15 ความเชื่อผิดๆ ที่ทำให้ชีวิตเสี่ยง!...มะเร็งเต้านม

พญาไท 3

2 นาที

พฤ. 24/09/2020

แชร์


Loading...
15 ความเชื่อผิดๆ ที่ทำให้ชีวิตเสี่ยง!...มะเร็งเต้านม

ปัจจุบัน “มะเร็งเต้านม” ถือเป็นมะเร็งร้ายที่ผู้หญิงไทยเป็นกันมากที่สุด โดยสถิติคร่าวๆ จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า ในแต่ละปีนั้นจะมีผู้ป่วยรายใหม่กว่า 14,000 ราย หรือเฉลี่ยพบวันละไม่ต่ำกว่า 40 คน และมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงวันละไม่น้อยกว่า 10 คน ด้วยความน่ากลัวของมะเร็งเต้านมนี้เอง จึงทำให้เกิดการแชร์ข้อมูลข่าวสารผิดๆ เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมออกไปเป็นวงกว้าง ซึ่งความเชื่อผิดๆ ดังกล่าว ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความแตกตื่น แต่ยังส่งผลให้ผู้คน “มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นด้วย” ถ้าหากดูแลตัวเองอย่างไม่ถูกต้อง ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันให้ผู้หญิงทุกคนดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากมะเร็งเต้านมได้อย่างเหมาะสม วันนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจข้อเท็จจริงที่ถูกต้องกับ 15 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม

  • ยิ่งหน้าอกใหญ่ ยิ่งเสี่ยงภัยมะเร็งเต้านมมากขึ้น
    ถือเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะในความเป็นจริงนั้น “ขนาดของหน้าอก” ไม่เกี่ยวกับโอกาสในการเกิดมะเร็งเต้านมโดยตรง ส่วนเหตุผลที่ทำให้เชื่อกันว่า “หน้าอกเล็กเสี่ยงน้อย หน้าอกใหญ่เสี่ยงมาก” นั้น อาจเนื่องมาจากเวลาตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีแมมโมแกรมอัลตราซาวด์นั้น การมีเต้านมที่ใหญ่กว่าจะตรวจเจอความผิดปกติได้ง่ายกว่าเต้านมที่เล็ก จึงทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนผิดไป
  • ลูกกลิ้งดับกลิ่นกาย เป็นอันตรายทำให้เสี่ยงมะเร็งเต้านม
    จากการศึกษาวิจัยในปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลใดเลยที่บ่งบอกได้ว่า “สาร” ที่อยู่ในโรลออนหรือผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นกายทั้งหลาย มีส่วนกระตุ้นหรือทำให้เซลล์ในเต้านมกลายเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งได้ ดังนั้นจึงสบายใจได้เลยว่า การใช้ลูกกลิ้งดับกลิ่นกาย จะไม่เป็นอันตรายที่ทำให้เราเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมอย่างแน่นอน
  • ชุดชั้นใน…มีผล ทำให้โอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูงขึ้น
    จริงๆ แล้วมีความเชื่ออยู่หลากหลายเลยเกี่ยวกับชุดชั้นใน ว่ามีผลทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ ไม่ว่าจะเป็นใส่ชุดชั้นในแบบมีโครงขดลวดแล้วจะทำให้เป็นมะเร็งเต้านม หรือ ใส่ชุดชั้นในนอนทุกคืนจะเพิ่มโอกาสทำให้เป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น ฯลฯ พอกันที ทุกความเชื่อดังกล่าวถือเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะชุดชั้นในไม่มีผลใดๆ ต่อโอกาสเกิดมะเร็งเต้านม ที่หลายคนกังวลว่าใส่ชุดชั้นในแล้วจะไปกดรัดเนื้อเต้านม จะทำให้เป็นมะเร็งได้นั้น ไม่เป็นความจริง แต่สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่พอเจ็บแล้วก็จะรู้สึกกังวล แต่ในข้อเท็จจริงคือ “มะเร็งจะไม่เจ็บ” แต่จะคลำพบได้ว่าเป็นก้อนมากกว่า ดังนั้น ถ้าใส่ชุดชั้นในแล้วรู้สึกเจ็บไม่ได้หมายความว่าจะเป็นมะเร็งเต้านมเสมอไป
  • วิตามินเสริมผิวขาว หน้าใส ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น
    ในส่วนของวิตามินและคอลลาเจนนั้น ไม่มีผลทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม แต่สารใดก็ตามที่มีความเกี่ยวข้องกับ “ฮอร์โมน” โดยเฉพาะ “ฮอร์โมนเอสโตรเจน” จะถือว่ามีผลเกี่ยวข้องที่มีโอกาสทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น เพราะมะเร็งเต้านมจะสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งก็คือเอสโตรเจน หากร่างกายได้รับฮอร์โมนเข้าไปมากๆ ก็จะทำให้เซลล์เต้านมถูกกระตุ้นจนทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งได้มากขึ้น ดังนั้นการใช้ยาดูแลเรื่องผิวพรรณซึ่งมีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ช่วยในเรื่องหน้าใส จึงมีโอกาสทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นได้นั่นเอง ทั้งนี้ ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ก็มีผลโดยตรงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้ด้วย ถ้าใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ เพราะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบ
  • ซิลิโคนทำหน้าอกใหญ่ ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมได้
    ในความเป็นจริงแล้วตัวซิลิโคนไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมโดยตรง แต่เนื่องจากในคนไข้บางรายมีการศัลยกรรมเสริมหน้าอก โดยไม่ได้มีการตรวจคัดกรองเต้านมก่อน จึงทำให้ไม่ทราบว่าตัวเองมีก้อนมะเร็งเต้านมอยู่แล้ว ซึ่งภายหลังจากการเสริมหน้าอกเรียบร้อย ตัวซิลิโคนจะเข้าไปดันก้อนมะเร็งทำให้คลำเจอได้ง่ายมากขึ้น จึงเข้าใจผิดไปเองว่า การเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคน มีผลทำให้เป็นมะเร็งเต้านม
  • การฉายรังสีเอ็กซเรย์เต้านม ทำให้เสี่ยงมะเร็งเต้านมมากขึ้น
    การฉายรังสีเอ็กซเรย์แมมโมแกรมเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมนั้น ปริมาณของรังสีที่ใช้ถือว่าไม่มากพอที่จะทำให้เกิดมะเร็งได้ แต่ถ้าหากเทียบกันระหว่างคนที่ฉายรังสีกับไม่ฉายรังสีแล้วนั้น คนที่ฉายรังสีก็จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้มากกว่า แต่เมื่อพิจารณาถึงผลดีที่ทำให้เราทราบว่า “ตัวเองเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่นั้น” ก็ถือว่าเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะทำให้เราป้องกันรักษาได้อย่างทันท่วงทีและมีชีวิตรอดจากภัยของมะเร็งได้ ดังนั้น หากจะถามหาข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับการฉายรังสีเอ็กซเรย์แมมโมแกรม ก็คือ รังสีที่ฉายจากการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมมีโอกาสทำให้เป็นมะเร็งเต้านมได้ แต่มีผลน้อยมาก เทียบกับประโยชน์ที่ช่วยในการคัดกรองรักษาแล้วก็คุ้มค่า และควรทำดีกว่าไม่ทำ
  • การกดทับจากเครื่องเอ็กซเรย์แมมโมแกรม ทำให้เต้านมอักเสบ
    ในการทำแมมโมแกรมเพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านมนั้น จะมีการใช้เครื่องมือในการ “หนีบเต้านม” เพื่อจัดตำแหน่งก่อนจะฉายรังสีเอ็กซเรย์ ทำให้คนไข้บางรายที่มีเนื้อเต้านมน้อยรู้สึกเจ็บได้ เหมือนกับการ “โดนหยิก” แต่จะไม่รุนแรงถึงขั้นทำให้เกิดอาการเต้านมอักเสบ จนต้องทานยารักษา ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องกังวลหรือกลัวการทำแมมโมแกรมอัลตราซาวด์ เพราะมีประโยชน์มากกว่ามีโทษ
  • ตรวจแมมโมแกรมอย่างเดียวก็พอ ไม่จำเป็นต้องอัลตราซาวด์เพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม
    อาจเพียงพอสำหรับคนไข้ในต่างประเทศ เนื่องจากด้วยสรีระแล้ว เนื้อเต้านมของชาวต่างชาติจะเป็นไขมัน จึงทำให้เอ็กซเรย์ตรวจพบได้ง่ายว่าเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ แต่สำหรับคนไข้ในโซนเอเชียรวมถึงประเทศไทยเรานั้น เนื้อนมจะเยอะ จึงทำให้การเอ็กซเรย์แมมโมแกรมอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะมีโอกาสที่จะไม่เห็นความผิดปกติได้มากกว่า ดังนั้น เพื่อให้การคัดกรองมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสรีระของคนในบ้านเรา การตรวจด้วยการอัลตราซาวด์ก็จะช่วยทำให้คัดกรองดีขึ้น เห็นก้อนได้ชัด และวินิจฉัยโรคอันนำไปสู่การรักษาได้ดียิ่งขึ้น
  • เคยตรวจแมมโมแกรมแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำทุกปีก็ได้
    สำหรับผู้หญิงที่ไม่มีอาการอะไรบ่งชี้มาก่อนเลย แพทย์แนะนำให้เริ่มต้นทำตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ทำเรื่อยๆ ต่อเนื่องกันทุกปี จนกว่าจะทำไม่ได้ แต่ในผู้หญิงที่มีอาการ มีการคลำเจอก้อน แนะนำให้เริ่มต้นทำแมมโมแกรมร่วมกับการทำอัลตราซาวด์ตั้งแต่อายุ 30 ปี เพื่อให้สามารถคัดกรองโรคได้ดี และทำการรักษาได้เร็ว หากตรวจพบเจอตั้งแต่ระยะแรกๆ
  • ผู้ชายปลอดภัย ไม่ต้องกังวลใจห่วงจะเป็นมะเร็งเต้านม
    มะเร็งเต้านมสามารถเกิดในผู้ชายได้เช่นกัน โดยสถิติอยู่ที่ร้อยละ 1 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด สาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ และอีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากสภาพร่างกายและฮอร์โมนของแต่ละบุคคล ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสเป็นได้น้อยกว่าผู้หญิงมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไม่ได้ คุณผู้ชายจึงต้องหมั่นดูแลตัวเอง สังเกตอาการ และป้องกันไว้ก่อน จึงจะปลอดภัยที่สุด
  • มีคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็ง จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น
    ไม่จำเป็นเสมอไป ต้องพิจารณารายละเอียดปัจจัยอื่นๆ ประกอบเพิ่มเติม ถึงแม้กรรมพันธุ์จะมีส่วนที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ แต่สำหรับมะเร็งเต้านม ก็ต้องพิจารณาจากประวัติว่าคนในครอบครัวที่เป็นมะเร็งเต้านมนั้น เป็นตอนอายุกี่ปี ถ้าเป็นตั้งแต่อายุน้อยๆ เช่นอายุน้อยกว่า 40 ปี ก็ถือว่ามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมจากกรรมพันธุ์ได้ แต่ถ้าคนใกล้ตัวเป็นมะเร็งตอนอายุมากๆ ก็อาจเป็นด้วยสภาพร่างกายของตัวเอง ไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์ก็ได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะมีญาติเคยเป็นมะเร็งหรือไม่มาก่อน เราก็มีโอกาสป่วยเป็นมะเร็งเต้านมได้ทั้งหมด
  • ซีสต์ที่เต้านม หากปล่อยทิ้งไว้ จะกลายเป็นมะเร็งเต้านมในที่สุด
    ซีสต์ จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่ ซีสต์ถุงน้ำธรรมดา ซีสต์ที่เป็นถุงน้ำขุ่น น้ำหนอง และซีสต์ที่มีเนื้อปนอยู่ข้างในด้วย โดยซีสต์ 2 ประเภทแรกที่เป็นถุงน้ำนั้น จะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม จะมีเพียงแค่อาการเจ็บ อักเสบเท่านั้น แต่สำหรับซีสต์ที่ข้างในมีเนื้อปนอยู่ด้วย ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะกลายเป็นมะเร็งได้ ควรเจาะตัดชิ้นเนื้อไปตรวจพิสูจน์ในห้องปฏิบัติการให้แน่ชัด
  • คลำเจอก้อนเนื้อเมื่อไร แสดงว่าใช่! เป็นมะเร็งเต้านมแน่นอน
    ก้อนเนื้อที่เต้านม ไม่จำเป็นต้องเป็นมะเร็งเต้านมเสมอไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาด ลักษณะ และช่วงอายุในการเจอก้อนเนื้อนั้นๆ ด้วย หากต้องการพิสูจน์เพื่อให้ทราบว่าก้อนเนื้อนั้นเป็นมะเร็งหรือไม่ ก็สามารถทำได้ด้วยการเอ็กซเรย์แมมโมแกรมร่วมกับการอัลตราซาวด์ ซึ่งถ้าตรวจลักษณะดูแล้วพบว่าไม่ใช่มะเร็ง และมีก้อนขนาดเล็กมาก ประมาณไม่เกิน 1 ซม. ก็ไม่จำเป็นต้องตัดทิ้ง เพราะสามารถหายไปเองได้ แต่ก็ควรมาติดตามอาการกับแพทย์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเอาออก ก็ต่อเมื่อก้อนเนื้อนั้นมีขนาดใหญ่เกิน 3 ซม. เพราะบางทีการเจาะตัดชิ้นเนื้อไปตรวจก็ไม่สามารถอธิบายก้อนเนื้อทั้งก้อนได้ การตัดออกจะลดความเสี่ยงได้มากกว่า
  • ผู้หญิงอ้วนมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้มากกว่าผู้หญิงผอม
    ความอ้วนมีผลโดยตรงกับโอกาสในการเกิดมะเร็งเต้านม เนื่องจากไขมันสามารถเปลี่ยนเป็นเอสโตรเจนได้ ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้นมีส่วนสัมพันธ์กันกับโอกาสเกิดมะเร็งเต้านม ดังนั้น ผู้หญิงอ้วน หรือ แม้กระทั่งแต่กับผู้ชายอ้วน ก็จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนที่ผอม หรือมีน้ำหนักตามเกณฑ์มาตรฐาน เพราะปริมาณเอสโตรเจนในร่างกายพวกเขาสูงกว่า
  • ดื่มน้ำเต้าหู้มากไป ยิ่งทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น
    ในน้ำเต้าหู้ และนมถั่วเหลืองนั้น จะมี “สารไฟโบเอสโตรเจน” ซึ่งเป็นเอสโตรเจนจากพืชผสมอยู่ แต่ว่าปริมาณที่บริโภคของเรานั้นไม่ได้เยอะมากพอที่จะส่งผลหรือเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ คนที่จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นนั้น จำเป็นต้องทานเยอะมากๆ แบบวันละหลายๆลิตร ทุกๆวันติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องกังวลว่า ดื่มน้ำเต้าหู้และนมถั่วเหลืองในปริมาณปกติแล้วจะทำให้เป็นมะเร็งเต้านม

 

แม้ปัจจุบันจะพบจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในแง่ของการรักษานั้น ก็ถือว่ามีผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดเป็นอันดับต้นๆ คือ มีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่ามะเร็งอื่นๆ ดังนั้น เราจึงไม่ควรที่จะตื่นตระหนกไปกับข่าวความเชื่อผิดๆ จนเกินไป และควรหันมาใส่ใจกับการศึกษาทำความรู้จักมะเร็งเต้านมอย่างถูกต้อง เพื่อจะได้เรียนรู้วิธีสำรวจตัวเอง และเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างต่อเนื่องเมื่อถึงเกณฑ์ เพื่อให้สามารถตรวจพบเจอได้เร็ว และรักษาให้หายขาดได้ไว กลับมามีชีวิตที่มีความสุขต่อไป


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...