ปวดฟัน เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
อาการปวดฟัน ส่วนมากมักเกิดจากรอยโรคฟันผุ โดยลักษณะอาการปวดขึ้นอยู่กับระดับความลึกของรอยโรคฟันผุ เมื่อเป็นรอยโรคฟันผุแบบตื้นๆ อาจมีอาการเสียวฟันเวลาดื่มน้ำเย็นหรือกินอาหารหวาน โดยรู้สึกนานเป็นวินาที แต่ถ้ารอยโรคฟันผุลึกถึงระดับเนื้อฟัน อาจมีอาการแสดงตั้งแต่เสียวฟันจนถึงระดับปวดตื้อๆ เป็นนาที
ในกรณีที่รอยโรคฟันผุลึกใกล้หรือทะลุเส้นประสาทฟัน ก็อาจมีอาการปวดฟันแบบตุ๊บๆ ระดับปานกลางถึงรุนแรง ตามสภาวะการอักเสบและการติดเชื้อของเส้นประสาทฟันในโพรงประสาทฟันของฟันซี่นั้นๆ
อาการแบบไหนที่ต้องเข้ารับการรักษาคลองรากฟัน
อาการปวดฟัน สามารถจำแนกอย่างง่ายๆ ได้เป็น 2 แบบ คือ
- อาการปวดฟันที่เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งกระตุ้น (stimulating pain) ส่วนมากมักมีอาการปวดไม่รุนแรง อาทิ ปวดแบบจี๊ดๆ เวลาดื่มน้ำเย็นหรือกินของหวาน หรือปวดแบบหนึบๆ เมื่อมีเศษอาหารติดซอกฟัน หลังจากนั้นอาการก็จะหายได้เองเมื่อได้กำจัดสิ่งกระตุ้นไปแล้ว
- อาการปวดฟันที่เกิดขึ้นแม้ไม่มีสิ่งกระตุ้น (spontaneous pain) ซึ่งอาการปวดอย่างหลังนี้จะมีระดับการปวดที่รุนแรงกว่า โดยมีลักษณะปวดแบบตุ๊บๆ ไปจนถึงปวดแบบร้าวไปทั่วบริเวณรอบๆ จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาคลองรากฟันอย่างเร่งด่วน หรือทานยาแก้ปวดร่วมกับยาปฏิชีวนะเพื่อบรรเทาอาการปวดเสียก่อน
การรักษาคลองรากฟันมีขั้นตอนอย่างไร และต้องใช้ระยะเวลานานเท่าไหร่
จำนวนครั้งและระยะเวลาของการรักษาคลองรากฟันนั้นขึ้นอยู่กับสภาวะการอักเสบและการติดเชื้อของคลองรากฟันเป็นสำคัญ หากมีการอักเสบเพียงเล็กน้อยสามารถให้การรักษาคลองรากฟันชนิดครั้งเดียวเสร็จได้
ในทางกลับกัน หากมีการติดเชื้อรุนแรง อาจจำเป็นต้องทำการรักษาหลายครั้ง เพื่อกำจัดสภาวะการติดเชื้อให้ดีเสียก่อน โดยมีขั้นตอนการรักษาตามมาตรฐานการกำจัดภาวะการติดเชื้อในคลองรากดังต่อไปนี้
การรักษาคลองรากฟันครั้งแรก
- ฉีดยาชาเฉพาะที่ในบริเวณฟันที่ต้องทำการรักษาคลองรากฟัน
- ใส่แผ่นยางกั้นน้ำลายร่วมกับตัวหนีบแผ่นยางกั้นน้ำลายและทำความสะอาดพื้นผิวแผ่นยางกั้นน้ำลายด้วย Tincture iodine ความเข้มข้น 10% และ Alcohol 75%
- กรอกำจัดรอยโรคฟันผุและกรอเปิดทางเข้าสู่คลองรากฟันด้วยหัวกรอความเร็วสูง
- หาตำแหน่งทางเข้าสู่คลองรากฟันในฟันที่ทำการรักษาและกำจัดเนื้อเยื่อเส้นประสาทฟันที่ติดเชื้อด้วยเครื่องมือตะไบขนาดเล็ก (endodontic file)
- วัดความยาวรากฟันขณะทำงานด้วยเครื่องวัดความยาวรากฟัน อาจมีการถ่ายภาพรังสีฟันเพิ่มเติม เพื่อยืนยันความยาวรากฟันขณะทำงาน
- ทำความสะอาดคลองรากฟันด้วยเครื่องมือตะไบขนาดเล็กที่หมุนด้วยมอเตอร์ (endodontic rotary file
- ล้างคลองรากฟันด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโซเดียมไฮโปคลอไรด์ และน้ำยาอีดีทีเอ เพื่อกำจัดเชื้อที่อาจหลงเหลืออยู่ในคลองรากฟัน
- ใส่ยาฆ่าเชื้อแคลเซียมไฮดรอกไซด์เข้าไปในคลองรากฟัน โดยรอให้ยาฆ่าเชื้อออกฤทธิ์เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์
- อุดปิดผนึกทางเข้าสู่คลองรากฟันชั่วคราวด้วยวัสดุอุดชั่วคราว 2 ชั้น
การรักษาคลองรากฟันครั้งที่สอง
- สอบถามอาการของฟันซี่ที่รักษาร่วมกับการตรวจสภาพฟัน เหงือกรอบซี่ฟันและวัสดุอุดฟันชั่วคราวบนตัวฟันก่อน ซึ่งอาจพิจารณาฉีดยาชาเฉพาะที่ร่วมด้วยก่อนเริ่มขั้นตอนต่อไป
- ใส่แผ่นยางกั้นน้ำลายร่วมกับตัวหนีบแผ่นยางกั้นน้ำลายและทำความสะอาดพื้นผิวแผ่นยางกั้นน้ำลายด้วย Tincture iodine ความเข้มข้น 10% และ Alcohol 75% เช่นเดียวกับการรักษาครั้งแรก
- เปิดทางเข้าสู่คลองรากอีกครั้งโดยรื้อวัสดุอุดชั่วคราวออก
- ล้างคลองรากฟันด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโซเดียมไฮโปคลอไรด์และน้ำยาอีดีทีเอ แล้วซับคลองรากฟันให้แห้
- หากคลองรากฟันแห้ง สะอาด ปราศจากหนอง สามารถอุดคลองรากฟันด้วยวัสดุอุดคลองรากฟันร่วมกับซีเมนต์ยึดติด
- อุดผนึกทางเข้าสู่คลองรากฟันชั่วคราวด้วยวัสดุอุดชั่วคราว 2 ชั้น เพื่อรอการบูรณะฟันต่อไป
หลังจากรักษารากฟันต้องมีกระบวนการต่ออย่างไร
ในฟันที่ผ่านการรักษาคลองรากฟันเรียบร้อยแล้ว มีความจำเป็นต้องได้รับการบูรณะฟันอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันเนื้อฟันที่เหลือไม่ให้เกิดการแตกหัก สามารถใช้งานบดเคี้ยวได้ตามปกติและมีความสวยงามใกล้เคียงฟันธรรมชาติ โดยการบูรณะฟันที่เหมาะสมนั้นควรเป็นการบูรณะที่ครอบคลุมปุ่มฟัน ซึ่งจำเป็นต้องใส่เดือยฟันและก่อแกนฟัน (post and core build up) โดยทันตแพทย์ผู้ให้การบูรณะจะเป็นผู้พิจารณาก่อนเริ่มการบูรณะ
- เดือยฟัน (POST) มีลักษณะเป็นแท่งที่ประกอบด้วยเส้นใยไฟเบอร์จำนวนมากรวมกัน ซึ่งใส่เข้าไปในคลองรากฟัน เพื่อเป็นหลักยึดสำหรับแกนฟัน
- แกนฟัน (CORE) เป็นวัสดุบูรณะฟันเพื่อทดแทนโครงสร้างฟันที่สูญเสียไปและเป็นหลักยึดสำหรับครอบฟัน
หากไม่ทำครอบฟันหลังรักษารากฟันจะส่งผลเสียอย่างไร
การบูรณะฟันหลังรักษาคลองรากฟัน ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพื่อให้ฟันซี่ที่ทำการรักษาสามารถใช้งานบดเคี้ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีความสวยงามเหมือนฟันธรรมชาติ ซึ่งการบูรณะฟันสามารถทำได้หลายวิธี อาทิ ครอบฟัน (dental crown) หรือครอบฟันบางส่วน (onlays/ overlays) ซึ่งการบูรณะฟันหลังรักษารากฟันที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ได้รับการบูรณะฟันอย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้เกิดการแตกหักของเนื้อฟันธรรมชาติที่เหลืออยู่ โดยระดับของการแตกหักดังกล่าวขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น
- ความหนา-บางของเนื้อฟันที่เหลือ
- แรงบดเคี้ยวที่มากระทำกับฟัน
- ประเภทของอาหารที่รับประทาน เป็นต้น
ในกรณีที่มีการแตกหักของเนื้อฟันลึกลงไปใต้เหงือก ทำให้ฟันซี่ดังกล่าวไม่สามารถบูรณะฟันต่อไปได้ ซึ่งจำเป็นต้องถอนฟันซี่ดังกล่าวออก ดังนั้น หลังรักษาคลองรากฟันเสร็จเรียบร้อยแล้ว แนะนำให้รีบบูรณะฟันให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
คำแนะนำหลังจากรักษารากฟัน
- หลังทำการรักษา อาจมีอาการปวดตึงๆ ระดับปานกลางอยู่ประมาณ 2-3 วัน แนะนำให้กินยาแก้ปวดพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม (Paracetamol 500 mg) 1-2 เม็ด หลังทำทันที และกินต่อเนื่อง 2-3 วัน ครั้งละ 1 เม็ดทุก 4-6 ชั่วโมง หรือ กินไอบูโพเฟน 400 มิลลิกรัม (Ibuprofen 400 mg) 1 เม็ด หลังอาหารทันที ซึ่งอาจจำเป็นต้องกินยาต่อเนื่อง 2-3 วัน ครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารแข็ง เหนียว กรอบ ระหว่างการรักษาคลองรากฟัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแตกหักของเนื้อฟันธรรมชาติที่เหลืออยู่
- สามารถแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดได้ตามปกติ
- หากมีอาการปวดนานมากกว่า 2-3 วัน ควรสอบถามทันตแพทย์ที่ให้การรักษา เพื่อประเมินและรับการบรรเทาอาการปวดดังกล่าว
- ในกรณีที่มีสภาวะการติดเชื้อของเส้นประสาทฟันระดับรุนแรง อาจจำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ (Amoxycillin 500 mg ครั้งละ 1 แคปซูล หลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็นและก่อนนอน โดยกินร่วมกับ Metronidazol 400 mg ครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหารเช้า-กลางวัน- เย็น) ซึ่งทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาจะเป็นผู้พิจารณาจ่ายยาดังกล่าวให้
- หลังการรักษาคลองรากฟันเสร็จสิ้น และฟันซี่ที่รักษาไม่มีอาการใดๆ ควรรีบนัดหมายเพื่อรับการบูรณะฟันซี่นั้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ฟันร้าวมีอาการอย่างไร มีขั้นตอนการรักษาอย่างไร
ฟันร้าว (cracked tooth) เกิดจากความล้าของโครงสร้างฟันที่ผ่านการใช้งานที่สมบุกสมบันในการกัดหรือเคี้ยวอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีความแข็ง เหนียวหรือกรอบ ร่วมกับมีการบูรณะฟันด้วยวัสดุบูรณะขนาดใหญ่ ส่วนมากมักมีอาการตั้งแต่เสียวฟันเวลาดื่มน้ำเย็นจนถึงปวดฟันแบบตุ๊บๆ เวลากัดหรือเคี้ยวอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารแข็ง เหนียวหรือกรอบ ซึ่งมักจะมีระยะเวลาการมีอาการนานเป็นนาที
ในการตรวจวินิจฉัยฟันร้าวมีความซับซ้อนกว่าการตรวจวินิจฉัยรอยโรคฟันผุ เนื่องจากไม่สามารถตรวจระดับความลึกของรอยร้าวในฟันด้วยตาเปล่าได้ จำเป็นต้องอาศัยการถ่ายภาพรังสีฟัน 3 มิติร่วมกับการถ่ายภาพรังสีฟัน เพื่อประเมินอาการข้างเคียงร่วมด้วย
สำหรับการรักษาฟันร้าวขึ้นอยู่กับระดับความลึกของรอยร้าว ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับดังนี้
- ระดับรอยร้าวยังไม่ไปถึงโพรงประสาทฟัน ให้การรักษาด้วยการยึดส่วนฟันที่ร้าวไว้ด้วยสารยึดติดและวัสดุอุดสีเหมือนฟัน ร่วมกับการทำครอบฟันเพื่อครอบคลุมตัวฟันทั้งหมดไว้
- ระดับรอยร้าวลึกไปถึงโพรงประสาทฟัน จำเป็นต้องยึดส่วนฟันที่ร้าวไว้ก่อนดังข้อ 1 และเริ่มรักษาคลองรากฟัน ก่อนบูรณะฟันต่อไปด้วยการทำครอบฟัน
- ระดับรอยร้าวลึกไปถึงคลองรากฟัน แต่ยังไม่มีการแตกหักของรากฟัน พิจารณาให้การรักษาตามข้อ 2 หากรอยร้าวลุกลามจนไปขั้นรากฟันแตก อาจพิจารณาถอนฟันแล้วใส่ฟันทดแทนต่อไป
ทพ. ศุภศันส์ ทิศทวีรัตน์
ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาเอ็นโดดอนต์
ศูนย์ทันตกรรม โรงพยาบาลพญาไท 2