ใครบ้างที่ควรตรวจสุขภาพ...มากกว่าแค่ปีละ 1 ครั้ง

เครือพญาไท

2 นาที

จ. 05/04/2021

แชร์


Loading...
ใครบ้างที่ควรตรวจสุขภาพ...มากกว่าแค่ปีละ 1 ครั้ง

ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละครั้ง…งั้นหรอ? เชื่อเถอะว่าหลายคนเดินเข้าโรงพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพเพียงแค่ 1 ครั้งต่อปีเท่านั้นแหละ! ซึ่งถ้าจะถามว่าจำนวนครั้งเท่านี้เพียงพอไหม ก็อาจบอกได้ว่าเพียงพอ…แต่ไม่สำหรับทุกคน! เพราะมีคนบางกลุ่มที่การตรวจสุขภาพ “จำเป็น” ต้องมากกว่าแค่ปีละ 1 ครั้ง ส่วนจะเป็นคนกลุ่มไหนและต้องตรวจติดตามอะไรบ้าง นี่คือคำตอบ…

ตรวจเบาหวาน…เพราะ “ระดับน้ำตาล” ไม่เคยหยุดนิ่ง
ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน หรือผู้ป่วยเบาหวานที่ยังต้องคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควรพบแพทย์เพื่อติดตามทุกๆ 3 เดือน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดที่พบได้บ่อย มี 2 วิธีด้วยกัน คือ

  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ที่เรียกว่า การตรวจ Fasting Blood Sugar (FBS) เป็นการเจาะเลือดตรวจค่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังผู้ป่วยงดอาหารและเครื่องดื่ม อย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อดูว่าปริมาณของกลูโคสในเลือด ณ ขณะนั้นปกติหรือไม่ หรือต่ำกว่า หรือสูงกว่าปกติ
  • ตรวจระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด ที่เรียกว่า การตรวจ Hemoglobin A1c (HbA1c) เป็นการตรวจวัดระดับจำนวนเม็ดเลือดแดงที่ถูกน้ำตาลเคลือบผิวภายนอกอยู่ ซึ่งสามารถประเมิน % ของเม็ดเลือดแดงที่ถูกน้ำตาลเคลือบภายใน 2-3 เดือนที่ผ่านมา พูดง่ายๆ ก็คือ แม้ว่าค่า FBS จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ค่า HbA1c ก็อาจจะสูงกว่าปกติได้ เพราะฉะนั้น การตรวจค่า HbA1c ร่วมด้วย จะช่วยยืนยันระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่า

ตรวจไขมัน…ตัวการสำคัญ โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง
การตรวจระดับไขมันในเลือด สิ่งที่เราจะดูไม่ใช่แค่ค่า Total Cholesterol แต่ควรรู้ละเอียดลงลึกว่าค่าคอเลสเตอรอลที่สูงน่ะ ระดับค่า HDL หรือไขมันดี ที่มีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้ไขมันไม่ดีพอกสะสมที่ผนังหลอดเลือดแดง มากน้อยแค่ไหน แล้ว ค่า LDL กับ Triglyceride ที่เป็นไขมันไม่ดี ตัวการสำคัญทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง สาเหตุโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองล่ะ อยู่ที่เท่าไหร่

เพราะการควบคุมระดับไขมันในเลือดที่ดี ไม่ใช่การกินยาเพื่อลดจำนวนผู้ร้ายตลอดชีวิต แต่จะดีกว่า ถ้าเรารู้แนวทางการรักษาที่เหมาะสม เพื่อลดการใช้ยา ควบคู่ไปกับการเพิ่มจำนวนทหารจัดการไขมันตัวร้าย..ให้มากขึ้นแทน เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีภาวะระดับไขมันในเลือดผิดปกติ จึงควรตรวจติดตามระดับไขมันทุกๆ 3-6 เดือน

ตรวจไต ตรวจตับ…สำหรับผู้ที่ชีวิตยังขาด(การกิน)ยาไม่ได้
สำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง NCDs ที่ยังต้องใช้ยาควบคุมค่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าไขมัน ความดัน หรือน้ำตาลในเลือด การกินยาต่อเนื่องนานๆ รวมถึงกลุ่มยาที่มีฤทธิ์รุนแรง..เป็นพิษต่อตับและไต เช่น ยาลดไขมันในเลือดกลุ่ม statins นอกจากการตรวจการทำงานของตับและไตคนไข้ก่อนให้ยา ระหว่างการรักษาโรคประจำตัว แพทย์ก็จะทำการตรวจติดตามเป็นประจำทุกๆ 3 หรือ 6 เดือน เพื่อเป็นแนวทางในการปรับชนิดยาและปริมาณยาให้เหมาะสม โดยจะเป็นการตรวจดูระดับ SGOT, SGPT และ Alk Phosphatase (ALP) ซึ่งเป็นค่าที่มีความไวในการแสดงผลเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับตับ ไม่ว่าจะเป็น ตับอักเสบ มะเร็งตับ หรือยาที่เป็นพิษต่อตับ และตรวจติดตามระดับ Blood urea nitrogen (BUN) และ Creatinine ดูปริมาณของเสียที่ถูกขับออกทางไต เพื่อเช็คว่าไตทำงานปกติหรือไม่

ตรวจวิตามินดี…เพราะวิตามินชนิดนี้สำคัญกว่าที่คิด
เคยเห็นรายการตรวจสุขภาพที่ระบุถึง “การตรวจวิตามินดี” หลายคนอาจคิดในใจว่า วิตามินดีเนี้ยนะ…สำคัญต่อร่างกายเราถึงขนาดต้องตรวจเป็นประจำเลยหรอ? ซึ่งจริงๆ แล้ว ภาวะพร่องวิตามินดีหรือภาวะขาดวิตามินดีไม่ใช่แค่ส่งผลต่อผิวหนัง หรือเพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคกระดูกพรุน แต่ยังเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน เพราะวิตามินดีมีส่วนช่วยให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลได้ดีขึ้น หรือในกลุ่มผู้ป่วยความดันโลหิตสูง หากระดับวิตามินดีต่ำกว่า 15 ng/ml ก็จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า รวมไปถึงงานวิจัยของศูนย์วิจัยโรคมะเร็ง มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่พบว่า การกินวิตามินดี 25 ไมโครกรัมทุกวัน สามารถลดโอกาสเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึงร้อยละ 50 เลยทีเดียว

แต่…การที่ร่างกายได้รับวิตามินดีเกินความจำเป็นก็ส่งผลข้างเคียงได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักตัวลดลง เพราะมีการสลายของแคลเซียมจากกระดูก หรือบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เพราะระบบอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายล้มเหลว การตรวจติดตามระดับวิตามินดี จึงควรตรวจทุกๆ 2-4 เดือน ในผู้ที่มีระดับวิตามินดีน้อยกว่า 35 ng/ml และควรตรวจทุกๆ 1-2 เดือน ในผู้ที่มีระดับวิตามินดีมากกว่า 35 ng/ml เพื่อให้รู้ทันว่าร่างกายเรานั้น ได้รับวิตามินดีมากหรือน้อยเกินไปหรือเปล่า

หากคุณคือหนึ่งในกลุ่มคนเหล่านี้ การตรวจสุขภาพเพื่อติดตามการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย มากกว่าแค่ 1 ครั้งต่อปี ถือว่ามีความจำเป็น เพราะกลุ่มโรคที่ดูเหมือนแค่โรคเรื้อรังธรรมดาไม่ร้ายแรง อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย…เป็นภัยเงียบที่เสี่ยงเสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้!

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Phyathai Call Center 1772
 

แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ



Loading...