เสี่ยงเบาหวานหรือไม่? เลือกวิธีตรวจคัดกรองเบาหวานที่ตอบโจทย์

พญาไท นวมินทร์

1 นาที

ศ. 12/11/2021

แชร์


Loading...
เสี่ยงเบาหวานหรือไม่? เลือกวิธีตรวจคัดกรองเบาหวานที่ตอบโจทย์

“คนชอบกินหวาน จะต้องเป็นเบาหวาน”… คำกล่าวนี้ไม่จริงเสมอไป เพราะโรคเบาหวานไม่ได้เกิดจากการกินหวานโดยตรง แต่เกิดจากร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้ไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ตามปกติ จึงทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ฉะนั้นการกินหวานจึงเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการเกิดโรค หากท่านมีความเสี่ยงนี้ร่วมกับความเสี่ยงอื่นๆ การตรวจคัดกรองเบาหวานจะช่วยให้ท่านควบคุมความเสี่ยงและรอดพ้นจากโรคเบาหวานได้ดีขึ้น

ตรวจคัดกรองเบาหวาน สำคัญกับทุกคน

เพราะโรคเบาหวานในระยะแรกๆ หรือระยะก่อนเป็นมักไม่มีอาการแสดงให้เรารู้ตัว การตรวจคัดกรองเบาหวานเท่านั้นจะทำให้เรารู้ว่า ระดับน้ำตาลในเลือดใกล้สูงจนถึงจุดที่จะเป็นโรคเบาหวานหรือยัง ซึ่งเป็นการช่วยลดความเสี่ยง เพราะเราสามารถปรับพฤติกรรมเพื่อการป้องกันโรคได้ ในกรณีที่ตรวจพบว่าเป็นเบาหวานแล้ว หากเป็นในระยะแรกๆ การเข้าสู่กระบวนการรักษาเร็วก็จะให้ผลการรักษาที่ดีกว่าการมาตรวจพบเมื่อเป็นมากแล้ว

ใครบ้างที่ต้องตรวจคัดกรองเบาหวาน?

ในความเป็นจริงแล้ว มีปัจจัยมากมายที่จะทำให้เกิดโรคเบาหวาน ซึ่งหากคุณเป็นคนที่มีหลายความเสี่ยงรวมกัน ก็ยิ่งควรเข้ารับการตรวจให้เร็ว สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงจะประกอบไปด้วย…

  • ผู้ที่มีประวัติครอบครัว พ่อแม่ พี่น้อง ญาติสายตรง เป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน คือ มีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 กก./ม.2 หรือ ผู้ชายที่มีเส้นรอบเอวมากกว่า 90 ซม. และผู้หญิงที่มีเส้นรอบเอวมากกว่า 80 ซม.
  • ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
  • ผู้ที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง
  • ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • ผู้ที่เคยมีประวัติคลอดทารกน้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 4 กิโลกรัม
  • ผู้ที่ชอบรับประทานอาหาร และเครื่องดื่มที่มีรสหวานเป็นประจำ
  • ผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย

ตรวจคัดกรองเบาหวาน คือการตรวจอะไร?

เนื่องจาก “โรคเบาหวาน” เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติ วิธีการตรวจที่นิยมมากที่สุดจึงเป็นวิธีการเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ (LAB) ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว และให้ค่าที่แม่นยำ

ทำความรู้จักกับ 4 วิธี การตรวจคัดกรองเบาหวาน

  1. การตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในพลาสมาช่วงอดอาหาร (FPG)

คือการเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในพลาสมา (Fasting plasma glucose test: FPG) เป็นการตรวจอันดับแรกๆ ที่นิยมใช้ ผู้ที่มารับการตรวจต้องอดอาหารก่อนเจาะเลือด 8 ชม. ซึ่งค่าต่างๆ จะแปรผลได้ดังนี้

  • ค่าระดับน้ำตาลที่ปกติจะอยู่ระหว่าง 70-99 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ค่าระดับน้ำตาลที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานจะอยู่ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ค่าระดับน้ำตาลที่อาจถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานคือ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป

บางกรณีที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงไม่ถึง 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่มีปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน แพทย์อาจพิจารณาให้ตรวจคัดกรองเบาหวานด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม

  1. การตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในพลาสมาช่วงเวลาปกติ

การตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในพลาสมาช่วงเวลาปกติ (Casual plasma glucose) เป็นการตรวจเบาหวานโดยวัดระดับน้ำตาลในเลือด โดยผู้ที่มารับการตรวจไม่ต้องอดอาหารมาก่อน

ระดับน้ำตาลกลูโคสในการตรวจด้วยวิธีนี้ ไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากมากกว่านี้จะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน

  1. การตรวจน้ำตาลสะสมในเลือดฮีโมโกลบิน (HbA1c)

การตรวจฮีโมโกลบิน (Hemoglobin A1c: HbA1c) เป็นหนึ่งในการตรวจเลือดที่สำคัญสำหรับติดตามและวินิจฉัยโรคเบาหวาน

การตรวจเบาหวานด้วยวิธีนี้เป็นการวัดค่าเฉลี่ยของการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในช่วง 6-12 สัปดาห์ที่ผ่านมา ว่ายา อาหาร และพฤติกรรมของคุณสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้หรือไม่ เนื่องจากอายุขัยเฉลี่ยของเซลล์เม็ดเลือดจะอยู่ที่ประมาณ 3 เดือน

หากระดับน้ำตาลยังไม่ลดลงหรือคุมไม่อยู่ แพทย์อาจทำการปรับยาให้ การตรวจนี้ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร ค่าของการตรวจฮีโมโกลบินจะถูกแปรผลออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ ดังนี้

  • น้อยกว่า 5.7% ถือว่าปกติ
  • อยู่ระหว่าง 5.7-6.4% ถือว่าเสี่ยงเป็นเบาหวาน
  • มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5% อาจถือว่าเป็นโรคเบาหวาน

แต่การทดสอบนี้อาจให้ผลคลาดเคลื่อนได้ในสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ จึงอาจต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผล

  1. การทดสอบความทนต่อกลูโคส (OGTT)

การทดสอบความทนต่อกลูโคส (The oral glucose tolerance test: OGTT) โดยให้ดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลกลูโคส หลังจากดื่มไปแล้ว 2 ชั่วโมง จึงตรวจระดับน้ำตาลในเลือด หากพบว่าสูงกว่า 200 มก./ดล. ถือว่าเป็นเบาหวาน

เกณฑ์การวัดผลมีดังนี้

  • น้อยกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าปกติ
  • อยู่ระหว่าง 140-199 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
  • มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อาจถูกวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน

แม้ว่าแพทย์จะวินิจฉัยจากผลการตรวจเลือดแล้วว่าเป็นเบาหวาน แต่หากเรามีข้อสงสัยในผลการตรวจ ก็สามารถปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่เป็นผู้รักษาเราโดยตรง เพราะผู้ป่วยแต่ละคนมีเป้าหมายของระดับน้ำตาลในเลือด และความถี่ในการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแตกต่างกัน  ซึ่งแพทย์เฉพาะทางจะให้คำแนะนำและคำปรึกษาได้อย่างถูกต้องชัดเจนที่สุด

โรคเบาหวาน นับเป็นภัยเงียบที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของเรา แต่เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ด้วยการ “ดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจ” ต้องเอาชนะใจตัวเองให้ได้ โดยการพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หมั่นออกกำลังกาย และเลือกรับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ และสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ “การตรวจคัดกรองเบาหวาน” อย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค หรือหากพบโรคก็จะได้รักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ ที่ยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน

เพียงแค่เรา “ปรับกายให้แข็งแรง…ปรับใจให้แข็งแกร่ง”

“เบาหวาน” ก็จะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเราได้


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...