โรคโปลิโอ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอ (Poliovirus) ซึ่งเป็นเชื้อที่อาศัยอยู่ในลำไส้และถูกขับถ่ายออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย การติดเชื้อเกิดในมนุษย์เท่านั้น โดยจะติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสโปลิโอ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 95 จะไม่แสดงอาการ หรืออาจมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย หรือรุนแรงถึงขั้นระบบทางเดินหายใจเป็นอัมพาต…และทำให้เสียชีวิตได้
อาการแสดงเมื่อมีการติดเชื้อไวรัสโปลิโอ
ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 95 จะไม่แสดงอาการ หรืออาจมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยที่ไม่จำเพาะเจาะจง เช่น ไข้ต่ำๆ เจ็บคอ และอาการดีขึ้นใน 2-3 วัน แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดต้นคอตามมาในภายหลัง และหายเป็นปกติ แต่ส่วนน้อยของผู้ติดเชื้อ คือประมาณร้อยละ 0.1-2 อาจมีอาการรุนแรง เช่น สมองอักเสบ อาการอัมพาตของแขนขาแบบเฉียบพลัน (Acute Flaccid Paralysis, AFP) และอาจเกิดอัมพาตของระบบทางเดินหายใจจนทำให้เสียชีวิตได้
วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอในปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ
- วัคซีนชนิดรับประทาน เป็นวัคซีนที่เตรียมขึ้นจากเชื้อไวรัสโปลิโอที่มีชีวิตที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง และไม่สามารถก่อโรคในผู้รับวัคซีนที่มีภูมิคุ้มกันปกติ และเนื่องจากเป็นวัคซีนที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยการเลียนแบบการติดเชื้อโปลิโอทางธรรมชาติ ทำให้ผู้ได้รับวัคซีนมีภูมิคุ้มกันทั้งในลำไส้และในเลือด
- วัคซีนชนิดฉีด เป็นวัคซีนที่เตรียมขึ้นจากเชื้อไวรัสโปลิโอที่ตายแล้ว ทำให้มีภูมิคุ้มกันเฉพาะในกระแสเลือด ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโปลิโอชนิดฉีด มีทั้งในรูปแบบวัคซีนชนิดเดี่ยว และวัคซีนชนิดรวมกับวัคซีนอื่นๆ เช่น วัคซีนรวมคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก-โปลิโอ, วัคซีนรวมคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก-โปลิโอ-ฮิบ เป็นต้น
ผู้ที่ “ควร” รับวัคซีนป้องกันโปลิโอ
- เด็กไทยทุกคน วัคซีนโปลิโอเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยทุกคนต้องได้รับ ทั้งหมด 5 ครั้ง ที่อายุ2, 4, 6, 18 เดือน และ 6 ปี
- ผู้ใหญ่ที่อยู่ในถิ่นที่ไม่มีการระบาดของโรคโปลิโอ และจะเดินทางไปถิ่นที่มีการระบาดของโรคโปลิโอ
- ผู้ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการที่มีโอกาสรับเชื้อโปลิโอโดยตรง
ผู้ที่ “ควรงด” รับวัคซีนป้องกันโปลิโอ
- วัคซีนชนิดรับประทานไม่ควรให้ในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเหล่านี้
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งกรณีนี้แนะนำให้ใช้วัคซีนชนิดฉีดแทน
- ผู้ที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- หญิงตั้งครรภ์
- วัคซีนชนิดฉีดไม่ควรให้ในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเหล่านี้
- ผู้ที่เคยมีประวัติแพ้แบบรุนแรงในการฉีดวัคซีนโปลิโอครั้งก่อน
- มีประวัติแพ้ Streptomycin,neomycin หรือ Polymyxin B ซึ่งเป็นส่วนผสมของวัคซีน
- หากมีไข้ เจ็บป่วยเฉียบพลัน ควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน รอให้หายป่วยก่อนจึงค่อยมารับวัคซีน กรณีเป็นหวัดเล็กน้อย ไม่มีไข้ สามารถรับวัคซีนได้
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังรับวัคซีนโปลิโอ
- วัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน อาจทำให้มีอาการคล้ายกับการติดเชื้อตามธรรมชาติ ได้ประมาณ 1 ใน 1.5-2.2ล้านครั้งที่ให้วัคซีน และโอกาสเพิ่มขึ้น 3,200-6,800เท่าในรายที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด เป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย อาจมีอาการเจ็บปวดเฉพาะบริเวณที่ฉีดเล็กน้อย ไม่มีปฏิกิริยารุนแรง
หมายเหตุ :
- ไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของวัคซีนในสตรีมีครรภ์และสตรีระยะให้นมบุตร