ภาวะรกเกาะต่ำในคุณแม่ตั้งครรภ์ อันตรายแค่ไหนนะ?

ภาวะรกเกาะต่ำในคุณแม่ตั้งครรภ์ อันตรายแค่ไหนนะ?

รกเกาะต่ำ (Placenta Previa) คืออะไร?

รกเกาะต่ำ คือ ภาวะที่รกปิดขวางหรือคลุมปากมดลูกเพียงบางส่วนหรือปกคลุมทั้งหมด ซึ่งปกติส่วนใหญ่รกจะอยู่ด้านบนของมดลูกและห่างจากปากมดลูก เมื่อถึงเวลาคลอด ปากมดลูกจะเปิดขยายออก ทำให้เส้นเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างรกและมดลูกฉีดขาด มีเลือดออกมากทั้งก่อนหรือในขณะคลอด เกิดความเสี่ยงต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ และอาจทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้ แพทย์จึงนิยมให้หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะต่ำทำการผ่าคลอด (Caesarean Section)

 

อาการของรกเกาะต่ำ

  • รกเกาะต่ำอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงระหว่างปลายไตรมาสที่ 2 ถึงต้นไตรมาสที่ 3 โดยอาการที่พบคือ มีเลือดสีแดงสดไหลออกมาจากทางช่องคลอดและมักไม่มีความเจ็บปวดใดๆ
  • บางรายอาจมีอาการปวด เจ็บแปลบ หรือมีการบีบตัวของมดลูกร่วมด้วย
  • หากเสียเลือดมาก อาจทำให้ทารกซีดและเสียชีวิตได้ ส่วนมารดาอาจทำให้เกิดภาวะช็อกและมีโอกาสเสียชีวิตได้ หากพบอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

รกเกาะต่ำ…เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง ?

สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดภาวะรกเกาะต่ำไม่สามารถบอกได้แน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจมาจากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้

  • หญิงตั้งครรภ์มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
  • การตั้งครรภ์ตั้งแต่ครรภ์ที่ 2 เป็นต้นไป
  • การตั้งครรภ์แฝด หรือมีจำนวนทารกในครรภ์มากกว่า 1 คน
  • มดลูกมีขนาดใหญ่หรือมีรูปร่างที่ผิดปกติ
  • การมีแผลที่ผนังมดลูก
  • ตำแหน่งที่ผิดปกติของทารกในครรภ์
  • การขูดมดลูกที่มีสาเหตุมาจากการแท้งหรือการคลอดก่อนกำหนด
  • การผ่าคลอดในการตั้งครรภ์ในอดีต
  • เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก
  • หญิงตั้งครรภ์ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่

 

เราจะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังเสี่ยง “ภาวะรกเกาะต่ำ”

การที่จะทราบได้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงภาวะนี้หรือไม่ แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการอัลตร้าซาวด์หลังอายุครรภ์ครบ 20 สัปดาห์

 

วิธีรักษารกเกาะต่ำมีหลักในการพิจารณาดังนี้

1. ปริมาณเลือดและความจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉิน

  • ในกรณีที่ไม่มีเลือดหรือมีเลือดออกเพียงเล็กน้อย แพทย์อาจแนะนำให้นอนพักอยู่บนเตียงที่บ้าน ลดการเคลื่อนไหวของร่างกาย หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์
  • ในกรณีที่มีเลือดออกมาก แพทย์อาจแนะนำให้นอนพักที่โรงพยาบาล และจำเป็นต้องให้เลือดเพื่อทดแทนเลือดที่เสียไป แพทย์อาจให้ยาป้องกันการคลอดก่อนกำหนด หรือมีการเตรียมผ่าคลอด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของมารดาและทารกเป็นสำคัญ

2. อายุครรภ์

  • ถ้าอายุครรภ์ครบกำหนด แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดคลอดให้แก่ผู้ป่วยทันที
  • ถ้าอายุครรภ์ยังไม่ถึงกำหนดคลอด อาจพิจารณาใช้ยาระงับการบีบตัวของมดลูก และใช้ยากระตุ้นปอดทารกเพื่อเตรียมตัวสำหรับการคลอดก่อนกำหนด

 

การป้องกันรกเกาะต่ำ

  • มาตรวจกับแพทย์ตามนัด โดยแพทย์จะทำการตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อดูสุขภาพของทารกและตำแหน่งของรก และน้ำคร่ำ
  • สังเกตอาการ ถ้ามีเลือดออกจากช่องคลอดให้มาพบแพทย์ทันที

นัดหมายแพทย์

แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ




Loading...