หลายคนคงคุ้นเคยกับคำว่า อิ๊กซี่ (Intracytoplasmic Sperm Injection : ICSI) มากกว่าคำว่าเด็กหลอดแก้ว (Invitro Fertilization : IVF) แต่อิ๊กซี่เป็นเพียงขั้นตอนในการปฏิสนธิระหว่างไข่กับอสุจิในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วเท่านั้น ซึ่งวิธีนี้แพทย์จะเลือกอสุจิที่มีคุณภาพดีใต้กล้องจุลทัศน์ และนำอสุจิตัวนั้นยิงเข้าไปในเซลล์ไข่ โดยการทำอิ๊กซี่จะเพิ่มโอกาสการได้ตัวอ่อนสูงขึ้นถึง 90% เมื่อเทียบกับวิธีการทำ IVF ซึ่งเป็นวิธีดั่งเดิมที่ให้ไข่กับอสุจิผสมกันเอง
ข้อดีของการทำ ICSI หรือ อิ๊กซี่
- เพิ่มโอกาสที่จะได้ตัวอ่อนมากขึ้น โดยเฉพาะคู่สมรสที่มีปัญหาเรื่องคุณภาพของอสุจิ
- ลดการปนเปื้อนของเซลล์พี่เลี้ยง เมื่อคู่สมรสต้องการตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรมของตัวอย่างด้วยวิธี NGS หรือ Next Generation Sequencing ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถตรวจความผิดปกติของโครโมโซมได้
- เพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ เนื่องจากได้ตัวอ่อนเพิ่มขึ้นในรายที่มีคุณภาพอสุจิไม่ดี
ICSI (อิ๊กซี่) ช่วยผู้ที่มีปัญหาในเรื่องใดบ้าง?
- ปัญหาฝ่ายชายที่มีคุณภาพอสุจิไม่แข็งแรงหรือมีภาวะเป็นหมัน
- ปัญหาของฝ่ายหญิงที่อายุมาก ไข่อาจจะผสมกับอสุจิโดยธรรมชาติได้ยากมากขึ้น หรือมีปัญหาที่ท่อนำไข่ เช่น เคยผ่าตัด หรืออุดตัน
- ในรายที่คู่สมรสทำ IVF แบบดั่งเดิม แล้วมีการปฏิสนธิน้อยหรือไม่เกิดการปฏิสนธิ
- ในคู่สมรสที่มีความจำเป็นต้องตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรมด้วยวิธี NGS (Next Generation Sequencing)
ปัจจัยเสี่ยงของความล้มเหลวที่พบบ่อย
- คุณภาพของไข่ ซึ่งอาจเป็นผลจากการกระตุ้นรังไข่ในคุณผู้หญิงที่อายุมาก ซึ่งคุณภาพไข่มักจะลดลงไปเรื่อยๆ ตามอายุ
- คุณภาพของอสุจิ ดังนั้นหากอสุจิคุณภาพไม่ดี ควรพบแพทย์ เพื่อแก้ไขก่อนเริ่มกระบวนการ ICSI
- คุณภาพของตัวอ่อนที่ได้มักจะเป็นผลตามมาจากคุณภาพของไข่และอสุจิ
ขั้นตอนการทำอิ๊กซี่ มีหลายขั้นตอนที่เหมือนการทำเด็กหลอดแก้วทั่วไป คือ
- ตรวจคัดกรองเพื่อหาสาเหตุภาวะมีบุตรยากและโรคต่างๆ ที่สามารถส่งผลต่อเด็กในอนาคต
- กระตุ้นรังไข่ด้วยการฉีดฮอร์โมน
- กระบวนการเจาะเก็บไข่
- กระบวนการทำอิ๊กซี่
- เลี้ยงตัวอ่อน 5-6 วัน และตรวจ NGS หรือ Next Generation Sequencing เป็นเทคโนโลยีที่สามารถตรวจความผิดปกติของโครโมโซม
- ย้ายตัวอ่อนรอบสดเข้าโพรงมดลูก
- แช่แข็งตัวอ่อน
- เตรียมโพรงมดลูกเพื่อย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง
โอกาสสำเร็จของการทำ ICSI โดยเฉลี่ยทุกช่วงอายุของคู่สมรส จะอยู่ที่ประมาณ 40-50% โดยอายุน้อยจะมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น อายุมากให้ความสำเร็จที่ลดลง ซึ่งปัญหาหลักที่ทำให้ความสำเร็จไม่สูง อาจจะเป็นเพราะตัวอ่อนมีพันธุกรรมที่ผิดปกติ
ดังนั้นหากได้รับการตรวจคัดกรองโรคพันธุกรรมของตัวอ่อนด้วยวิธี NGS อาจเพิ่มโอกาสสำเร็จอีก 20-30% ในรายที่มดลูกปกติหรือสมบูรณ์ดี จะทำให้มีโอกาสสำเร็จมากขึ้นถึง 80%
นพ. ธีรยุทธ์ จงวุฒิเวศย์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญพันธุ์
ศูนย์รักษาภาวะมีบุตรยาก โรงพยาบาลพญาไท 2