โรคลมพิษ หรืออาการ “ลมพิษ” เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัยที่หลายคนรู้จักดีหรือเคยเป็นลมพิษกันมาบ้าง โรคลมพิษนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยลักษณะพิเศษเฉพาะที่เห็นได้ชัดของโรค คือ มี ผื่นแดง หรือ ปื้นนูนแดง ที่ชัดเจน และมีอาการคันร่วมด้วย ซึ่งอาการดังกล่าวส่วนมากจะขึ้นทั่วทั้งร่างกาย แต่มีบางรายที่ขึ้นเพียงบางส่วนของร่ายกาย เช่นเดียวกับบางรายมีอาการเพียงระยะเวลาอันสั้นไม่กี่ชั่วโมงก็หาย แต่บางรายก็อาจจะเป็นทุกวันหรือเป็นนานเป็นปี ที่เรียกว่า “ลมพิษชนิดเรื้อรัง”
สาเหตุและปัจจัยในการเกิดโรคลมพิษ
โรคลมพิษมีสาเหตุและปัจจัยการเกิดได้จากหลายอย่าง อาจเกิดขึ้นจากการแพ้สารบางชนิดจากการรับประทาน เกิดจากการสัมผัส การสูดดม หรือจากการฉีดเข้าไปในร่างกาย ซึ่งสาเหตุสำคัญๆ ที่ก่อให้เกิดลมพิษแบ่งได้ดังนี้
อาหารที่ทำให้เกิดโรคลมพิษ
ประเภทของอาหารที่ทำให้เกิดลมพิษมีมากมาย สามารถพบได้ เช่น
- อาหารจำพวกโปรตีน เช่น กุ้ง ปลา หอย ไข่ ถั่ว นม หรือแม้แต่ผลไม้
- สารปรุงแต่งอาหารหรือขนม เช่น สีผสมอาหาร โดยเฉพาะสีเหลืองหรือสีเขียวที่มักใช้สีประเภท Tartrazine จึงพบในพวกสลิ่ม ขนมด้วง ข้าวพอง ฟักเชื่อม ชาจีน ขนมชั้น ถั่วกวน วุ้นหวานกรอบ ครองแครง อมยิ้ม ฝอยทองกรอบ
- ผักและผลไม้บางอย่างที่มีสารประเภท Salicylate ซึ่งเป็นตัวก่อให้เกิดลมพิษได้ เช่น แอปเปิ้ล แตงกวา มันฝรั่ง มะเขือเทศ มะนาว พริกไทย ส้ม เป็นต้น
- อาหารและเครื่องดื่มที่มียีสต์ เช่น ขนมปัง เหล้า เบียร์
การแพ้จนเป็นลมพิษจากอาหารเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยที่สุด ดังนั้นจึงควรสังเกตอย่างละเอียดและหาสาเหตุการแพ้จากการรับประทานอาหารดังกล่าว เพื่อการหลีกเลี่ยง
ยาที่ทำให้เกิดโรคลมพิษ
ยาเป็นสาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการเกิดลมพิษ ซึ่งอาจเกิดทันทีภายหลังได้รับยาชนิดนั้น เช่น
- ยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะพวก เพนิซีลินซัลฟา
- ยาแก้ปวด ยานอนหลับ
- สารทึบแสงที่ใช้ในการตรวจทางเอกซเรย์
- วิตามินบางชนิด
การแพ้หลังจากฉีดหรือรับประทานยาจะสังเกตได้ง่าย แต่บางรายอาจใช้เวลานานเป็นเวลา 7-10 วัน ซึ่งอาจสังเกตอาการแพ้ได้ยาก
แมลงที่ทำให้เกิดโรคลมพิษ
อาจก่อให้เกิดลมพิษได้ทั้งจากการสัมผัสหรือการโดนกัดต่อย เช่น
- จากการสัมผัส เช่น ไรแมว ไรสุนัข ไรนก และบุ้ง
- จากการกัดต่อย เช่น ผึ้ง แตน ต่อ หมาร่า มดแดงไฟ มดตะนอย
ซึ่งบางครั้งอาจมีอาการรุนแรง ทั้งลมพิษ และบวมทั้งตัว หรือช็อก บางรายอาจเสียชีวิตในเวลาอันสั้นมากหลังถูกต่อย
อากาศที่ทำให้เกิดโรคลมพิษ
- แสงแดด ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดลมพิษเมื่อถูกแสงแดดบางช่วงของวัน ซึ่งมีความยาวของคลื่นแสงเฉพาะ เมื่อถูกแสงแดดแล้วเกิดผื่นขึ้นมา อาจแก้ไขได้โดยหลีกเลี่ยงการออกแดดในเวลานั้นๆ หรือใช้ครีมกันแดด
- ความเย็น เช่น เวลาถูกอากาศเย็น อาบน้ำเย็น ผู้ป่วยบางรายรับประทานน้ำแข็งอาจเกิดอาการบวมในบริเวณคอ หายใจลำบาก หรือเกิดจากการมีโรคบางอย่าง เช่น ซิฟิลิส หรือมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง
- สารในอากาศ เช่น ฝุ่นบ้าน เชื้อราในอากาศ เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ เมื่อสูดสารเหล่านี้เข้าไปมากๆ อาจก่อให้เกิดลมพิษได้
ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคลมพิษ
- เหงื่อ บางคนเกิดลมพิษภายหลังออกกำลังกายมาก หรือเหงื่อออกมาก ลมพิษชนิดนี้มักเป็นเม็ดเล็กๆ เกิดบริเวณแขน ขา มากกว่าบริเวณลำตัว
- อารมณ์และสภาพจิตใจ ในบางรายเกิดลมพิษภายหลังมีอารมณ์ผิดปกติ จากความโกรธ เครียด กังวล มักเป็นลมพิษชนิดเรื้อรัง
- การขีดข่วน เกิดจากแรงขูดบนผิวหนัง ผู้ป่วยบางรายมีผิวหนังไวต่อรอยขูดข่วนบนผิวหนัง ทำให้เกิดรอยนูนคันตามบริเวณที่ถูกรอยขูดข่วนภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที การคันและเกาก็ยิ่งเพิ่มรอยและคันมากขึ้น
- โรคติดเชื้อ สามารถก่อให้เกิดลมพิษได้เช่นกัน
- พยาธิในลำไส้ เป็นสาเหตุได้บ่อย เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิตัวแบน เชื้อบิด
- การติดเชื้อในส่วนอื่นของร่างกาย เช่น เชื้อราในช่องคลอด
- ฟันผุ ก็อาจเป็นสาเหตุของลมพิษได้ การรักษาหรือถอนฟันผุออกก็อาจทำให้อาการลมพิษหายไปในผู้ป่วยบางราย
- โรคร่วมอื่นๆ โรคบางอย่างทำให้ผู้ป่วยเกิดลมพิษร่วมได้ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ลมพิษเกิดได้จากมากหมายหลายสาเหตุ อาการมีตั้งแต่ไม่รุนแรง เช่น การแพ้อาหาร ไปจนถึงอาจเป็นอาการร่วมของโรคร้ายบางอย่าง โดยทั่วไปอาการลมพิษจะไม่รุนแรงและอาจหายเอง เมื่อสารที่ก่อให้แพ้นั้นถูกกำจัดออกจากร่างกาย แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการเรื้อรังก็ควรจะได้รับการตรวจโดยละเอียด เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งแพทย์จะซักประวัติโดยละเอียด ทำการตรวจร่างกาย ตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ หรือตรวจสารเคมีในเลือด และบางรายอาจต้องทำการทดสอบการแพ้บริเวณผิวหนังด้วย