขนาดเล็ก (Endoscope) โดยแพทย์จะสอดกล้องเอ็นโดสโคปผ่านแผลผ่าตัดที่มีขนาดเล็กมากเพียง 8 มม. แม้กล้องจะมีขนาดเล็กแต่ภายในตัวกล้องจะมีเลนส์ที่ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติอยู่ที่ปลายกล้อง แพทย์จะยังคงสามารถเห็นอวัยวะภายในร่างกายได้อย่างชัดเจนในขณะผ่าตัด
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังด้วยการใช้ Laser คู่กับ Endoscope/Microscope
เป็นการรักษาด้วยการใช้ Laser ส่งผ่าน Fiber optic ขนาด 1 มม. คู่ไปกับ Endoscope เพื่อตัดหมอนรองกระดูกที่ต้องการออกด้วยความร้อนจาก Laser วิธีนี้จะปลอดภัยกับเนื้อเยื่อข้างเคียงและช่วยให้ไม่เสียเลือดมาก
การสลายหมอนรองกระดูก (Nucleoplasty)
การผ่าตัดขนาดเล็กด้วยการใช้เข็มฝังเข้าไปปล่อยพลังงานคลื่นวิทยุให้เกิดความร้อนสลายหมอนรองกระดูกสันหลังที่ทับเส้นประสาท หลังจากการผ่าตัด อาการปวดหลังร้าวลงขาจะค่อยๆ บรรเทาลง การรักษาวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทไม่มาก มีแค่อาการปวดหลังยังไม่ร้าวลงไปยังขา แต่รักษาด้วยยาหรือทำกายภาพแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังด้วยกล้องขยาย (Microdiscectomy)
เป็นการผ่าตัดแผลเล็กขนาด 2-3 ซม. ด้วยการใช้กล้อง Microscope เป็นกล้องขยายขนาดเล็ก ทำให้เห็นรายละเอียดได้ชัดเจนกว่าการมองด้วยตาเปล่า มี Navigator ช่วยคำนวณพิกัดของกระดูกสันหลัง แพทย์จึงสามารถวางแผนการผ่าตัดได้ง่ายและแม่นยำมากขึ้น
การผ่าตัดใส่หมอนรองกระดูกสันหลังเทียม (Artificial Disc Replacement)
หากหมอนรองกระดูกเสื่อมมากจนไม่สามารถใช้งานได้แล้ว การใส่หมอนรองกระดูกสันหลังเทียมจะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติอีกครั้ง เป็นการรักษาการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังให้ใกล้เคียงแบบเดิมมากที่สุด และลดโอกาสในการเกิดความเสื่อมของกระดูกสันหลังข้างเคียงอีกด้วย
ใช่ว่าป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังแล้วจะต้องเข้ารับการผ่าตัดเสมอไป เราสามารถเริ่มต้นได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และหากพบความผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยจะได้รักษาอย่างทันท่วงที