ปัจจุบัน “โรคไข้เลือดออก” ถือเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศไทย เนื่องจากในแต่ละปีพบผู้ป่วยได้จากทุกภาคเป็นจำนวนมากในช่วง ฤดูฝนเพราะมียุงลายชุกชุม พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่พบในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี และสามารถเป็นซ้ำในครั้งที่สองได้ด้วย โดยเมื่อเป็นไข้เลือดออกรอบสอง หรือรอบต่อๆ มานั้น มักจะมีอาการหนักและรุนแรงกว่าครั้งก่อนหน้าเสมอ
ทำความรู้จัก “โรคไข้เลือดออก”
สาเหตุของการเกิดโรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี่ (Dengue) โรคไข้เลือดออก มักติดต่อโดยมียุงลายเป็นตัวพาหะที่สำคัญ โดยยุงลายตัวเมียจะกัดและดูดเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี จากนั้นเชื้อจะเข้าไปฟักตัวและเพิ่มจำนวนในตัวยุงลาย ทำให้มีเชื้อไวรัสอยู่ในตัวของยุงตลอดระยะเวลาของมันประมาณ 1 – 2 เดือน แล้วถ่ายทอดเชื้อไปสู่คนที่ถูกกัดได้
สถิติในประเทศไทยพบผู้ป่วยไข้เลือดออกเป็นอันดับที่ 2 รองจากประเทศฟิลิปปินส์ โดยกลุ่มอายุที่เป็นไข้เลือดออกมากที่สุด คืออายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี, 15-24 ปี และ 25-34 ปีตามลำดับ ความรุนแรงสูงสุดของโรคไข้เลือดออกคือ ทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉลี่ย ถ้าหากมีผู้ป่วย 1,000 ราย จะเสียชีวิต 1 ราย โดยสองสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก็คือภาวะเลือดออกมาก และสารน้ำรั่วจากเส้นเลือดจนเกิดภาวะช็อคและเสียชีวิต
ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้เลือดออกมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ซึ่งในประเทศไทยพบมีการะบาดของทั้งสี่สายพันธุ์ในแต่ละพื้นที่ และด้วยเชื้อไวรัสเด็งกี่มีถึง 4 สายพันธุ์จึงมีโอกาสที่จะเป็นโรคไข้เลือดออกซ้ำ จากเชื้อคนละตัวได้
“ไข้เลือดออก” เป็นแล้วเป็นซ้ำได้ อันตรายกว่าเดิม
คนหนึ่งคนสามารถเป็นไข้เลือดออกได้มากกว่าหนึ่งครั้งและในครั้งถัดมาของการติดเชื้อ อาการของโรคมักจะหนักมากกว่าครั้งก่อน มีความรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะในการได้รับเชื้อไข้เลือดออกในครั้งแรกร่างกายของเราจะมีระบบภูมิคุ้มกันโดยการสร้างภูมิต้านทานออกมาต่อสู้กับการเชื้อไวรัส แต่ภูมิต้านทานไม่ได้อยู่ถาวรหรือป้องกันชนิดอื่นๆ สามารถป้องกันได้เพียงสายพันธุ์ที่เคยติดมาแล้ว เมื่อได้รับเชื้อไข้เลือดออกซ้ำในครั้งที่สองแต่คนละสายพันธุ์ภูมิต้านของเราในร่างกายเราจึงเกิดอาการสับสน และทำงานได้ไม่ดีพอ ไม่สามารถสู้กับเชื้อไวรัสได้อย่างทันเวลา หรือบางรายภูมิต้านทานที่เคยเป็นเกราะป้องอาจกลับผันตัวเองไปเป็นตัวช่วยให้เชื้อไวรัสนั้นแข็งแรงขึ้น กระจายตัวได้มากขึ้น จึงเป็นสาเหตุทำให้การติดเชื้อครั้งที่สองหรือครั้งต่อมายิ่งรุนแรงขึ้นนั้นเอง
ปัจจุบันยังไม่มียาที่จะนำมารักษาโรคไข้เลือดออกโดยตรง วิธีการรักษาที่ดีที่สุดคือการประคับประคองอาการไปตามโรค ในกรณีที่อาการยังไม่รุนแรงก็สามารถพักฟื้นที่บ้าน สามารถรับประทานน้ำ น้ำเกลือแร่ และอาหารอ่อนย่อยง่าย ส่วนผู้ที่เริ่มมีอาการรุนแรง คือ ขาดน้ำหรือเข้าสู่ภาวะช็อค จำเป็นต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล ด้วยการให้สารน้ำ หรือน้ำเกลือ ปรับความเข็มข้นตามความเหมาะสมกับผู้ป่วย รวมไปถึงการให้เลือดหรือส่วนประกอบของเลือด โดยแพทย์จะให้ก็ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น
เคยเป็นไข้เลือดออกแล้ว ไม่อยากเป็นซ้ำต้องทำอย่างไร
วิธีป้องกันที่ดีที่สุด ลำดับแรก คือ ป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงลายกัด หมั่นอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดเพราะเหงื่อจะดึงดูดให้ยุงกัดมากขึ้น ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พ่นยากันยุง ก็สามารถช่วยระงับการแพร่กระจายของเชื้อไข้เลือดออกได้ และวิธีกป้องกันอีกวิธีการหนึ่งคือการ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้นำวัคซีนที่สามารถช่วยป้องกันไข้เลือดออกจากเชื้อไวรัสเดงกี่ทั้ง 4 สายพันธุ์ มาใช้ โดยสามารถป้องกัน65.6% และป้องกันความรุนแรงของโรคได้ถึง 93.2% โดยแนะนำให้ฉีดผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้ว ในอายุ 9 – 45 ปี
หากสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกโดยมีอาการไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเลือด เบื่ออาหาร หน้าแดง มีจุดเลือดที่ผิวหนัง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคและรักษา หากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ช่วงระยะไข้ลดลง หากผู้ป่วยมีอาการซึมลง รับประทานอาหารดื่มน้ำไม่ได้ อาจเข้าสู่ภาวะช็อ ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิต
แพทย์อายุรศาสตร์, อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
ศูนย์อายุรกรรมโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลพญาไท 3