ยกแขนไม่ขึ้น ปวดไหล่ สัญญาณเตือน ‘เอ็นหัวไหล่ฉีกขาด’

ยกแขนไม่ขึ้น ปวดไหล่ สัญญาณเตือน ‘เอ็นหัวไหล่ฉีกขาด’

นอนไม่หลับ ตะแคงตัวก็ปวด ยกแขนไม่ขึ้น ใส่เสื้อก็ลำบาก หวีผมก็ไม่ได้ เป็นอะไรกันแน่ แต่เอ๊ะ! ก็ไม่ได้ทำอะไรที่ต่างไปจากเดิม จะมีก็แค่ออกกำลังกายหนักขึ้น ยกเวทหนักขึ้น และนานขึ้นก็เท่านั้นเอง นี่แหละใช่เลย! คุณกำลังเสี่ยงต่อการเกิด “เอ็นไหล่ฉีกขาด” จากการออกกำลังกายที่หนักเกินกว่าร่างกายจะรับไหว

 

เราต่างรู้ดีว่า ‘หัวไหล่’ เป็นอวัยวะที่มีหน้าที่เชื่อมต่อกับแขนและลำตัว โดยมีกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นพยุงไว้โดยรอบ เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ที่เอ็นหัวไหล่ฉีกขาดก็อาจส่งผลให้มีอาการปวดบริเวณข้อไหล่ บางคนอาจปวดร้าวมาถึงต้นแขน อ่อนแรงยกแขนได้ลำบาก รวมถึงไม่สามารถใช้งานไหล่ได้เหมือนเดิม แม้แต่การหวีผม ติดตะขอเสื้อชั้นใน รูดซิปที่ด้านหลัง หรือแม้แต่แค่สวมเสื้อก็ตาม

 

ปวดไหล่ อย่าคิดว่าไม่สำคัญ

หัวไหล่ เป็นอวัยวะหนึ่งที่มักถูกละเลยและถูกใช้งานอย่างหนัก จนลืมไปว่าการใช้งานที่อวัยวะส่วนแขนมากเกินไป เช่น การยกของหนัก เล่นกีฬาที่มีการกระแทก หรือการหยิบจับสิ่งของด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้อง สามารถก่อให้เกิดผลเสียกับส่วนต่างๆ ที่บริเวณหัวไหล่ได้ ซึ่งสาเหตุหลักๆ ที่มักทำให้เอ็นไหล่ฉีกขาดนั้นมีอยู่ 3 อย่าง คือ

  • ความเสื่อมของเอ็นข้อไหล่ ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยวัยกลางคนขึ้นไป ไม่ว่าจะจากการใช้งานหัวไหล่ที่มากเกินไปในช่วงชีวิตที่ผ่าน การไหลเวียนของเลือดในกลุ่มเส้นเอ็นลดน้อยลง ส่งผลให้เส้นเอ็นเปราะ ขาดง่าย หรืออาจรวมไปถึงปัญหาจากหินปูนที่เกิดขึ้นใต้กระดูกส่วนบนของไหล่เสียดสีกับเส้นเอ็นทำให้เส้นเอ็นเสียหาย
  • ใช้งานข้อไหล่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน สาเหตุนี้มักพบในกลุ่มนักกีฬาหรือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน แม้จะใช้งานอย่างถูกวิธีก็ตาม แต่หากใช้อย่างหักโหมและต่อเนื่อง ไม่หยุดพักร่างกายอย่างเพียงพอ ย่อมสร้างความเสียหายให้กลุ่มเส้นเอ็นบริเวณหัวไหล่ได้
  • การบาดเจ็บหรือการออกแรงมากเกินไป การออกแรงยกของหนักเกินไป การคว้าสิ่งของที่ตกลงมาอย่างรวดเร็วหรือฝืนกับสรีระร่างกาย สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลเสียกับหัวไหล่ได้ทั้งสิ้น

 

อาการที่พบได้บ่อย…เมื่อมีปัญหาเอ็นไหล่ฉีกขาด

  • ปวดไหล่เวลานอน โดยเฉพาะนอนทับไหล่ข้างที่มีปัญหา
  • ปวดไหล่เวลากางแขน หนุนแขน เอื้อมหยิบของ
  • อ่อนแรงในการยกแขนหนุนแขน ถ้าเป็นมากอาจยกไม่ขึ้น หรือยกได้ไม่สุด
  • บางกรณีอาจมีภาวะไหล่ติดร่วมด้วย เนื่องจากเมื่อเกิดอาการปวดไหล่แล้ว มีการลดการเคลื่อนไหวข้อไหล่

ดังนั้นเมื่อมีอาการดังที่กล่าวมา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา หากปล่อยไว้อาจทำให้เส้นเอ็นไหล่เกิดการฉีกขาดมากขึ้น

การรักษาเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด

การเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมให้คนไข้นั้น แพทย์จะพิจารณาจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และภาพรังสีวินิจฉัยต่างๆ อย่างละเอียด โดยการรักษาแบ่งออกเป็น

  1. การรักษาแบบประคับประคอง เช่น ลดการใช้งานไหล่และแขน การประคบร้อนหรือเย็น การทานยาลดการอักเสบ ยาแก้ปวด และในบางกรณีอาจมีการทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวด แก้ไขภาวะไหล่ติดยึด รวมถึงการบริหารกล้ามเนื้อโดยรอบข้อไหล่
  2. การผ่าตัด หากมีอาการรุนแรงและไม่สามารถใช้งานหัวไหล่ได้ แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด โดยวิธีการผ่าตัดผ่านกล้องเย็บซ่อมเอ็นข้อไหล่ ซึ่งการผ่าตัดส่องกล้องนี้ไม่น่ากลัว และมีข้อดีหลายประการ เช่น
    • แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กจึงเกิดรอยแผลเป็นน้อย บาดเจ็บน้อย เสียเลือดน้อย และภาวะแทรกซ้อนก็ลดน้อยตามไปด้วย
    • สามารถเห็นพยาธิสภาพได้ชัดเจน ทำให้สามารถผ่าตัดแก้ไขภาวะเอ็นขาด และพยาธิสภาพร่วมอื่นๆ ได้ดี
    • เวลาในการพักฟื้นหลังการผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบแผลเปิด จึงสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น

 

ดังนั้น เมื่อใดที่รู้สึกว่าไหล่เกิดความผิดปกติ ควรมาพบแพทย์ เพราะถ้าเอ็นไหล่แค่อักเสบ ก็จะมีวิธีรักษาป้องกันไม่ให้รุนแรงไปถึงขั้นเอ็นขาด แต่ถ้าเอ็นไหล่ขาดก็จะได้รับการรักษา เพื่อไม่ให้เอ็นที่ขาดขยายมากขึ้นจนทำให้การรักษาทำได้ยากขึ้น และจะส่งผลต่อการใช้แขน ร่วมถึงการใช้ชีวิตประจำวันต่อไปได้


นัดหมายแพทย์

แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ




Loading...