คนไข้โรคมะเร็งหลังจากได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแล้ว ร่างกายจะอยู่ในสภาวะอ่อนแอและเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การดูแลตัวเองหลังได้รับยาเคมีบำบัดจึงมีความสำคัญต่อสุขภาพของคนไข้ ทั้งยังช่วยให้การรักษาโรคมะเร็งมีประสิทธิภาพมากขึ้น โอกาสหายขาดจากโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น หรืออาจจะเรียกว่า…เป็นหนึ่งในขั้นตอนการรักษาที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการให้ยาก็ว่าได้
3 ปัจจัยสำคัญในการดูแลตัวเองหลังรับยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง
- ดูแลเรื่องอาหาร อาหารคือสิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลตัวเองหลังการรับเคมีบำบัด เนื่องจากการได้รับสารเคมีจะเกิดการทำลายหรือยับยั้งเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตเร็วในร่างกาย ซึ่งรวมถึงจำนวนเม็ดเลือดขาวที่ช่วยในการกำจัดเชื้อโรค ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง อาหารที่ควรรับประทานและควรเลี่ยงจึงมีดังต่อไปนี้
อาหารที่ควรรับประทานหลังได้รับเคมีบำบัด
- อาหารปรุงสุกใหม่ อาหารที่สุกและสะอาดช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคในระบบทางเดินอาหาร
- อาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อปลา นม และไข่ไก่ต้มสุก เป็นแหล่งโปรตีนที่ย่อยง่ายและราคาถูก โปรตีนมีความสำคัญในการเสริมสร้างเซลล์ในร่างกายที่ถูกทำลายไป ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แนะนำปริมาณการรับประทานที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละราย
- รับประทานอาหารจากร้านที่เชื่อได้ว่าปรุงสุกสะอาด ถูกสุขอนามัยเท่านั้น
- ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยให้ไตขับยาเคมีบำบัดออกจากร่างกายให้มากที่สุด
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงหลังได้รับเคมีบำบัด
- เลี่ยงรับประทานอาหารค้างคืน เพราะมีความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับเชื้อโรคที่กำลังเพาะตัวในอาหารจานนั้น
- เลี่ยงรับประทานอาหารหมัก ดอง ดิบ กึ่งสุก กึ่งดิบ เพราะมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง
- เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอลล์ หรือเสพสิ่งมึนเมาอื่นๆ ในระหว่างการรักษา ที่อาจกระตุ้นการทำงานของเซลล์มะเร็ง
คำแนะนำเพิ่มเติมในการกินอาหารหลังได้รับเคมีบำบัด
พยายามรับประทานอาหารให้เพียงพอ คนไข้ส่วนใหญ่หลังได้รับยาเคมีบำบัด มักจะมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน แต่อย่างไรก็ตาม ร่างกายจำเป็นต้องได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ คนไข้อาจจะรับประทานอาหารทีละน้อยโดยแบ่งเป็นมื้อย่อย 5-6 มื้อ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารเพื่อการฟื้นฟูร่างกายอย่างเพียงพอ และเตรียมร่างกายให้พร้อมกับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดในครั้งต่อไป จนกว่าจะเสร็จสิ้นโปรแกรมการรักษา
การระมัดระวังอาการข้างเคียงหลังได้รับเคมีบำบัด
อาการข้างเคียงจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและลักษณะของการเกิดโรคมะเร็ง เช่น เกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ก็อาจทำให้เกิดอาการท้องร่วง ท้องเสียได้ง่าย หรือโรคมะเร็งในปอด จะมีอาการข้างเคียงคือหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการที่เกิดจากตำแหน่งของโรคมะเร็ง
ส่วนผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อีกทั้งการที่เม็ดเลือดขาวมีปริมาณต่ำจากการให้ยาเคมีบำบัด ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง คนไข้ป่วยง่าย
โดยแพทย์จะทำการจ่ายยาป้องกันอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น แม้จะช่วยป้องกันไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ช่วยให้คนไข้บรรเทาอาการลงได้ หากรับประทานยาแล้วอาการข้างเคียงไม่ดีขึ้นหรือมีอาการหนักขึ้น ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยต่อไป
หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษ
หลังการให้ยาเคมีบำบัดควรพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลพิษต่างๆ หรือรับสารพิษที่อาจไปกระตุ้นการทำงานของมะเร็ง เช่น อยู่ในมลภาวะไอเสียรถยนต์ สัมผัสกับสิ่งสกปรก สูบบุหรี่หรือรับควันบุหรี่ ซึ่งมีสารกระตุ้นเซลล์มะเร็ง ส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนไข้ที่อยู่ในสภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งอาจทำให้ผลการรักษาไม่เป็นไปตามแผนการรักษาของแพทย์ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนไข้เอง