บอกลา แผลคีลอยด์ โดยไม่ทิ้งร่องรอยของความเจ็บปวด

พญาไท 2

1 นาที

ศ. 11/06/2021

แชร์


Loading...
บอกลา แผลคีลอยด์ โดยไม่ทิ้งร่องรอยของความเจ็บปวด

แผลคีลอยด์กวนใจ มองไปทีไรความมั่นใจลดลงไปทุกที หลายคนอยากห่างไกลจากคำว่า “แผลคีลอยด์” เพราะนอกจากจะสร้างความเจ็บบนรอยแผลแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปก็ทิ้งร่องรอยเอาไว้สะท้อนความเจ็บปวดอีก โชคดีว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีและความสามารถของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สามารถทำให้เราบอกลาแผลคีลอยด์ได้อย่างง่ายดาย ช่วยนำความมั่นใจกลับคืนมาได้อย่างเต็มเปี่ยม โดยไม่มีผลข้างเคียงต่อส่วนอื่นของร่างกายเลย

 

คีลอยด์ คืออะไร ?

คีลอยด์ จัดอยู่ในประเภทของรอยแผลเป็นชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นแผลนูนมีการขยายใหญ่ออกนอกขอบเขตบาดแผลเดิม แผลจะมีสีที่แตกต่างกันออกไป เช่น สีแดง สีคล้ำ สีช้ำ บริเวณแผลเป็นส่วนใหญ่จะมีอาการคัน บางคนมีอาการเจ็บ รู้สึกผิวตึงรั้งร่วมด้วย แม้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ แต่ส่งผลด้านความสวยงามและสภาพจิตใจได้

 

สาเหตุการเกิดแผลคีลอยด์

โดยทั่วไปผิวหนังมีกระบวนการซ่อมแซมบาดแผลตามธรรมชาติ 3 ระยะด้วยกัน ซึ่งสาเหตุของการเกิดแผลคีลอยด์ มาจากความผิดปกติของกระบวนการรักษาแผล คือมีการสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจนที่มากเกินไป จนเกิดความไม่สมดุลของคอลลาเจนและเกิดเป็นแผลนูนในที่สุด

 

แผลคีลอยด์ อันตรายไหม ?

เนื่องจากแผลคีลอยด์เกิดจากความผิดปกติของกระบวนการรักษาแผลตามธรรมชาติของร่างกาย คือมีการสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจนบางชนิดมากเกินไป โดยไม่พบเซลล์ที่มีรูปร่างผิดปกติอื่นๆ ดังนั้น แม้จะปล่อยให้ก้อนแผลมีขนาดใหญ่ขึ้น ก็จะไม่พบการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ที่ไม่ดีหรือมะเร็งแต่อย่างใด ปัญหาหลักจึงคงเป็นรูปลักษณ์ที่เกิดขึ้นทำให้แลดูไม่สวยงาม จนทำให้ขาดความมั่นใจในการเผยผิว

 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดแผลคีลอยด์ ?

  • เชื้อชาติ แผลคีลอยด์พบในคนผิวสีมากกว่าคนผิวขาว
  • ประวัติทางพันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติการเป็นแผลคีลอยด์ได้ง่าย หรือบางคน เกิดแผลคีลอยด์ตั้งแต่วัยเด็ก จะมีแนวโน้มการเกิดแผลคีลอยด์ง่ายในอนาคต ควรระวังเป็นพิเศษ
  • ตำแหน่งที่เป็นแผล บริเวณผิวหนังที่มีการตึงรั้งเยอะ มีโอกาสเกิดแผลคีลอยด์มากขึ้น เช่น บริเวณหัวไหล่ หน้าอกและหลังส่วนบนจากการบีบสิว และอีกตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือ ใบหู ตั้งแต่ติ่งหูจนถึงกระดูกอ่อนของใบหูจากการเจาะหูเพื่อความสวยงาม

 

วิธีป้องกันแผลคีลอยด์

เพราะปัญหาในการรักษาแผลคีลอยด์ คือ มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูง สิ่งที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้เกิดแผลคีลอยด์ โดยเฉพาะในตำแหน่งที่มีความเสี่ยงสูง

  • เมื่อเกิดแผล เริ่มดูแลตั้งแต่แรกที่เกิดแผล เพราะกระบวนการรักษาแผลตามธรรมชาติของร่างกายจะเกิดขึ้นทันที ควรหลีกเลี่ยงการลูบ จับบ่อยๆ บริเวณที่เกิดแผล ไม่แกะสะเก็ดแผลออกก่อน เพราะจะส่งผลต่อการซ่อมแซมผิว ทำให้แผลหายช้าได้
  • แผลที่มีการอักเสบมาก น้ำเหลืองไหลซึม หรือแผลที่มีการติดเชื้อ เป็นหนอง จะส่งผลทำให้ระยะเวลาของกระบวนการรักษาแผลในช่วงเวลาสั้นๆ ภายในสัปดาห์แรกของร่างกายยาวนานขึ้น จึง มีโอกาสเกิดแผลคีลอยด์ได้มากขึ้น แนะนำให้ทายาเพื่อป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ
  • เมื่อแผลแห้ง สามารถเลือกใช้ยาทารักษารอยแผลเป็นต่างๆ ที่มักมีส่วนประกอบของ Silicone gel ช่วยให้แผลมีความชุ่มชื้น ส่งผลดีต่อกระบวนการสร้างเซลล์ผิว ยาที่มีสารสกัดจากหัวหอม (Allium cepa) ที่มีฤทธิ์ลดอาการอักเสบ จะเสริมสร้างกระบวนการซ่อมแซมผิวหนังได้ดีขึ้น

 

รักษาแผลคีลอยด์ด้วยตัวเองได้ไหม ?

หากแผลคีลอยด์เพิ่งเริ่มนูนเล็กน้อย สามารถดูแลด้วยตัวเองก่อนได้ เพราะยังตอบสนองต่อการรักษา แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานจนแผลมีขนาดใหญ่นูนแข็งมาก จะทำให้ไม่เห็นผลในการรักษา สามารถใช้ Silicone gel ในรูปแบบแผ่นปิดแผลปิดทับที่แผลโดยตรง แผ่นแปะจะช่วยกดทับแผลไม่ให้เซลล์ขยายยืดตัวขึ้น เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ซ่อมแซมแผลให้ดีขึ้น ควรปิดไว้ให้นานที่สุดอย่างน้อย 12 ชั่วโมงต่อวัน แกะออกเฉพาะเวลาอาบน้ำ แต่จะไม่สามารถปิดแนบผิวได้ในบริเวณที่มีความโค้งนูนหรือมีการขยับบ่อย

 

การรักษาแผลคีลอยด์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

แนวทางในการรักษาแผลเป็นคีลอยด์มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับลักษณะของแผลคีลอยด์ที่เกิดขึ้น

  • การฉีดยาสเตียรอยด์ (Intra lesional corticosteroid) เป็นการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน ซึ่งแพทย์จะใช้ยา Triamcinolone acetonide ฉีดเข้าไปในบริเวณที่เป็นแผลคีลอยด์โดยตรง ตัวยามีฤทธิ์ลดการอักเสบ กดการทำงานของเซลล์ผิวทุกชนิด หลังฉีด แผลคีลอยด์จะยุบลง มีความนุ่มขึ้น หายเจ็บหายคัน สามารถผสมยาชาเพื่อลดความเจ็บในระหว่างฉีดได้ ระยะห่างในการฉีดยาประมาณ 4-6 สัปดาห์ เมื่อแผลคีลอยด์ดีขึ้นสามารถติดตามการรักษาในระยะเวลาที่ห่างขึ้นได้
  • การผ่าตัด เป็นวิธีการตัดแผลออกหรือลดขนาดของแผลเป็นให้เล็กลง แพทย์และคนไข้มักเลือกวิธีผ่าตัดต่อเมื่อให้การรักษาเบื้องต้นแล้วผลลัพธ์ไม่ดีเท่าที่ควร หรือใช้กับแผลคีลอยด์บริเวณตำแหน่งที่ผ่าตัดได้ เช่น แผลคีลอยด์ติ่งหูที่มีขนาดใหญ่มาก โดยตัดออกทั้งหมดหรือตัดบางส่วนออกให้เล็กลง และจำเป็นต้องใช้ร่วมกับวิธีการรักษาอื่นต่อไป เพราะยังมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้ถึงจะผ่าออกไปแล้วก็ตาม
  • ผ้ายืดที่ตัดเพื่อกดทับบาดแผล (Pressure garment therapy) โดยใส่ทับบริเวณแผลคีลอยด์เข้าไปให้แนบแน่น เพื่อป้องกันไม่ให้แผลนูนซ้ำ มักใช้หลังจากเพิ่งผ่าตัดในช่วงแรก
  • การรักษาด้วยเลเซอร์ เป็นทางเลือกในการรักษา โดยใช้เลเซอร์ความยาวช่วงคลื่นที่มีผลต่อหลอดเลือดหรือความยาวช่วงคลื่น 1064 ซึ่งลงใต้ผิวหนังได้ลึกขึ้น ส่งผลต่อการเรียงตัวของคอลลาเจน

 

รักษาแผลคีลอยด์ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด…

การรักษาแผลเป็นคีลอยด์ คนไข้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีผลข้างเคียงในระบบอื่นของร่างกาย หลังจากการรักษาแผลคีลอย์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ บริเวณที่เป็นแผลคีลอยด์จะยุบลงกลับมาใกล้เคียงเดิม การดูแลรักษาแผลคีลอยด์หลังการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นอย่างดีจะช่วยลดโอกาสในการเกิดแผลเป็นคีลอยด์ซ้ำได้ ทั้งนี้ผลลัพธ์ของการรักษานั้นจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับวิธีการรักษา แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนัง เพื่อวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม


นัดหมายแพทย์

แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ



Loading...
Loading...