ไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งเมื่อเกิดการระบาดจะมีการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็ว แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีตัวยาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ได้ แต่ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ ทำให้เราสามารถป้องกันภัยเงียบที่น่ากลัวนี้ได้…ด้วยการฉีด วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
เชื้อไวรัสเดงกี่…แพร่จากยุงลายมาสู่คนได้อย่างไร?
กระบวนการแพร่เชื้อไวรัสของโรคไข้เลือดออก เกิดจากยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดของผู้ที่เป็นโรคไข้เลือดออกก่อน หลังจากนั้น เมื่อยุงลายตัวเดิมไปกัดคนที่อยู่ในระยะทางไม่เกิน 400 เมตร เชื้อดังกล่าวก็จะแพร่เข้าสู่คนที่ถูกกัดได้ทันที ซึ่งยุงชนิดนี้สามารถกัดคนได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน มักพบได้ในบริเวณที่มีการเพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำนิ่งในบริเวณบ้าน เช่น ตุ่มน้ำ โอ่งน้ำ แจกัน จานรองตู้กับข้าว กระป๋อง ฝากะลา ยางรถยนต์เก่าๆ หลุมที่มีน้ำขัง เป็นต้น
อาการเตือนว่าคุณกำลังติดเชื้อไวรัสเดงกี่
หลังจากได้รับเชื้อจากยุงลายประมาณ 5-8 วัน จะทำให้มี อาการไข้สูงลอย (38.0-40 องศาเซลเซียส) ติดต่อกัน 2-7 วัน หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดเบ้าตา ปวดท้อง อาเจียน เบื่ออาหาร จากนั้นจะเริ่ม…มีจุดแดงเล็กๆ ตามแขน ขา ลำตัว และรักแร้ อาจมีเลือดกำเดาไหล และเลือดออกตามไรฟัน ทั้งนี้โรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยจะมีอาการทั่วไปคล้ายเป็นหวัด แต่มักไม่ไอ และไม่มีน้ำมูก
โรคไข้เลือดออก…สามารถป้องกันได้
วิธีการป้องกันตัวเองและคนรอบข้างที่ดี คือ ไม่ให้โดนยุงกัด นอนในมุ้งหรืออยู่ในห้องที่สามารถป้องกันยุงลายได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน รวมถึงการขจัดลูกน้ำและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก อีกทางเลือกที่ดีกว่า
เพราะในบางครั้ง เราอาจอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันการรับเชื้อไวรัสเดงกี่ได้ดีกว่า และวัคซีนนี้ยังสามารถป้องกันไวรัสเดงกี่ได้ถึง 4 สายพันธุ์ ได้แก่ เด็งกี่-1, เด็งกี่-2, เด็งกี่-3 และ เด็งกี่-4 โดยแนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุ 9- 45 ปี ที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน แต่ก็อย่าลืมว่า วัคซีนไม่สามารถป้องกันได้ 100 % การดูแลตนเองและคนรอบข้างไม่ให้ถูกยุงกัดก็ยังถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ
การดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออก
ในปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ ทำให้ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะได้รับการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ คือ
- เช็ดตัวลดไข้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการชัก
- ให้ยาลดไข้จำพวกพาราเซตามอล “ห้ามใช้ยาจำพวกแอสไพริน” เพราะจะทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารและทำให้เลือดออกง่าย
- ให้ผู้ป่วยได้รับสารน้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร อาเจียนและอ่อนเพลีย ควรให้ดื่มน้ำผลไม้ น้ำเกลือแร่ โดยดื่มทีละน้อยๆ แต่ดื่มบ่อยๆ
- ควรให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย
เมื่อสงสัยว่าคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก โดยมีไข้สูงลอย เกิน 38.5 องศาเซลเซียส นานเกิน 2 วัน หรือหน้าแดง คอแดง ปวดศีรษะ หรือปวดกระบอกตา ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว จะช่วยให้ลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกได้
ทำไมต้องเลือกมารพ.พญาไท 2
- มีความพร้อมของทีมแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ ที่จะวางแผนการรักษาเมื่อทราบผลเลือดว่าเป็นไข้เลือดออก หรือเป็นโรคติดเชื้ออื่นๆ
- การตรวจเลือดทั่วไป จะดูผลจากการตรวจเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงควรมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติมที่สามารถแสดงผลการตรวจได้อย่างแม่นยำ และสามารถทราบผลภายใน 1 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อการรักษาที่ตรงจุดอย่างรวดเร็ว
- เป็นศูนย์วัคซีนที่มีทีมแพทย์และพยาบาล พร้อมให้บริการด้านวัคซีน