โรคไทรอยด์ รู้ไว้ป้องกันได้

โรคไทรอยด์ รู้ไว้ป้องกันได้

โรคไทรอยด์ เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบบ่อย ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ แต่โอกาสกลับมาเป็นซ้ำก็สูงเช่นกัน ดังนั้น เราควรทำความรู้จักกับอาการที่แสดงว่าต่อมไทรอยด์มีความผิดปกติ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค เพราะการรู้เท่าทันจะช่วยให้เราสามารถหลีกเลี่ยงพฤติกรรมบางอย่างเพื่อลดโอกาสเป็นโรคไทรอยด์ได้

 

ไทรอยด์ คืออะไร ? … มาทำความเข้าใจกันก่อน

ไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อชนิดหนึ่งที่อยู่บริเวณลำคอใต้ลูกกระเดือก ด้านหน้าต่อกระดูกอ่อนของหลอดลม ไทรอยด์มีทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ทำหน้าที่ผลิตและหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อควบคุมขบวนการเผาพลาญ หรือกระบวนการสร้างและสลาย หรือเมแทบอลิซึม (Metabolism) ของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย อาทิ อัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย การควบคุมระดับพลังงานภายในร่างกาย การควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ภาวะการขับถ่าย เป็นต้น

 

รู้ไหม? ไทรอยด์เกิดความผิดปกติได้หลายรูปแบบ

  • ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูง (Hyperthyroidism) คือ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินจนผิดปกติ
    • อาการ คือ เหนื่อยง่าย มือสั่น ใจสั่น น้ำหนักลดลง รู้สึกหิวบ่อย รับประทานเก่ง ขับถ่ายบ่อยผิดปกติ ผมร่วง ประจำเดือนมาไม่ปกติ ร้อนง่าย เป็นต้น
    • วิธีการรักษา รับประทานยาเพื่อรักษาลดฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ การกลืนน้ำแร่ไอโอดีนที่เกาะกับสารรังสี เพื่อทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยลงและมีขนาดที่เล็กลง หากมีคอโตมากจนผิดปกติควรทำการผ่าตัด
      หากไม่ทำการรักษาจะทำให้เหนื่อยง่าย ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย  และภาวะน้ำท่วมปอด
  • ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (Hypothyroidism) เกิดจากต่อมไทรอยด์ที่ผลิตฮอร์โมนน้อยกว่าปกติ หรือมีการอักเสบของต่อมไทรอยด์ ทำให้มีการผลิตฮอร์โมนที่น้อยลง
    • อาการ จะตรงข้ามกับภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูง (Hyperthyroidism) คือ น้ำหนักขึ้น เบื่ออาหาร เพลียง่าย ง่วงนอนบ่อย ผิวแห้ง ท้องผูกบวม หนาวง่าย เป็นต้น
      วิธีการรักษา การให้ฮอร์โมนเสริมไทรอยด์ เพื่อให้ฮอร์โมนในร่างกายปรับเข้าสู่ภาวะปกติ
      หากไม่ทำการรักษาจะทำให้อ้วนขึ้น มีน้ำในช่องปอดและช่องหัวใจ เนื่องจากเกิดจากการบวมน้ำ
  • ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ หรือเนื้องอกต่อมไทรอยด์ คือ เนื้อเยื่อที่โตผิดปกติ โดยที่ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน
    • อาการ อาจทำให้เสียงแหบ กลืนอาหารหรือของเหลวลำบาก เนื่องจากไทรอยด์มีขนาดที่โตจนไปเบียดอวัยวะแถวลำคอ
    • วิธีการรักษา หากก้อนที่ต่อมไทรอยด์ใหญ่จนเกินไป หรือมีภาวะความเสี่ยงว่าเป็นเนื้อเยื่อไม่ดีควรทำการผ่าตัด หากไม่ทำการรักษาอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์
  • ต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis) เกิดจากเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย
    • อาการ เจ็บที่บริเวณต่อมไทรอยด์ อาจมีก้อนเนื้อหรือไม่มีก็ได้ มีไข้ขึ้น
    • การรักษา รับประทานยาเพื่อลดอาการอักเสบ

 

ป่วยเป็นโรคไทรอยด์ไหม? รู้ได้ด้วยวิธีการตรวจเหล่านี้

  • ตรวจคลำหาต่อมไทรอยด์ ว่าต่อมไทรอยด์มีความโตผิดปกติไหม
  • ตรวจว่าภาวะตาโปนหรือตาบวม
  • ตรวจอาการมือสั่น
  • ตรวจชีพจรว่ามีภาวะผิดปกติไหม
  • ตรวจผลเลือดเพื่อดูไทรอยด์ฮอร์โมนในร่างกาย

 

ปัจจัยใดบ้างที่เพิ่มความเสี่ยงโรคไทรอยด์

  • พันธุกรรรม
  • การสูบบุหรี่
  • การดื่มแอลกอฮอลล์
  • อดหลับ อดนอน หรือพักผ่อนไม่เพียงพอบ่อย ๆ
  • มีภาวะความเครียดสูง

นัดหมายแพทย์

แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ




Loading...