ในการเลี้ยงดูเด็กคนนึง ไม่ใช่แค่โรคฮิตในเด็กที่พ่อแม่ต้องคอยเฝ้าระวัง แต่ยังมีพ่อแม่บางรายที่เพิ่งมารู้ว่าลูกตนเองมีปัญหาเกี่ยวกับดวงตา…ในวันที่เกือบสายเกินแก้ไข เพราะลูกน้อยไม่ได้รับการตรวจดวงตาตามหลักเกณฑ์ที่ควรจะเป็น แล้วเมื่อไหร่กันล่ะ? ที่พ่อแม่ควรพาลูกรักไปพบจักษุแพทย์ นี่คือคำตอบ…
การตรวจดวงตาในเด็ก แบ่งออกเป็น 3 ช่วงวัย ดังนี้
ช่วงอายุ 0 – 2 ปี (Infant and toddler)
- ทารกคลอดก่อนกำหนด ตรวจหลังคลอดได้ 4-6 สัปดาห์ และเมื่ออายุครบ 3 เดือน ( หลังคลอด ) หากปกติ ตรวจตอนอายุ 1 ปี
- ทารกคลอดครบกำหนด อายุ 3 เดือน ยังไม่มองสบตา หรือมองหน้าพ่อ แม่
- เด็กมีอาการน้ำตาเอ่อล้นเป็นประจำที่ให้การรักษาโดยการนวดหัวตา แล้วไม่ดีขึ้น ( มีแนวโน้มเป็นท่อน้ำตาตันหรือ โรคต้อหินในเด็ก )
- หนังตาตกข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง แม้ไม่บดบังการมองเห็นแต่อาจเป็นสาเหตุของ lazy eye ในอนาคต
- เด็กกลุ่มพัฒนาการผิดปกติ ควรได้รับการตรวจการมองเห็นว่าผิดปกติด้วยหรือไม่
- ทารกกลุ่ม Down ‘syndrome ( มักพบต้อกระจกและสายตาผิดปกติ )
- เด็กที่มีความผิดปกติของ hormone ในส่วน pituitary ( มักพบภาวะ Optic nerve hypoplasia )
- เด็กที่พบภาวะตาสั่น
- เด็กที่มี cornea โตกว่าปกติ ข้างเดียวหรือสองข้าง (พบความเสี่ยง congenital Glaucoma) โดยเฉพาะมีอาการแพ้แสงหรือน้ำตาไหลเป็นประจำร่วมด้วย
ช่วงอายุ 2-5 ปี (Pre-school age) ตรวจเมื่อพบอาการหรือมีข้อบ่งชี้ ดังนี้
- ตาเข
- กระพริบตาบ่อย ๆ ผิดปกติ
- มีอาการเอียงหน้าเวลามอง
- ประวัติครอบครัวที่มีความผิดปกติทางสายตา
- เด็กกลุ่ม Learning Disability (วิเคราะห์ระดับการมองเห็น ว่าเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะ LD หรือไม่)
ช่วงอายุ 5 ปีขึ้นไป (School Child) ตรวจเมื่อพบอาการหรือมีข้อบ่งชี้ดังนี้
- ปวดศีรษะเป็นประจำ ตรวจหาสาเหตุอื่นไม่พบ
- หยีตาเวลามอง หรือต้องดูโทรทัศน์ใกล้ ๆ
- ตาเข ตาเหล่ หรือมีประวัติพี่น้องเป็นตาเข
- ตรวจตาเพื่อหาความผิดปกติทุกรายก่อนเข้าโรงเรียน กรณีพบสาเหตุนำสู่ภาวะตาขี้เกียจต้องรักษาก่อนอายุ 9 ปี (หากตรวจช้ากว่านี้อาจไม่ได้ผลการรักษาที่ดี)