ท่อน้ำตาอุดตัน เป็นภาวะที่ระบบทางเดินท่อน้ำตามีการปิดกั้น ทำให้น้ำตาไม่สามารถระบายออกได้ ส่งผลให้มีน้ำตาไหลหรือน้ำตาคลอตลอดเวลา หากรุนแรงก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรืออักเสบ ซึ่งภาวะนี้พบได้ในทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กแรกเกิดเลยทีเดียว
อาการที่บ่งบอกว่าคุณเสี่ยงท่อน้ำตาอุดตัน
- มีน้ำตาไหลตลอดเวลา
- มีการอักเสบติดเชื้อ
- ปวด บวม แดง ร้อนบริเวณหัวตา หากไม่รีบรักษาอาจลามไปถึงเปลือกตาหรือกระจกตา
สาเหตุที่ทำให้เกิดท่อน้ำตาอุดตัน
- ผนังกั้นหัวตาไม่ทะลุตั้งแต่กำเนิด ทำให้น้ำตาไหลตั้งแต่เด็ก
- มีอาการน้ำตาเอ่อเป็นๆ หาย ๆ เกิดจากระบบเปลือกตาบีบน้ำตาไม่ได้
- เคืองตา หรือคันที่หัวตา
- บริเวณท่อน้ำตาเกิดการติดเชื้อ
- การเกิดอุบัติเหตุบริเวณท่อน้ำตา
- เคยมีการรักษาด้วยการฉายแสงที่ดวงตา
- การใช้ยาหยอดตาปฏิชีวนะเพื่อรักษาต้อหินบ่อย ๆ
- มีโรคประจำตัวภูมิแพ้
- มีก้อนเนื้องอกบริเวณท่อน้ำตา
การวินิจฉัยท่อน้ำตาอุดตัน
- การทดสอบด้วยการใช้สีย้อมตรวจกระจกตาหยอดลงไปในตา เวลาประมาณ 5-10 นาที ถ้าสียังคงค้างอยู่ที่ตา บ่งบอกได้ว่าท่อน้ำตาน่าจะมีการอุดตันเกิดขึ้น
- การใช้เข็มเล็กปลายตัดไม่คม แยงลงไปทางรูเปิดของท่อน้ำตาที่มีอยู่ทั้งที่หัวตาทั้งเปลือกตาบนและล่าง เพื่อดูการอุดตันของท่อน้ำตา
- การฉีดสารรังสีลงไปในดวงตา เพื่อทำการ X-Ray หรือ CT Scan เพื่อดูความผิดปกติของท่อน้ำตาอุดตัน
วิธีการรักษาท่อน้ำตาอุดตันในเด็กและในผู้ใหญ่
การรักษาสำหรับเด็ก
- การใช้ยาหยอดตาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการอักเสบติดเชื้อ
- หากเป็นท่อน้ำตาอุดตันตั้งแต่กำเนิด ใช้วิธีการนวดบริเวณหัวตาเพื่อทำการรักษา
- การใช้วิธีแยงท่อน้ำตาด้วยแท่งโลหะ (Probing) ลักษณะปลายมนยาว แยงลงไปตามแนวของท่อน้ำตา
การรักษาสำหรับผู้ใหญ่
- การใช้ Laser เพื่อสร้างรูเชื่อมระหว่างถุงน้ำตากับจมูก โดยผลของการรักษาอาจไม่ 100%
- การผ่าตัดแบบดั้งเดิม ด้วยการผ่าตัดกรีดตาจากทางด้านนอก (External Dacryocystorhinostomy) โดยส่วนใหญ่ 80-90% จะไม่มีรอยแผลเป็น
- การผ่าตัดส่องกล้อง (Endoscopic Dacryocystorhinostomy) เป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้องขนาดเล็กเข้าไปผ่าตัดในช่องรูจมูก ทำทางระบายท่อน้ำตาท่อใหม่ ช่วยให้ไม่เกิดรอยแผลเป็นถาวร
- การรักษาแบบใส่ท่อซิลิโคนขนาดเล็ก 1 มิลลิเมตร เพื่อทำการรักษาโดยมีการหยอดยาชาขยายท่อเล็กๆ ผ่านบริเวณรูจมูกใช้เวลาทำประมาณ 15 นาที เป็นวิธีการรักษาด้วยการคาท่อทิ้งไว้ 3 เดือน โดยการรักษาเหมาะกับกลุ่มคนไข้ ดังนี้
- กลุ่มที่ไม่เคยมีการติดเชื้อ
- กลุ่มที่ไม่เคยผ่าตัดรักษาท่อน้ำตาอุดตัน
- กลุ่มวัยเด็กที่แยงท่อน้ำตาแล้วไม่หาย
- กลุ่มที่มีข้อห้ามในการดมยา มีโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ เป็นต้น
- กลุ่มที่ไม่สามารถหยุดรับประทานยาละลายลิ่มเลือดได้
- กลุ่มทำหัตถการเกี่ยวกับดวงตา หรือมีภาวะเกี่ยวกับโรคทางตา สามารถตรวจเพื่อทำการรักษาท่อน้ำตาอุดตันด้วยวิธีนี้ได้
ทั้งนี้ การรักษาแบบใส่ท่อซิลิโคน มีผลการวิจัยทำได้สำเร็จ 60-70% ซึ่งเป็นการรักษาแบบใหม่ที่ไม่ต้องผ่าตัด ไม่เจ็บตัว ฟื้นตัวเร็ว ราคาย่อมเยา และถูกกว่าการผ่าตัดแบบอื่น แต่ก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้ง่ายมากกว่าการรักษาด้วยการผ่าตัด
พญ. ฝนทิพย์ ณ ป้อมเพชร
จักษุแพทย์เฉพาะทางด้านโรคเบ้าตา
และศัลยกรรมตกแต่งเสริมสร้างทางตา
ศูนย์ตา โรงพยาบาลพญาไท 2