“สูญเสียความทรงจำ” โรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน

พญาไท 3

1 นาที

จ. 30/03/2020

แชร์


Loading...
“สูญเสียความทรงจำ” โรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน

การสูญเสียความทรงจำจากการได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจมีจริงหรือไม่ และการสูญเสียความทรงจำชั่วคราวต่างจาก อัลไซเมอร์ อย่างไร?

“โรคสมองเสื่อมมักจะมีสองส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และส่วนที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด เคสที่สามารถรักษาให้หายขาดได้มักจะเป็น ภาวะของการติดเชื้อ ทำให้สมองอักเสบ การพบ เนื้องอก ในสมอง โรคหลอดเลือดในสมอง เบาหวาน ความดัน ซึ่งจะมีแนวโน้มในการรักษาเพื่อให้สมองสามารถฟื้นฟูได้ ส่วนเคสที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด มักเกิดจากเซลล์สมองเสื่อมจากอายุที่มากขึ้น หรือรอยโรคในเนื้อสมองที่เพิ่มขึ้น เช่น โรคอัลไซเมอร์ ที่มักพบในคนสูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป”

 

การกระทบกระเทือนทางจิตใจทำให้สูญเสียความทรงจำ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ?

“สำหรับภาวะการสูญเสียความทรงจำชั่วคราว อาจเกิดจากการสูญเสียระดับความสมดุลในร่างกาย ถ้าในทางจิตวิทยานั้น มนุษย์เราจะมีระดับการรับรู้อยู่สองส่วนใหญ่ๆ คือ ระดับจิตสำนึก และระดับจิตใต้สำนึก จิตสำนึกเป็นระดับการรับรู้ปกติ ส่วนจิตใต้สำนึกเป็นส่วนที่มันเกิดขึ้นไปแล้วแต่ว่าเราจำไม่ได้ ตั้งแต่เราอยู่ในครรภ์จนถึงอายุ 1-2 ขวบ สมองก็รับรู้ข้อมูลมาตลอดแต่เราจำอะไรไม่ได้ ซึ่งเราจะเริ่มจำความได้ช่วงที่เรียนอนุบาล เพราะข้อมูลในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นจะถูกเก็บอยู่ที่จิตใต้สำนึก

 

“ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดได้รับเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจมากๆ ด้วยกลไกป้องกันทางจิตมันจะผลักให้ข้อมูลส่วนนี้ลงไปในจิตใต้สำนึก ในวันที่เขาเติบโตแล้วก็สามารถรับรู้เรื่องราวอื่นๆ ได้ แต่เหตุการณ์นั้นมันจะหายไป ส่วนบางเรื่องที่อาจจะสร้างบาดแผลจนระดับจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกไม่สามารถรับได้ เรื่องราวนั้นก็จะหายไปจากความทรงจำเช่นกันค่ะ”

 

ผู้ป่วยที่มีภาวะสูญเสียความทรงจำจะใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูตนเองนานแค่ไหน ?

“ในเคสที่ไม่สามารถรักษาให้ขาดหาย จะเป็นการประคับประคองอาการไม่ให้แย่ลง อย่างผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ก็ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง พยายามลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้โรคแย่ลง เช่น โรคระบบไหลเวียนโลหิต เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ หรือการนอนกรนที่ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้น้อยลงจนเกิดผลกระทบต่อเซลล์สมอง แต่ถ้าเป็นภาวะที่แก้ไขได้ เช่น การติดเชื้อ ระยะเวลาจะไม่ได้เรื้อรังมาก ความยากง่ายจะขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เกิดค่ะ”

 

สัญญาณเตือนอะไร ? ที่ทำให้เรารู้ว่า “อัลไซเมอร์” กำลังจะมาเยือน

“ความจำจะแย่ลง เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นวางของแล้วลืม จะเดินไปหยิบอะไรก็จำไม่ได้ ถ้าเป็นบ่อยๆ ก็ควรจะมารับการตรวจ เพราะส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวันแล้วค่ะ”

 

ข้อแนะนำสำหรับคนใกล้ชิดของผู้สูญเสียความทรงจำ พวกเขาจะต้องรับมืออย่างไร ?

“เรื่องสำคัญมากๆ ต้องหาสาเหตุให้ได้ก่อนว่าเกิดจากอะไร พบแพทย์คือทางออกที่ดีที่สุด นอกจากนั้น ความรักและความเข้าใจในครอบครัวก็สำคัญ เพราะผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม ความสามารถในการสื่อสาร พฤติกรรม อารมณ์เขาจะไม่เหมือนเดิม เขาจะรู้สึกขัดใจ หงุดหงิดความหลงลืมของเขา คนรอบข้างจึงต้องใจเย็น พยายามเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นค่ะ”

 

ภาวะการสูญเสียความทรงจำชั่วคราวอย่างในละครเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้จริงจากกลไกการปกป้องทางจิตของตนเอง แต่ในทางร่างกายก็มีหลายปัจจัยที่อาจทำให้เรากลายเป็นคนสมองเสื่อม หากพบความผิดปกติควรบอกคนใกล้ชิดและรีบไปพบแพทย์โดยด่วน ก่อนที่เรื่องราวแสนมีค่าจะจางหายไป


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...