หัวใจเต้นผิดจังหวะ หนึ่งในความผิดปกติของการทำงานของหัวใจที่พบได้บ่อยๆ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ หลายคนยังเข้าใจว่าโรคนี้ไม่อันตราย เพราะผู้ป่วยบางรายยังคงใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิมโดยไม่รู้ตัวว่าอาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และจริงๆ แล้ว “ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” นั้นมีระดับความรุนแรงของโรคที่ต้องคอยเฝ้าระวัง เพราะระดับที่ร้ายแรงที่สุดนั้น…นำไปสู่การเสียชีวิตได้!!
แบบไหนถึงเรียกว่า “หัวใจเต้นผิดจังหวะ” ?
สำหรับอัตราการเต้นของหัวใจที่เรียกว่า “ปกติ” นั้น คืออยู่ที่ 60-100 ครั้ง/นาที ซึ่งเท่ากับว่า…หากอัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาที อัตราการเต้นที่ช้ากว่าปกตินี้ก็จะเข้าข่ายภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และในขณะเดียวกัน หากอัตราการเต้นของหัวใจสูงกว่า 100 ครั้ง/นาที อัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วกว่าปกตินี้… ก็ถูกนับว่าเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยเหมือนกัน
หัวใจเต้นผิดจังหวะ…รู้ได้จากอาการเตือนเหล่านี้
- กรณีอัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ จะส่งผลให้มีอาการมึนงง ใจหวิว ระดับความดันโลหิตต่ำลง และอาจทำให้เป็นลมหมดสติได้
- กรณีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่าปกติ จะส่งผลให้มีอาการเหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว และอาจทำให้มีอาการเจ็บหน้าอก หน้ามืด เสี่ยงภาวะหัวใจวายและเสียซีวิตเฉียบพลัน
วัดอัตราการเต้นของหัวใจในเบื้องต้น…ด้วยการฝึกจับชีพจร
เพราะเราไม่ได้อยู่ใกล้คุณหมอตลอด 24 ชั่วโมง การเช็กอัตราการเต้นของหัวใจที่ง่ายที่สุด ก็คือการฝึกจับชีพจรด้วยตัวเอง โดยการใช้นิ้วชี้และนิ้วกลาง (หรือนิ้วนางร่วมด้วย) แตะไปที่ข้อมือตรงใกล้ๆ นิ้วโป้ง แล้วนับจำนวนการเต้นว่าได้กี่ครั้งใน 15 วินาที แล้วคูณ 4 ก็จะได้อัตราการเต้นของชีพจรของเราเอง
ตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เรียกว่า ECG หรือ Electrocardiogram ในขณะที่มีอาการ
- การตรวจคลื่นหัวใจแบบพกติดตัวตลอด 24 ชั่วโมง ที่เรียกว่า Holter Monitoring เป็นการตรวจและวัดอัตราการเต้นของหัวใจตลอดเวลา หากมีอาการผิดปกติจะได้รีบเข้ารักษาได้ทันที
- การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะที่ผู้ป่วยออกกำลังกาย (exercise stress test; EST)
- การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiogram)
- การตรวจระบบการนำไฟฟ้าภายในหัวใจ (cardiac electrophysiology study)
หัวใจเต้นผิดจังหวะ…ภัยเงียบนี้น่ากลัวอย่างไร ?
สำหรับความน่ากลัวของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เราพบบ่อยๆ คือ ภาวะหัวใจห้องบนเต้นผิดปกติ (Atrial fibrillation) หรือที่เรียกว่า ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว เป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการบีบตัวของหัวใจห้องบนทำงานไม่เป็นปกติ ทำให้หัวใจเต้นเร็วและไม่สม่ำเสมอ หัวใจจึงสูบฉีดเลือดได้น้อยลง… นำไปสู่ “ภาวะหัวใจวาย” และการกระตุ้นของหัวใจห้องบนที่กระจัดกระจาย ทำให้เลือดหมุนวนตกค้างในหัวใจห้องบนจนก่อให้เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้!!
ป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ…เริ่มต้นจากการดูแลสุขภาพตัวเอง
- หลีกเลี่ยง “ความเครียด” เพราะเมื่อมีความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนและสารสื่อประสาทประเภทต่างๆ ไปกระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วและเต้นผิดจังหวะได้
- หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น อย่าง ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง และการสูบบุหรี่
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรหักโหมเกินไป
- ให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพ และรีบพบแพทย์เมื่อสังเกตพบความผิดปกติ