มะเร็งเต้านม...ภัยร้ายอันดับ 1 ของผู้หญิง

พญาไท นวมินทร์

1 นาที

จ. 01/03/2021

แชร์


Loading...
มะเร็งเต้านม...ภัยร้ายอันดับ 1 ของผู้หญิง

มะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยอันดับ 1 และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตต้นๆ ในหญิงไทย ซึ่งปัจจุบันอัตราการพบมะเร็งเต้านมมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 1 ใน 10 ของผู้หญิง มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ดังนั้นจึงมีการตื่นตัวในการตรวจหา และรักษาปัญหาก้อนที่เต้านมเพื่อให้ได้การวินิจฉัยมะเร็งของเต้านมในระยะแรก และรีบรักษาก่อนที่จะมีการแพร่กระจายของโรคออกไป

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม

  • ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป (พบได้ทุกช่วงวัยแต่ยิ่งอายุมากยิ่งเสี่ยง)
  • คนในครอบครัวที่มีประวัติป่วยเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่
  • ผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการรักษามะเร็งเต้านม หรือเนื้องอกเต้านมบางชนิด
  • ผู้หญิงที่ไม่มีลูก หรือมีเมื่ออายุเลย 30 ปี
  • พบการกลายพันธุ์ของยีนที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • ผู้หญิงที่มีเนื้อเต้านมแน่นกว่าปกติ
  • ผู้ที่มีประจำเดือนมาตั้งแต่อายุก่อน 12 ปี หรือ ประจำเดือนหมดช้าหลังอายุ 55 ปี
  • ผู้ที่รับประทานฮอร์โมนเพศหญิง หรือรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน

สัญญาณเตือนที่ควรรีบพบแพทย์

  • คลำเจอก้อนที่เต้านมหรือรักแร้
  • รูปร่างของเต้านมเปลี่ยนแปลงไป มีรอยบุ๋มหรือแผล
  • ผิวหนังเต้านมบาง หรือหนาผิดปกติ
  • หัวนมแดง มีเลือด น้ำหนองไหลออกมา
  • เจ็บบริเวณเต้านม

มะเร็งเต้านม แบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ

  • ระยะที่ 1 : ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กกว่า 2 ซม. และยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้
  • ระยะที่ 2 : ก้อนมะเร็งมีขนาดระหว่าง 2 – 5 ซม. และมีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกัน
  • ระยะที่ 3 : ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 ซม. แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกันอย่างมาก จนทำให้ต่อมน้ำเหลืองเหล่านั้นมารวมติดกันเป็นก้อนใหญ่หรือติดแน่นกับอวัยวะข้างเคียง
  • ระยะที่ 4 : ก้อนมะเร็งมีขนาดโตเท่าไหร่ก็ได้ แต่พบว่ามีการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายที่อยู่ไกลออกไป เช่น กระดูก ปอด ตับ หรือสมอง เป็นต้น

*มะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก คือ ระยะที่ 1 และ 2 หรือในระยะที่ 3 บางรายมีพยากรณ์โรคที่ดี คือมีอัตราอยู่รอดเกินห้าปีหลังจากการวินิจฉัยประมาณ 80-90%

วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก มีอะไรบ้าง?

  1. การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ควรตรวจเป็นประจำเดือนละครั้ง เพื่อที่จะได้คุ้นเคยกับภาวะปกติของเต้านม จะช่วยให้สังเกตความเปลี่ยนแปลงในแต่ละเดือนได้ง่ายขึ้น โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการตรวจเต้านมด้วยตนเองคือ 7 วัน หลังจากเริ่มมีประจำเดือน เพราะเต้านมจะมีความตึง หรือบวมจากภาวะปกติน้อยสุด ส่วนหญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว ควรจะเลือกวันใดวันหนึ่ง เช่น วันแรกของเดือน เพื่อความสะดวก และเตือนตนเองในการตรวจเป็นประจำทุกเดือน
  2. การตรวจโดยแพทย์เฉพาะทาง เป็นการตรวจมะเร็งระยะเริ่มแรก โดยแพทย์จะคลำบริเวณเต้านม และบริเวณใต้วงแขน เพื่อตรวจหาว่ามีก้อนผิดปกติหรือไม่ นอกจากนั้นยังตรวจจากลักษณะต่างๆ ด้วย เช่น รอบบุ๋ม ตุ่ม หรือไตที่แข็งผิดปกติ การดึงรั้งที่ผิดปกติของหัวนม หรือการมีของเหลว เช่น น้ำเหลือง หรือ น้ำเลือดออกมาจากหัวนม
  3. การตรวจเต้านม (Mammogram) เป็นวิธีเอกซเรย์เต้านม เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถแสดงรายละเอียดของสิ่งผิดปกติต่างๆ รวมถึงเนื้องอกที่มีขนาดเล็กมากๆ เกินกว่าที่จะพบได้จากการคลำโดยเฉพาะเต้านมผู้สูงอายุ

วิธีการรักษามะเร็งเต้านมที่ได้ผลดีและเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันมีอยู่ 5 วิธี คือ

  • การรักษามะเร็งเต้านม โดยการผ่าตัดมีอยู่ 2 วิธี
    • การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด เป็นการผ่าตัดเอาเต้านมข้างที่มีเนื้องอกออกทั้งหมดร่วมกับต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ออกไปด้วยในคราวเดียวกัน หากไม่มีการแพร่กระจายก็จะตัดเฉพาะเนื้อเยื่อเต้านมออกเพียงอย่างเดียว
    • การผ่าตัดแบบสงวนเต้า หรือจะเรียกว่าการผ่าตัดแบบเก็บรักษาเต้านมไว้ โดยแพทย์จะผ่าตัดเอาเฉพาะส่วนที่เป็นก้อนเนื้อร้ายออกเท่านั้น แต่ยังคงเหลือเต้านมส่วนที่ดีเอาไว้
  • การรักษามะเร็งเต้านม โดยการฉายแสง(รังสีรักษา)
  • การรักษามะเร็งเต้านม โดยยาต้านฮอร์โมน
  • การรักษามะเร็งเต้านม โดยยาเคมีบำบัด
  • การรักษามะเร็งเต้านม โดยยาที่มีการออกฤทธิ์จำเพาะ

มะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรกรักษาโดยการผ่าตัดเป็นอันดับแรก และส่วนมากต้องการการรักษาวิธีอื่นๆ ร่วมด้วยเพื่อเสริมให้ผลการรักษาดีขึ้น เช่น ผ่าตัดก่อน หลังจากแผลหายจึงให้ยาเคมีบำบัด ต่อจากนั้นรักษาโดยการฉายแสงร่วมกับการให้ยาต้านฮอร์โมน ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของโรค คุณสมบัติของมะเร็งรวมถึงวิธีการผ่าตัด เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ทำให้การรักษาย่อมมีความแตกต่างกันตามไป

นพ. ศุภชาติ ชมภูนุช
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีบำบัด
ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์


นัดหมายแพทย์

แชร์