ฝนตกอีกแล้ว ตกบ่อยๆ แบบนี้ไม่ได้เสี่ยงแค่โรคหวัด แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่คุณอาจไม่ได้คาดคิดและไม่ได้ระวัง นั่นก็คืออันตรายจากสัตว์มีพิษในช่วงฤดูฝนนั่นเอง เพราะสัตว์เหล่านี้มักอาศัยอยู่ในดิน หรือที่ลับสายตา เมื่อเกิดฝนตกบ่อยๆ จนน้ำท่วมขังไปยังบริเวณที่พวกมันอยู่อาศัย สัตว์มีพิษเหล่านี้ก็มักจะหนีน้ำขึ้นมาตามพื้นดิน แล้วถ้าบังเอิญถูกสัตว์เหล่านี้กัด เราต้องทำอย่างไร มาดูกัน
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นส่วนใหญ่ ก็เพื่อลดอาการปวดเฉพาะที่หลังจากถูกพิษของสัตว์เหล่านี้ ซึ่งแต่ละชนิดก็มีวิธีการที่แตกต่างกันไป
หากท่านถูก “แมงป่อง” กัด
- ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด
- รีบทำการประคบเย็นครั้งละประมาณ 10 นาทีเพื่อลดอาการบวมเฉพาะที่ ถ้ามีอาการปวดสามารถให้รับประทานยาแก้ปวด กลุ่มพาราเซตามอลได้
- เข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น มีอาการแน่นหน้าอก อาการแพ้รุนแรง ให้รีบมาโรงพยาบาล หรือ อาจเรียกรถพยาบาลไปรับ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย
หากท่านถูก “ตะขาบ” กัด
- ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด
- ให้ทำการประคบอุ่นครั้งละประมาณ 10 นาทีเพื่อลดอาการบวมเฉพาะที่ถ้ามีอาการปวดสามารถให้รับประทานยาแก้ปวด กลุ่มพาราเซตามอลได้
- เข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น มีอาการแน่นหน้าอก อาการแพ้รุนแรง ให้รีบมาโรงพยาบาล หรือ อาจเรียกรถพยาบาลไปรับ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย
หากท่านถูก “งู” กัด
- ให้รีบล้างแผลบริเวณที่ถูกกัดให้สะอาด ห้ามกรีดบาดแผลให้หรือดูดเลือดออกจากบาดแผลโดยเด็ดขาด
- ห้ามกินยาบรรเทาอาการปวดที่มีส่วนผสมของแอสไพริน เพราะจะไปเสริมฤทธิ์ให้พิษงูทำงานเร็วยิ่งขึ้น
- พยายามอยู่นิ่งๆ และเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด
- ใช้ผ้ายืดหรือหาผ้าสะอาดพันรอบอวัยวะที่ถูกกัดโดย พันจากส่วนปลาย ขึ้นมายังบาดแผลที่ถูกกัดและดามด้วยของแข็งเพื่อลดการเคลื่อนไหวของบริเวณที่ถูกกัด
- ห้ามทำการขันชะเนาะ เพราะหากทำผิดวิธีอาจทำให้มีอันตรายมากขึ้น
- รีบเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที
- นำซากงูไปด้วย หากสามารถนำไปได้
คุณศิริกาญจน์ เต่าทอง
ผู้จัดการแผนกฉุกเฉินและอุบัติเหตุ
ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา
ผู้จัดการแผนกฉุกเฉินและอุบัติเหตุ
ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา