'งูสวัด' ลดความรุนแรงและโอกาสเกิดซ้ำ ด้วยการฉีดวัคซีน

พญาไท นวมินทร์

1 นาที

อ. 14/04/2020

แชร์


'งูสวัด' ลดความรุนแรงและโอกาสเกิดซ้ำ ด้วยการฉีดวัคซีน

ในสมัยก่อน เมื่อพูดถึงโรคงูสวัด เรามักจะคิดว่าเกิดแต่ในกลุ่มของคนสูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบันนี้เราสามารถพบโรค ‘งูสวัด’ นี้ได้ในกลุ่มคนวัยทำงานมากขึ้น เนื่องมาจากไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิต ที่พักผ่อนน้อย ทำให้ร่างกายอ่อนแอ จึงเปิดโอกาสให้เชื้อไวรัสตัวร้ายที่แฝงตัวอยู่ในร่างกายโผล่มาทำร้ายในรูปแบบของ ‘งูสวัด’

 

เมื่อ “งูสวัด” เกิดจากการติดเชื้อซ้ำ

โรคงูสวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือวีแซดวี (Varicella-Zoster virus) เป็นการติดเชื้อ “ซ้ำ” ในผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ซึ่งหลังจากหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อจะหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกาย และแฝงตัวอย่างสงบโดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอลง เชื้อไวรัสที่หลบซ่อนนี้จะทำให้เกิดโรคงูสวัด

 

“ปวดแสบร้อนตามผิวหนัง” สัญญาณเตือนโรคงูสวัด

 

อาการของโรคงูสวัดนั้นจะค่อนข้างชัดเจน โดยผู้ที่เป็นโรคงูสวัดจะมีอาการปวดแสบร้อนตามผิวหนัง ต่อมาเกิดผื่นแดง ตุ่มน้ำใส เป็นกลุ่มบริเวณผิวหนังตามแนวของเส้นประสาทด้านเดียว โดยหลังจากตุ่มน้ำแตกออกจะกลายเป็นแผล ซึ่งโดยทั่วไปอาการปวดและแผลจะหายได้ใน 2-4 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจจะมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทเป็นระยะเวลานานหลายเดือนได้เช่นกัน

 

อุบัติการณ์ของโรคงูสวัด

 

จำนวนผู้ป่วยโรคงูสวัดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี โดยพบว่าหนึ่งในสามของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีจะเป็นโรคงูสวัด และหนึ่งในหกของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีที่เป็นงูสวัดจะมีอาการปวดรุนแรง เนื่องจากเป็นวัยที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายเริ่มเสื่อมถอยลง ภูมิต้านทานลดลง มีโรคเรื้อรัง หรือโรคประจำตัวที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ

 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการเป็นโรคงูสวัด

 

อาการปวดแสบร้อนตามผิวหนังนานหลายเดือน แม้ผื่นจะหายสนิท ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 10-30 โดยพบบ่อยขึ้นและปวดรุนแรงขึ้นในผู้สูงอายุ การเป็นงูสวัดบริเวณใบหน้า อาจเกิดบาดแผลที่กระจกตา ตาอักเสบ ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรงจากการติดเชื้อ เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบได้ และผู้ที่เคยเป็นงูสวัดจะมีโอกาสเป็นงูสวัดซ้ำประมาณร้อยละ 6.2

 

รู้ไหม? โรคงูสวัดป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

 

วัคซีนงูสวัดเป็นวัคซีนเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง แนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ครั้ง ปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นในการฉีดเข็มกระตุ้น สามารถให้ร่วมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ได้ในเวลาเดียวกัน วัคซีนสามารถป้องกันการเกิดโรคงูสวัดได้ เฉลี่ยร้อยละ 51 ในผู้สูงอายุ และสามารถลดการเกิดอาการปวดตามแนวเส้นประสาท

 

ผู้ที่ “ควร” ได้รับวัคซีนป้องกันงูสวัด

 

    • ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ทั้งที่เคยเป็นและไม่เคยเป็นโรคงูสวัด หรือโรคอีสุกอีใสมาก่อน
    • ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 50-59 ปีที่เคยมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใส หรือโรคงูสวัดมาก่อน

 

ผู้ที่ “ควรงด” รับวัคซีนป้องกันงูสวัด

 

    • เคยมีประวัติแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนอย่างรุนแรง ได้แก่ สารเจลาติน หรือยา Neomycin
    • เนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ จึงห้ามฉีดในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง เช่น กำลังได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือยาสเตียรอยด์ขนาดสูง ติดเชื้อเอชไอวี ที่มีค่า CD4 ต่ำมาก
    • หญิงตั้งครรภ์ หรืออาจจะตั้งครรภ์
    • หากมีไข้สูง หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน ควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน รอให้หายป่วยก่อนจึงค่อยมารับวัคซีน
    • กรณีเป็นหวัดเล็กน้อย ไม่มีไข้ สามารถรับวัคซีนได้

 

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังรับวัคซีนป้องกันงูสวัด

 

    • อาจทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงได้ แต่พบได้น้อยมาก
    • ปฏิกิริยาที่อาจพบได้หลังฉีดวัคซีน ได้แก่ ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด ซึ่งมักจะหายเองได้ใน 1-2 วัน
    • อาการข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจพบได้ ได้แก่ มีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ซึ่งมักจะหายเองได้ใน 1-2 วัน

หมายเหตุ :

 

    • ผู้หญิงที่รับวัคซีนต้องคุมกำเนิดอย่างน้อย 1 เดือนหลังฉีดวัคซีน
    • ไม่ใช้วัคซีนป้องกันงูสวัด เพื่อป้องกันโรคอีสุกอีใส
    • วัคซีนป้องกันงูสวัด เป็นวัคซีนเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง ผู้รับวัคซีนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
    • หากมีข้อสงสัย ควรปรึกษาแพทย์


แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ



Loading...
Loading...