ความอ้วน ไม่ได้แค่ทำให้เรามีรูปร่างไม่สมส่วน หรือทำลายความมั่นใจในการใช้ชีวิตเท่านั้น แต่ความอ้วนยังส่งผลเสียต่อสุขภาพ และหากปล่อยไว้ก็อาจทำให้ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก และเป็นสาเหตุที่ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้มากขึ้น นั่นเองจึงเป็นเหตุที่เราทุกคนควรดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีเพื่อไม่ให้เกิด “ภาวะน้ำหนักเกิน” (Overweight) จนนำไปสู่การเป็น “โรคอ้วน” (Obesity) ที่จะเปิดประตูให้โรคอื่นๆ เข้ามาทำร้ายทำลายชีวิต โดยแนวทางในการดูแลตัวเองให้รอดพ้นจากภัยของโรคอ้วนนั้น มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ เราต้องรู้ตัวเองก่อนว่า เราอ้วนแล้วหรือยัง?
คำนวณดัชนีมวลกายพิสูจน์ง่ายๆ ว่าเราอ้วนแล้วหรือยัง?
ในการจะบอกว่าเราเข้าสู่ภาวะโรคอ้วนแล้วหรือยัง หรืออ้วนมากน้อยแค่ไหนนั้น จะใช้การคำนวณดัชนีมวลกาย หรือ BMI (Body Mass Index) เป็นตัวตัดสิน ซึ่งสูตรในการคำนวณ ก็คือ “น้ำหนักตัว [กิโลกรัม] / (ส่วนสูง[เมตร]2)” โดยค่าตัวเลข BMI จะเป็นเกณฑ์ที่บอกว่า เรามีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมหรือไม่ ดังต่อไปนี้
- BMI 18.5 – 22.9 น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- BMI 23 – 24.9 ภาวะน้ำหนักเกิน
- BMI ≥ 25 – 29.9 อ้วนระดับ 1
- BMI ≥ 30 ขึ้นไป อ้วนระดับ 2
ทั้งนี้ การจัดระดับของค่า BMI ข้างต้น เป็นไปเพื่อให้เห็นถึงความรุนแรงของโรคอ้วนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น หรืออธิบายง่ายๆ ก็คือ ยิ่งค่า BMI ของเราสูงมากเท่าไร โอกาสที่จะเกิดโรคเรื้อรังอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากโรคอ้วนก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย โดยโรคที่สามารถเกิดได้และเป็นอันตรายเมื่อเราอ้วนมากๆ ก็เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ ไขมันพอกตับ ถุงน้ำรังไข่ เข่าเสื่อม โรคนอนกรน เป็นต้น
รักษาอย่างไร เมื่ออ้วนเกินไป BMI สูงกว่ามาตรฐาน?
- Lifestyle Modification เป็นการรักษาในระดับเบื้องต้นที่สำคัญที่สุด ซึ่งก็คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวเองในเรื่องการกินอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย เลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพในปริมาณที่เหมาะสม เลิกบุหรี่และสุรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ด้วยตัวเอง แต่ในบางรายที่มีปัญหาสุขภาพหรือโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับทีมนักกำหนดอาหาร และนักกายภาพบำบัด เพื่อวางแผนการดูแลสุขภาพแบบเฉพาะบุคคล ทั้งการคำนวณสารอาหารตามความต้องการ และการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุขภาพของแต่ละคน
- Medication เป็นการรักษาโดยการใช้ยา ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น ยาที่นำมาใช้ในการลดน้ำหนัก ปัจจุบันมีอยู่หลายประเภท ทั้งรูปแบบยากินและยาฉีด การเลือกใช้ยาลดน้ำหนักอย่างเหมาะสมควรพิจารณาเป็นรายบุคคล ทั้งจากประวัติการรักษา ค่า BMI และโรคประจำตัว ไม่แนะนำให้ซื้อยาใช้เอง เพราะอาจเกิดอันตรายจากการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสมหรือเกิดผลข้างเคียงรุนแรงตามมาได้
- Surgery เป็นการรักษาโดยการผ่าตัด จะพิจารณาทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีค่า BMI สูงๆ และหรือมีโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนที่รุนแรง หรือล้มเหลวในการรักษามาแล้วทุกวิธีข้างต้น การรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ เช่น Sleeve Gastrectomy, Roux-En-Y Gastric Bypass โดยศัลยแพทย์เฉพาะทางจะประเมินวิธีการรักษาเป็นรายบุคคล ซึ่งจะพิจาณาจากสภาวะสุขภาพ ความเสี่ยงก่อนการผ่าตัด และวางแผนร่วมกันกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยระยะยาวจนถึงหลังการผ่าตัด
สรุปแนวทางในการรักษาโรคอ้วนเบื้องต้น
- 23 – 26.9 BMI (กก./ม.2) โรคประจำตัวที่เกี่ยวข้อง : ไม่มี, การรักษา : Lifestyle Modification
- ≥ 27 BMI (กก./ม.2) โรคประจำตัวที่เกี่ยวข้อง : มี, การรักษา : Lifestyle Modification, Medication
- ≥ 30 BMI (กก./ม.2) โรคประจำตัวที่เกี่ยวข้อง : ไม่มี, การรักษา : Lifestyle Modification, Medication
- ≥ 32.5 BMI (กก./ม.2) โรคประจำตัวที่เกี่ยวข้อง : มี, การรักษา : Lifestyle Modification, Medication, Surgery
- ≥ 37.5 BMI (กก./ม.2) โรคประจำตัวที่เกี่ยวข้อง : ไม่มี, การรักษา : Lifestyle Modification, Medication, Surgery
ความน่ากลัวของโรคอ้วน คือการเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังอื่นๆ ตามมา อันจะลดทอนคุณภาพชีวิตให้แย่ลง และมีโอกาสเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น หากวันนี้คำนวณดูแล้วพบว่าค่า BMI ของเราเกินมาตรฐาน ก็ควรหันกลับมาตั้งใจดูแลสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำ Lifestyle Modification ปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตให้กลับมามีสุขภาพที่ดีขึ้น และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
โดยหลักการสำคัญของการควบคุมน้ำหนัก คือ “สมดุลแคลอรี” กินให้สัมพันธ์กับระบบเผาผลาญของร่างกาย และควรเลือกรูปแบบอาหารแบบ Sustainable Diet หรือการกินแบบมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน เหมาะกับสุขภาพของเรา และกินได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่การปรับเปลี่ยนการกินมากเกินไปแต่ทำได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งถ้าลองปรับพฤติกรรมดูแล้วแต่ยังล้มเหลวในการลดน้ำหนักก็สามารถเข้ามาพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและเข้ารับการรักษาจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะเป็นการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพและร่างกายของแต่ละบุคคล โดยคำนึงถึงความปลอดภัยภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิด อันจะส่งผลลัพธ์ที่ดีอย่างยั่งยืน
แพทย์ประจำศูนย์ตรวจสุขภาพ และศูนย์ควบคุมน้ำหนัก และโภชนบำบัด
คลินิกตรวจสุขภาพทั่วไป
โรงพยาบาลพญาไท 3