ขึ้นชื่อว่า “เป็นไข้” แน่นอนว่าอาการหลักที่แสดงออกก็คือ การมีอุณหภูมิร่างกายที่สูงเกินกว่า 37 องศา ด้วยความร้อนที่สะสมอยู่ในร่างกาย จึงมักส่งผลให้เกิดอาการไม่สบายเนื้อสบายตัว และเมื่อเป็นไข้วิธีการลดไข้ยอดฮิตนอกเหนือจากการทานยา ก็คงหนีไม่พ้นการเช็ดตัวลดไข้เพื่อให้น้ำเป็นตัวช่วยถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย แต่คุณเคยรู้หรือไม่? ว่าการเช็ดตัวลดไข้ก็มีวิธีและขั้นตอนที่จะช่วยให้การเช็ดตัวเกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วยนะ วันนี้เรามีคำแนะนำดีๆ จากผู้เชี่ยวชาญมาฝาก
เช็ดตัวลดไข้ ต้องใช้อะไรบ้าง?
- กะละมังน้ำ 1-2 ใบ ใส่น้ำอุ่นในปริมาณค่อนกะละมัง
- ผ้าถูตัว 2 ผืนหรือมากกว่า
- ผ้าเช็ดตัว 1 ผืน
- Cold-Hot pack 2 อัน หรือกระเป๋าน้ำร้อน น้ำแข็ง อย่างละ 1 ใบ พร้อมปลอก
อุปกรณ์เช็ดตัวลดไข้พร้อม ก็มาลงมือกันเลย!
- หากเปิดเครื่องปรับอากาศไว้ ให้ทำการปิดก่อนที่จะเริ่มทำการเช็ดตัว
- ถอดเสื้อผ้าของผู้ที่เป็นไข้ออก แล้วใช้ผ้าคลุมหน้าอกไว้
- ใช้ผ้าถูตัวชุบน้ำบิดหมาดๆ โดยให้เริ่มเช็ดที่ใบหน้า คอ หลังหู จากนั้นให้เปลี่ยนผ้าและนำผ้ามาพักไว้ที่ซอกคอ
- ประคบบริเวณหน้าอก ท้อง และพักผ้าไว้บริเวณหัวใจสักครู่ ก่อนเปลี่ยนผ้าและทำซ้ำ 2-3 รอบ
- เช็ดที่มือทั้ง 2 ข้าง หรือให้ผู้ที่เป็นไข้กำผ้าไว้ในมือสักครู่
- เช็ดแขนทีละข้าง โดยเริ่มแขนด้านไกลตัว เช็ดจากปลายแขนเข้าสู่หัวใจ แล้วพักผ้าไว้ที่ข้อพับ รักแร้ สักครู่ทำซ้ำซัก 2-3 รอบ แล้วจึงเปลี่ยนมาเช็ดแขนด้านใกล้ตัว โดยให้ทำในลักษณะเดียวกัน
- เช็ดขาทีละข้าง โดยเริ่มขาด้านไกลตัว เริ่มเช็ดจากปลายขาเข้าสู่หัวใจ แล้วพักผ้าไว้ที่ข้อพับ ใต้เข่า ขาหนีบสักครู่ทำซ้ำซัก 2-3 รอบ แล้วจึงเริ่มเช็ดขาด้านใกล้ตัว โดยทำลักษณะเดียวกัน
- พลิกตะแคงตัวผู้ที่เป็นไข้โดยให้หันหน้าเข้าหาตัวผู้เช็ด เริ่มเช็ดหลัง บริเวณต้นคอเช็ดเข้าหาหัวใจ แล้วเช็ดบริเวณก้นกบเข้าหาหัวใจ ทำซ้ำหลายๆ ครั้ง
- ซับตัวผู้ที่เป็นไข้ให้แห้ง แล้วให้สวมใส่เสื้อผ้าที่สบายไม่บางหรือหนาจนเกินไป
- วัดอุณหภูมิซ้ำหลังเช็ดตัวประมาณครึ่งชั่วโมง
ทริคสำคัญ! ช่วยลดไข้ได้ดียิ่งขึ้น
- ขณะเช็ดตัวให้คนไข้ดื่มน้ำมากๆ
- ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาด ประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับต่างๆ
- เปลี่ยนผ้าบ่อยๆ ถ้าผู้ที่เป็นไข้มีอาการหนาวสั่น ควรหยุดทำทันที ควรใช้เวลาเช็ดประมาณ 15-20 นาที
- ขณะเช็ดตัว ให้คนไข้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด เพราะจะทำให้เกิดการเผาผลาญในร่างกายมากขึ้น และอาจส่งผลให้ไข้ไม่ลด
- ไม่ควรให้คนไข้ดื่มน้ำร้อนภายหลังเช็ดตัวใหม่ๆ จนกว่าจะวัดอุณหภูมิ
- เช็ดตัวด้วยความนุ่มนวล โดยเฉพาะเด็กเล็กผิวจะบอบบาง อาจทำให้เกิดแผลจากการเช็ดแรงๆ ได้
เอกสารอ้างอิง
- คู่มือการพยาบาลเบื้องต้น ภาควิชาการพยาบาลพื้นฐานวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์
- คู่มือปฏิบัติการพยาบาล ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี