ดูแลลูกอย่างไร เมื่อต้องเรียนออนไลน์ในยุคโควิด

พญาไท 3

1 นาที

ศ. 08/10/2021

แชร์


Loading...
ดูแลลูกอย่างไร เมื่อต้องเรียนออนไลน์ในยุคโควิด

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 โรงเรียนต่างๆ ได้มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้อยู่ในระบบออนไลน์ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ และให้เด็กๆ ได้มีการเรียนอย่างต่อเนื่องไม่ขาดช่วง

 

แม้การเรียนออนไลน์จะช่วยให้เด็กๆ และครอบครัวปลอดภัยจากการติดเชื้อ ทั้งยังเป็นโอกาสที่คนในครอบครัวจะได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้น พ่อแม่ได้คอยส่งเสริมและสนับสนุนลูกๆ ในด้านการเรียน ทำให้เด็กได้เรียนหรือมีกิจกรรมโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น แต่การเรียนออนไลน์ก็ยังได้รับการกล่าวถึงในเรื่องประสิทธิภาพ เนื่องจากต้องมีอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่พร้อม มีสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะกับรูปแบบ อีกทั้งครูและนักเรียน รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องมีความรู้และทักษะในการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีอยู่พอสมควร

 

จากการศึกษาปัญหาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศพบว่า การเรียนออนไลน์ส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งด้านสุขภาพร่างกาย ด้านสุขภาพจิต รวมถึงพฤติกรรมและวิธีการเรียนรู้

 

ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของประเทศสหรัฐอเมริกา ยังบอกด้วยว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ วัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี ถึงร้อยละ 63 จะมีความวิตกกังวล ซึมเศร้า หรือทั้งสองอย่างร่วมกัน ซึ่งนับเป็นปัญหาที่ต้องดูแลเอาใจใส่

 

การเรียนออนไลน์ส่งต่อสุขภาพของเด็กๆ อย่างไรบ้าง

1. ผลกระทบด้านสุขภาพร่างกาย

  • เด็กอาจมีอาการปวดตา มีปัญหาด้านสายตา ปวดเมื่อย ปวดหลัง เนื่องจากต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสารเป็นเวลานาน
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้น เนื่องจากกิจกรรมการเคลื่อนไหวหรือการออกกำลังกายน้อยลง ไม่เหมือนการเรียนที่โรงเรียนในสถานการณ์ปกติ
  • รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา พักผ่อนและนอนน้อยลง อาจเพราะมีการบ้านเพิ่มขึ้น รวมถึงขาดการฝึกวินัยในการเข้านอน ไม่ต้องตื่นเช้า และมีเวลารับประทานอาหารทั้งวัน

2. ผลกระทบด้านสุขภาพจิต พฤติกรรม และการเรียนรู้ของเด็ก

  • เด็กรู้สึกเบื่อ ไม่มีสมาธิ และขาดแรงจูงใจในการเรียน เนื่องจากการเรียนออนไลน์จะประยุกต์การจัดกิจกรรมและฝึกปฏิบัติการให้เหมือนที่ทำในโรงเรียนได้ค่อนข้างยาก
  • รู้สึกเหนื่อยล้า เนื่องจากต้องเรียนอยู่หน้าจอตลอดเวลา มีการบ้านมาก และส่งครูด้วยวิธีการที่ต่างไปจากเดิม การทำการบ้านหรือทำงานกลุ่ม หากเด็กต้องการความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ก็ทำได้ยากกว่าการเรียนที่โรงเรียน
  • สมองไม่ได้ประมวลผลข้อมูลเหมือนวิธีเรียนที่มีปฏิสัมพันธ์กัน เช่น การแสดงสีหน้าท่าทาง การสบตา ภาษากาย จังหวะและระดับของเสียงที่พูดคุยกัน เป็นต้น
  • เด็กขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ซึ่งเป็นโอกาสที่เด็กจะได้ฝึกทักษะทางสังคม เด็กบางรายจะรู้สึกวิตกกังวลและมีภาวะซึมเศร้า
  • การเรียนออนไลน์ ผู้ปกครองต้องคอยกำกับดูแล โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ทำให้ผู้ปกครองมีความเครียดเพิ่มขึ้น ด้วยทั้งสถานการณ์ ปัญหาเศรษฐกิจ และความรับผิดชอบที่ต้องดูแลเด็ก บางคนต้องทำการบ้านให้เด็ก และเด็กก็ได้รับผลกระทบจากความเครียดของผู้ปกครองด้วย
  • สภาพแวดล้อมที่บ้านไม่เหมาะสมกับการเรียนออนไลน์ ทำให้เด็กไม่มีสมาธิในการเรียน
  • เด็กที่ต้องสอบเข้าในช่วงชั้นต่อไป เช่น ม.1, ม.4 หรือสอบเข้ามหาวิทยาลัย จะมีความเครียดมากขึ้น เพราะวิตกกังวลเกี่ยวกับการสอบ รวมทั้งการวัดและประเมินผลที่จะต้องนำผลสอบไปใช้

แนวทางการดูแลเด็กในช่วงที่มีการเรียนออนไลน์

  • พ่อแม่ควรวางแผน จัดตารางกิจกรรมในแต่ละวันร่วมกับลูก ทั้งช่วงการเรียน การรับประทานอาหาร ช่วงที่ต้องทำงานบ้าน การพักผ่อน และการออกกำลังกาย หากเป็นเด็กโตและวัยรุ่นอาจให้จัดเอง โดยพ่อแม่คอยส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแล
  • จัดสิ่งแวดล้อมในบ้าน มุมสงบให้เป็นสถานที่เฉพาะสำหรับการเรียนของเด็ก เพื่อช่วยให้เด็กมีสมาธิในการเรียนมากขึ้น
  • ครูจัด Platform การเรียน ตารางเรียน ระบบสื่อ เนื้อหาการสอน การบ้าน ปรับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเด็ก ในเด็กโตอาจเน้นวิธีการเรียนที่เด็กจะเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
  • ให้เด็กได้เว้นช่วงการเรียน พักจากหน้าจอเป็นระยะๆ ไปทำกิจกรรมอื่นๆ บ้าง
  • พ่อแม่ควรชวนลูกออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายในด้านต่างๆ
  • พ่อแม่ควรหาวิธีคลายเครียด พูดคุยกับลูก ทำกิจกรรมที่สนุกๆ ร่วมกัน
  • พ่อแม่ควรกำกับและควบคุมในเรื่องวินัยของลูก เช่น การตื่นนอน การรับประทานอาหาร เวลาเรียน และเวลาเข้านอนให้ตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก
  • ให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในห้องเรียนในรูปแบบออนไลน์

 

จะเห็นได้ว่า เมื่อเด็กๆ ต้องเรียนออนไลน์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ย่อมส่งผลกระทบในด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ และการเรียนรู้ไม่มากก็น้อย พ่อแม่ผู้ปกครองและคุณครูจึงต้องหมั่นดูแลเอาใจใส่ เพื่อให้เด็กได้เรียนอย่างมีความสุข ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะสม หาวิธีการส่งเสริมสุขภาพกายและใจ เพื่อให้เด็กๆ ได้มีพัฒนาการทางสติปัญหาและอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตในช่วงที่ต้องเผชิญกับวิกฤตนี้

 

 

พญ.นพวรรณ ศรีวงค์พานิช

กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม

ศูนย์สุขภาพเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพญาไท 3


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...