มะเร็งต่อมลูกหมาก กับอาการที่ไม่ชัดเจน

มะเร็งต่อมลูกหมาก กับอาการที่ไม่ชัดเจน

มะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากการเจริญเติบโตและแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ต่อมลูกหมากจนกลายเป็นก้อนมะเร็ง โดยเซลล์มะเร็งเหล่านั้นจะสามารถเดินทางผ่านกระแสเลือด หรือต่อมนํ้าเหลืองเพื่อไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย และสามารถเกาะติดกับอวัยวะอื่นๆ เช่น กระดูก ตับ ไต หรือปอด จนทําให้อวัยวะเหล่านี้เสียหายและถูกทําลายในที่สุด

มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่เติบโตอย่างช้าๆ และมักจะไม่มีอาการในระยะเริ่มแรก นอกจากนี้มะเร็งต่อมลูกหมากยังเป็นมะเร็งที่ไม่มีอาการบ่งชี้ที่ชัดเจน ส่วนใหญ่อาการที่เกิดขึ้นมักจะคล้ายคลึงหรือแทรกอยู่กับอาการของผู้ป่วยที่เป็นต่อมลูกหมากโตธรรมดา หรือต่อมลูกหมากอักเสบ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะละเลยอาการเหล่านี้ เนื่องจากคิดว่าเป็นโรคธรรมดาของคนสูงอายุ ดังนั้นมะเร็งชนิดนี้มักจะตรวจพบเมื่อเป็นมากหรือมีการลุกลามสู่อวัยวะอื่นที่สําคัญของร่างกาย

การวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

  • การตรวจอัลตราซาวด์ต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก (Trans-rectal Ultrasound of the Prostate: TRUS) เป็นการตรวจที่ใช้เครื่องมือสอดเข้าทางทวารหนักเพื่อตรวจลักษณะของต่อมลูกหมาก
  • การตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก (Biopsy) โดยแพทย์จะทําการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากไปตรวจ เพื่อยืนยันว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ โดยชิ้นเนื้อจะได้รับการวิเคราะห์จากนักพยาธิวิทยาเพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัยแยกโรค
  • การสแกนภาพทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ช่องท้องและอื่นๆ เพื่อดูลักษณะ ระยะและการแพร่กระจายของมะเร็งต่อมลูกหมาก เช่น ซีทีสแกน (CT Scan) เอ็มอาร์ไอ (MRI) หรือการสแกนกระดูก (Bone Scan)

ระยะต่างๆ ของมะเร็งต่อมลูกหมาก

  • ระยะที่ 1 หรือ 2 (ระยะเริ่มแรก) เซลล์มะเร็งของต่อมลูกหมากระยะนี้จะจํากัดอยู่เฉพาะที่ต่อมลูกหมากและไม่แพร่กระจายไปยังต่อมนํ้าเหลืองหรือส่วนอื่นใดของร่างกาย
  • ระยะที่ 3 (ระยะลุกลาม) ระยะนี้มะเร็งจะเติบโตออกไปนอกต่อมลูกหมากและไปยังเนื้อเยื่อรอบๆ เช่น ถุงพักอสุจิ คอกระเพาะปัสสาวะ หรือต่อมนํ้าเหลืองรอบๆต่อมลูกหมากโดยที่ยังไม่กระจายไปยังอวัยวะอื่นที่ห่างไกลออกไป
  • ระยะที่ 4 (ระยะกระจาย) เป็นระยะท้ายของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากโดยเซลล์มะเร็งจะมีการแพร่กระจายไป ยังต่อมนํ้าเหลือง กระดูก และอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย

การรักษา มะเร็งต่อมลูกหมาก
มีหลายวิธีขึ้นกับระยะของมะเร็ง ความรุนแรงในการเปลี่ยนแปลงของเซลล์มะเร็ง อายุ และความแข็งแรงของผู้ป่วย คุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งบางครั้งสามารถใช้การรักษาหลายวิธีร่วมกันได้ ขึ้นอยู่กับทีมผู้รักษาผู้ป่วยและครอบครัว ในการปรึกษาและวางแผนการรักษาร่วมกันเพื่อความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย

    1. การผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมด (radical prostatectomy) เป็นการผ่าตัดต่อมลูกหมากรวมถึงถุงเก็บอสุจิ (seminal vesicle) ออกทั้งหมด ซึ่งสามารถทําได้ทั้งวิธีผ่าตัดเปิด การผ่าตัดผ่านกล้อง หรือการใช้หุ่นยนต์เข้าช่วย การผ่าตัดต่อมลูกหมากนี้เป็นวิธีการรักษาที่นิยมใช้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก ระยะที่ 1 หรือ 2 (ระยะเริ่มแรก) ที่มีสุขภาพแข็งแรง
    2. การฉายรังสี (radiation therapy) เป็นการรักษามะเร็งเพื่อควบคุมและฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งสามารถทําได้ 2 วิธีคือ การฉายรังสีจากภายนอก (external beam radiation therapy) หรือการฝังแร่รังสีเข้าไปในเนื้อต่อมลูกหมาก (brachytherapy) การฉายรังสีเป็นวิธีการรักษาที่อาจใช้แทนการผ่าตัดต่อมลูกหมากในมะเร็งระยะแรกที่ผู้ป่วยไม่แข็งแรงพอสำหรับการผ่าตัดหรือไม่ต้องการผ่าตัด นอกจากนี้ยังใช้ในผู้ป่วยที่มีเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากหลงเหลือจากการผ่าตัด หรืออาจใช้ในการรักษามะเร็งระยะกระจายที่เซลล์มะเร็งแพร่ไปที่กระดูกเพื่อบรรเทาอาการปวดได้
    3. การรักษาด้วยการควบคุมฮอร์โมน (hormonal therapy) การรักษาวิธีนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะหยุดการผลิตหรือยับยั้งฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศชายซึ่งทําให้มะเร็งโตขึ้น การยับยั้งฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่า “แอนโดรเจน” สามารถทําได้ 2 วิธีคือการใช้ยาต้านฮอร์โมน หรือการผ่าตัดลูกอัณฑะทั้งสองออก(bilateral orchiectomy) ซึ่งจะหยุดการเติบโตของมะเร็งต่อมลูกหมากได้ การใช้ฮอร์โมนในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากมักใช้ในการรักษาเพิ่มเติมหลังการผ่าตัดหรือการฉายรังสี ในบางรายอาจใช้ในระยะลุกลามหรือระยะกระจาย
    4. การรักษาโดยยาเคมีบําบัด (chemotherapy) เป็นการใช้ยาต้านมะเร็งซึ่งสามารถผ่านไปทุกส่วนของร่างกาย เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งได้ มักใช้ในผู้ป่วยที่อยู่ในระยะกระจายที่ดื้อต่อการรักษาด้วยการควบคุมฮอร์โมน

การติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด

แบ่งการรักษาเป็น 2 วิธีคือ

  • การเฝ้าระวังเชิงรุก (active surveillance) เป็นวิธีที่แพทย์ใช้ติดตามมะเร็งและการเติบโตของมะเร็ง โดยผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัดจะมีการตรวจหลายชนิด รวมถึงการตรวจระดับ PSA ในเลือด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาหากมีสัญญาณการลุกลามของโรค การเฝ้าระวังเชิงรุกเป็นวิธีการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากที่อยู่เฉพาะที่ (ระยะ1) หากมะเร็งโตออกไปนอกต่อมลูกหมาก และรุกลํ้าเข้าไปในเนื้อเยื่ออื่นในท่อปัสสาวะส่วนล่าง จะแนะนําให้รักษาด้วยวิธีอื่น 
  • เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด (watchful waiting) เป็นการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากตามอาการ มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับเปลี่ยนเป็นวิธีการรักษาเฉพาะเมื่ออาการปรากฎ การเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาแบบประคับประคอง

โดยสรุปแล้ว มะเร็งต่อมลูกหมากในปัจจุบันพบมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีอาการเฉพาะเจาะจง การรอให้มีอาการอาจทำให้ตรวจพบเมื่อเป็นมากแล้ว การตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งระยะเริ่มต้นจึงเป็นสิ่งที่ควรทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ในการคัดกรอง และหากตรวจพบแล้วการรักษามีหลายวิธีขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างจึงต้องใช้ความร่วมมือระหว่างทีมผู้รักษา ผู้ป่วย และครอบครัว ในการเลือกวิธีที่เหมาะสมในแต่ละรายไป

 

[base64_img]
นพ.ธนัท  เธียรสุคนธ์
ศัลยแพทย์ด้านระบบทางเดินปัสสาวะ
ศูนย์ระบบทางเดินปัสสาวะ
รพ.พญาไท 3 ชั้น 19
โทร. 0-2467-1111 ต่อ 1960 – 1961

[base64_img] 

 


แชร์

Loading...
Loading...