โรคเบาหวานคืออะไร
เบาหวาน เป็นภาวะของโรคที่เกิดจากระดับน้ำตาลในกระแสเลือดมีปริมาณสูงขึ้น ขณะที่เนื้อเยื่อของร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลนั้นไปใช้เป็นพลังงานได้ตามปกติ ซึ่งโดยปกติแล้วน้ำตาลจะเข้าสู่เซลส์ของร่างกายโดยการควบคุมของฮอร์โมนอินซูลิน และเมื่อน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ในที่สุดก็จะล้นออกมาในปัสสาวะ ทำให้สามารถตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะได้ การมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานนั้น จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ ได้แทบทุกระบบ เช่น ตา ไต ระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
การวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
การวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ สามารถทำได้โดยการตรวจระดับกลูโคสในพลาสม่า ดังนี้
- ในกรณีมีอาการโรคเบาหวานชัดเจน จะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน เมื่อระดับกลูโคสในพลาสม่ามากกว่า 200 มก./ดล. เพียง 1 ครั้ง
- ในกรณีที่ไม่มีอาการเลย ระดับพลาสม่ากลูโคสหลังอดอาหารครบ 8 ชั่วโมง ต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก./ดล. 2 ครั้ง ค่าระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) ≥ 6.5 ขึ้นไป ระดับกลูโคสระหว่าง 100-125 มก/ดล. ถือว่าผิดปกติ มีความเสี่ยงสูงที่อาจเกิดโรคเบาหวานได้ ควรได้รับการตรวจต่อเนื่องเป็นระยะ
หลักการควบคุมเบาหวาน
การควบคุมโรคเบาหวานประกอบด้วย การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การรักษาโดยการใช้ยา การควบคุมโรคเบาหวานอย่างเข้มงวดจะช่วยป้องกันอาการและการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรมารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับยา และตรวจหาอาการแทรกซ้อนต่างๆ เพื่อรับการรักษาและควบคุมอาการตั้งแต่ระยะแรก
ตารางแสดงระดับเป้าหมายและความถี่ของการตรวจที่จำเป็นในผู้ป่วยเบาหวาน
รายการตรวจ | ความถี่ในการตรวจ | เป้าหมายของการตรวจ |
ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหาร | ทุก 1-3 เดือน | 80-120 มก./ดล. |
น้ำตาลเฉลี่ยสะสมHbA1c | ทุก 3 เดือน | ≤ 7% |
ไขมันแอลดีแอล (LDL-cholesterol) | อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง | < 100 มก./ดล |
ไขมันไตรกลีเซอไรด์(Triglyceride) | อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง | < 150 มก./ดล |
อัลบูมินในปัสสาวะ(Microalbumin) | อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง | ตรวจไม่พบอัลบูมิน |
ครีอาตินีน(Creatinine) | อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง | ผลอยู่ในเกณฑ์ปกติ |
คลื่นไฟฟ้าหัวใจ(EKG) | อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง | ผลอยู่ในเกณฑ์ปกติ |
การตรวจจอประสาทตา | อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง | ผลการตรวจปกติ |
การตรวจความดันโลหิต | ทุก 1-3 เดือน | < 130/80 mmHg |
การตรวจเท้า | อย่างน้อยทุก 3-6 เดือน | ผลการตรวจปกติ |
น้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1c)
น้ำตาลเฉลี่ยสะสม เป็นค่าปริมาณน้ำตาลที่จับรวมกับโปรตีนในเม็ดเลือดแดง เป็นค่าที่บอกถึง ระดับน้ำตาลในเลือดโดยเฉลี่ย ในช่วง 8-12 สัปดาห์ ก่อนการตรวจ เป็นค่าที่ใช้ประเมินผลการควบคุมเบาหวานได้ดีกว่าการตรวจน้ำตาลในเลือดเพียงอย่างเดียว
อัลบูมินในปัสสาวะ
ภาวะไตเสื่อมในระยะต้นๆ จะไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ การตรวจทางห้องปฎิบัติการ โดยการตรวจปัสสาวะจะเริ่มพบอัลบูมินหรือไข่ขาวในปัสสาวะ ดังนั้นการตรวจไข่ขาวในปัสสาวะจึงมีความสำคัญมากในการที่จะพบความผิดปกติของไตในระยะแรกเริ่ม
ครีอาตินีน(Creatinine)
เป็นการตรวจเลือดเพื่อประเมินสมรรถภาพของไตนั้น ไตจะต้องเสื่อมมากกว่าร้อยละ 70 ระดับของสารพิษสะสมจึงเริ่มมีมากขึ้นให้วัดได้
การตรวจจอประสาทตา
ระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจทำให้เกิดความเสื่อมในหลอดเลือดขนาดเล็กที่จอรับภาพด้านหลังของดวงตา ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้ ภาวะเบาหวานขึ้นตาสามารถรักษาได้ด้วยการยิงเลเซอร์ การตรวจและรักษาโดยเร็วจะป้องกันจอรับภาพเสื่อมได้
การตรวจเท้า
ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีปัญหาเรื่องเส้นประสาทที่ปลายเท้าเสื่อม ซึ่งหากมีการบาดเจ็บที่เท้า อาจไม่ทราบหรือไม่รู้สึก นอกจากนี้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงปลายเท้าในผู้ป่วยเหล่านี้มักตีบตัน ทำให้สารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงบริเวณเท้าลดน้อยลง ดังนั้นการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยจึงอาจกลายเป็นแผลร้ายแรงที่รักษาได้ยาก หากขาดการดูแลรักษาจากแพทย์ แผลนั้นอาจรุนแรงจนถึงขั้นต้องตัดเท้า
แอล ดี แอล คอเลสเตอรอล (LDL cholesterol)
มีไขมันคอเลสเตอรอลที่มากเกินไปจะสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย เช่น หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดการตีบตันของหลอดเลือด และเกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ ส่วน แอล ดี แอล คอเลสเตอรอล เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงตีบแข็ง พบว่า ระดับ แอล ดี แอล คอเลสเตอรอล ยิ่งสูง ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจมากขึ้น