หลายคนมักคิดว่าอาการปวดคอ..เป็นเพราะ “ออฟฟิศซินโดรม” แต่จริงๆ แล้ว พฤติกรรมการใช้งานกระดูกที่ไม่ถูกต้อง อาจส่งผลร้ายแรงกว่านั้น อย่าง โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ความผิดปกติที่พบได้บ่อยและหลายครั้งต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ดังนั้น หากคุณกำลังมีอาการปวดคอลักษณะนี้ นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของ “โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท” ควรรีบมาพบแพทย์ก่อนจะรุนแรงกว่าที่คิด!
- มีอาการปวดคล้ายไฟฟ้าช็อตบริเวณหัวไหล่ถึงคอ ปวดร้าวลงแขน หรือมีอาการชาและอ่อนแรงของมือและแขน ไม่สามารถควบคุมการใช้งานของมือได้
- ปวดคอ ปวดหลัง เป็นๆ หายๆ นานกว่า 2-4 สัปดาห์
- ชาและเสียวบริเวณต้นคอ คอเกร็งจนหันไม่ได้
- เวลาไอ จาม หรือเบ่ง จะรู้สึกปวดลึกจากแรงดันในไขสันหลัง
- ปวดคอเวลา นั่ง นอน หรือขยับท่าทางต่างๆ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน
รู้ทันหมอนรองกระดูกทับเส้น! ด้วยการตรวจวิธีนี้
การตรวจโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท จะใช้วิธีตรวจ MRI หรือ CT Scan เพื่อวินิจฉัยดูความรุนแรงและหาแนวทางในการรักษา ผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากแพทย์อาจแนะนำให้ทานยา และทำกายภาพบำบัด แต่หากผู้ป่วยมีอาการที่ค่อนข้างรุนแรงอาจแนะนำให้ผ่าตัด
ปวดคอ หมอนรองกระดูกทับเส้น รักษาได้อย่างไร?
- การรักษาด้วยยา
แพทย์จะให้ยาบรรเทาอาการปวดตามความรุนแรงของอาการ และบางครั้งอาจใช้วิธีฉีดยาสเตียรอยด์หรือยาชาเข้าไปตรงตำแหน่งใกล้รากประสาท ซึ่งอยู่ตรงกับกระดูกสันหลัง หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อคอเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด และให้อาการปวดคอหายไวขึ้น
- การทำกายภาพบำบัด
ช่วยทำให้ช่องระหว่างกระดูกสันหลังบริเวณคอกว้างขึ้น ลดการกดทับเส้นประสาท ช่วยในการยืดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ รวมถึงการนวดที่ถูกวิธีก็สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดคอได้
- การผ่าตัด
ในบางกรณีแพทย์อาจต้องทำการผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการรากประสาทหรือไขสันหลังถูกกดทับ โดยส่วนใหญ่แพทย์จะใช้ในกรณีที่มีอาการปวดคอเรื้อรัง กระดูกสันหลังทับเส้นประสาท หรือในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น