กายภาพบำบัดช่วยเหลือเคลื่อนย้ายในผู้ป่วยอ่อนแรงครึ่งซีก

พญาไท 3

1 นาที

พ. 22/04/2020

แชร์


Loading...
กายภาพบำบัดช่วยเหลือเคลื่อนย้ายในผู้ป่วยอ่อนแรงครึ่งซีก

ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะอ่อนแรงครึ่งซีก การพยุงเคลื่อนย้ายจำเป็นต้องให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษเนื่องจากอาจเกิดการบาดเจ็บต่อผู้ป่วย ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อและข้อต่อด้านที่อ่อนแรง โดยเฉพาะการนำผู้ป่วยลงจากเตียงไปนั่งในรถเข็นและการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ขึ้น – ลง รถยนต์

3 จุดเฝ้าระวัง ขณะเคลื่อนย้ายในผู้ป่วยอ่อนแรงครึ่งซีก

1. ขั้นตอนการเตรียมความพร้อมให้ผู้ป่วยก่อนขึ้นรถเข็น ขั้นตอนนี้ ผู้ดูแลจะต้องให้ผู้ป่วยอ่อนแรงครึ่งซีกลุกขึ้นนั่งห้อยเท้าอยู่บนขอบเตียง ก่อนย้ายไปที่รถเข็นซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่ผู้ป่วยที่ยังนั่งทรงตัวไม่ดีพออาจตกจากเตียงได้ หากผู้ดูแลหันไปขยับรถเข็น ดังนั้นแนะนำให้จัดรถเข็นให้เรียบร้อยเสียก่อนถึง แล้วจึงพยุงให้ผู้ป่วยลุกขึ้นนั่ง เพื่อไม่เสี่ยงต่อการตกจากเตียง

  • การเคลื่อนย้ายจากเตียงไปรถเข็นนั่ง ให้นำรถเข็นตั้งทำมุมประมาณ 45 องศากับขอบเตียง เมื่อผู้ป่วยลุกขึ้นนั่งที่ขอบเตียงแล้ว รถเข็นจะต้องตั้งอยู่ทางด้านที่ปกติของผู้ป่วย ล็อกล้อรถเข็นให้มั่นคงพับที่วางเท้าของรถเข็นขึ้นเมื่อผู้ป่วยลุกขึ้นนั่งเรียบร้อยแล้วให้ผู้ดูแลยืนอยู่ข้างที่อ่อนแรงของผู้ป่วย ผู้ดูแลต้องจับเข็มขัดหรือสายคาดเอวทางด้านหลังของผู้ป่วยเพื่อช่วยประคองตัวผู้ป่วย จากนั้นให้ผู้ป่วยเลื่อนตัวมาที่ขอบเตียงจนเท้าทั้งสองข้างวางบนพื้น ต่อมาให้ผู้ป่วยใช้มือข้างที่ปกติจับที่วางแขนของรถเข็นด้านที่อยู่ไกลตัวแล้วลุกขึ้นยืน ผู้ป่วยค่อยๆหมุนตัวลงไปนั่งในรถเข็น เมื่อผู้ป่วยนั่งเรียบร้อยแล้วให้ดันที่วางเท้าของรถเข็นลงแล้วนำเท้าของผู้ป่วยวางบนที่วางเท้า
  • รถเข็นไปยังเตียง  ในทางกลับกันหากต้องการนำผู้ป่วยจากรถเข็นไปยังเตียง ให้นำรถเข็นที่ผู้ป่วยนั่งอยู่ตั้งทำมุม 45 องศากับขอบเตียง โดยให้ด้านที่ปกติของผู้ป่วยอยู่ชิดกับเตียง นำเท้าผู้ป่วยวางลงบนพื้นพร้อมกับพับที่วางเท้าของรถเข็นขึ้น ผู้ดูแลยืนอยู่ข้างที่อ่อนแรงของผู้ป่วย จับสายคาดเอวทางด้านหลังของผู้ป่วยเพื่อช่วยประคองตัวผู้ป่วยขึ้นให้ผู้ป่วยใช้มือข้างที่ปกติจับที่วางแขนของรถเข็นหรือจับที่ขอบเตียงพร้อมกับดันตัวลุกขึ้นยืนจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งห้อยเท้าที่ขอบเตียงหรือให้ผู้ป่วยนอนลงบนเตียง

 

2. จัดท่านั่งผู้ป่วยให้ถูกต้องขณะนั่งรถเข็น ในช่วงระหว่างที่นำผู้ป่วยลงจากเตียง ผู้ดูแลต้องเช็คให้แน่ใจก่อนว่าผู้ป่วยนั่งในลักษณะที่ถูกต้องหรือไม่ ท่านั่งที่ถูกต้องเมื่อต้องนั่งรถเข็นเป็นอย่างไร ?

  1. ให้ผู้ป่วยนั่งให้ก้นชิดพนักพิงของรถเข็น เพราะหากนั่งห่างจากพนักพิงมากเกินไป อาจเสียงผู้ป่วยลื่นไถลลงตกรถเข็นได้
  2. เช็คความสมดุลของลำตัวผู้ป่วยไม่ให้เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
  3. ควรมีสายรัดลำตัวคาดไว้กับพนักพิงของรถเข็น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยตกจากรถเข็น สิ่งสำคัญ คือ ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าทางที่ดีและเหมาะสม เพื่อยับยั้งการเกิดความตึงตัวของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ และป้องกันการบิดผิดท่าของข้อไหล่ หรือข้อมือขณะนั่งรถเข็น
  4. อย่าให้เท้าผู้ป่วยตกไปจากที่วางเท้า ตลอดการเข็นเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ผู้ดูแลต้องคอยตรวจสอบความเรียบร้อยของผู้ป่วย ไม่ให้เท้าตกจากที่วางเท้า ซึ่งอาจทำให้เกิดบาดแผล เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการหรือสูญเสียการรับความรู้สึก จึงไม่ทราบว่าปลายเท้าหรือข้อเท้ามีการบาดเจ็บ บางรายผู้ป่วยมีการเกร็งกรือสั่นกระตุกของเท้า จึงควรใช้สายคาดกันเท้าตกมาติดป้องกันเท้าตกจากที่วางเท้า

กายภาพบริหารข้อต่างๆ เพื่อป้องกันการข้อยืดติด สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย

ในกรณีที่ผู้ยังไม่สามารถเดินหรือยืนได้ ผู้ดูแลต้องให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดหรือออกกำลังกาย เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อติด โดยการยืดกล้ามเนื้อต่างๆ และขยับข้อต่างๆ เพื่อรองรับการฟื้นตัวที่ดีของผู้ป่วยในอนาคต

  1. บริหารข้อบริเวณหัวไหล่  ให้ผู้ป่วยใช้มือข้างที่ปกติจับมือข้างที่อ่อนแรงไว้ แล้วค่อยๆ ยกแขนขึ้นยืดจนสุด เท่าที่จะสุดได้ จากนั้นค้างไว้แล้วนับ 1-10 แล้วค่อยๆ เอาลงช้าๆ
  2. บริหารข้อศอก ใช้มือข้างที่ปกติของผู้ป่วยจับมือข้างที่อ่อนแรงไว้และงอขึ้นค้างไว้ นับ 1-10 จากนั้นเหยียดตรงไปข้างหน้าค้างไว้แล้วนับ 1-10 ทำสลับไปเรื่อยๆ จนครบ 10 ครั้ง
  3. บริหารข้อมือ ผู้ป่วยใช้มือประกบกันแล้วดันข้างที่อ่อนแรงออกไปให้ข้อมือหัก เหยียดข้อมือให้รู้สึกตึง แล้วจับให้นิ้วมากำไว้ให้แน่น จากนั้นตามด้วยการดัดนิ้วต่อ วิธีการบริหารกายภาพบำบัดเหล่านี้ ต้องทำในขณะที่ผู้ป่วยไม่รูสึกเจ็บบริหารเท่าที่ทำได้

ข้อควรปฏิบัติขณะทำกายภาพบำบัด

  1. การเคลื่อนไหวข้อให้ผู้ป่วยควรทำช้าๆ
  2. ในแต่ละท่าทำช้าๆ ท่าละ 10-20 ครั้ง วันละ 2 รอบ
  3. ไม่ควรทำ การเคลื่อนไหวหลังจากรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ หรือในขณะผู้ป่วยมีไข้
  4. ขณะทำ การเคลื่อนไหวข้อ ผู้ดูแลควรถามผู้ป่วยว่าเจ็บปวดหรือไม่ หากพบปัญหา ควรหยุดและปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด
  5. ไม่ให้ผู้ป่วยใช้ความพยายามในการเคลื่อนไหวเกินกำลังกล้ามเนื้อ ของผู้ป่วย เพราะจะทำให้เกิดอาการเกร็งกล้ามเนื้อมากขึ้น
  6. ระวังอย่าดึงกระชากข้อไหล่ผู้ป่วย เพราะจะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ ข้อไหล่ได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อสะบักและไหล่อ่อนแรง

แชร์

Loading...
Loading...
Loading...