เคยสังเกตตัวเองไหมว่า! ในแต่ละวันคุณใช้เวลากับการนั่งไปกี่ชั่วโมง? ไม่ว่าจะนั่งรถ นั่งทานอาหาร นั่งทำงาน จะ WORK FROM HOME หรือทำงานที่ออฟฟิศ รวมไปถึงการนั่งพักผ่อน โดยเฉพาะตอนนั่งทำงานก็มักไม่ค่อยได้ขยับสะโพก ไม่มีการขยับเปลี่ยนท่า จนบางวันเงยหน้ามาอีกทีก็ล่วงเลยเวลาที่ควรพักไปแล้วหลายชั่วโมง
รู้ไหม? ยิ่งนั่งนาน ยิ่งเสี่ยงโรค…
- ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน
- แก่กว่าไว เพราะเซลล์เสื่อมสภาพเร็ว
- ปวดคอ บ่า ไหล่ สไตล์ออฟฟิศซินโดรม
- โรคหลอดเลือดหัวใจ
- หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
- กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท
ปวดแบบไหน? เข้าข่ายกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท
กลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท หรือ Piriformis Syndrome เกิดจากกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสบริเวณก้นใกล้กับสะโพกไปกดทับเส้นประสาทไซอาติกที่อยู่ใกล้กัน ส่งผลให้รู้สึกปวดลึกๆ บริเวณก้นร้าวไปยังขาด้านหลัง และรู้สึกเจ็บเมื่อกดในบริเวณดังกล่าว ในบางกรณีอาจมีอาการชาร่วมด้วย ซึ่งอาการจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อนั่ง หรือยืนท่าเดิมเป็นระยะเวลานานๆ
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท
- ผู้ที่หักโหมออกกำลังกายมากเกินไป
- ผู้ที่ชอบวิ่งหรือทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวขาอย่างต่อเนื่องติดกันนานๆ
- ผู้ที่นั่งเป็นเวลานานๆ นั่งบนพื้นผิวแข็งๆ บ่อยๆ
- ผู้ที่ยกของหนักเป็นประจำ
- ผู้ที่เคยมีอาการกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ
- ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อสะโพก เช่น ลื่นล้ม ตกบันได จักรยานล้ม
หากคุณเป็นกลุ่มคนเหล่านี้ก็มีโอกาสเสี่ยงกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทมากกว่าคนทั่วไป และเมื่อเป็นแล้วจะรักษาอย่างไรดี? การเริ่มทำ “กายภาพบำบัด” อาจเป็นวิธีแรกๆ ที่แพทย์แนะนำ
กายภาพบำบัด ช่วยลดอาการปวดสะโพก
ในกรณีที่มีอาการไม่รุนแรงมากนัก ยังเคลื่อนไหวร่างกายได้ และยังควบคุมระบบการขับถ่ายได้เป็นปกติ วิธีการรักษาที่จะช่วยบรรเทาความเจ็บได้อย่างปลอดภัยก็คือ “การกายภาพบำบัด” โดยส่วนใหญ่ก็จะใช้การอัลตร้าซาวด์บริเวณกล้ามเนื้อ piriformis เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว ก็จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดลงได้ ซึ่งควรทำควบคู่ไปกับการยืดกล้ามเนื้อ และการประคบร้อนเป็นประจำด้วยตนเอง และอีกสิ่งที่สำคัญก็คือการหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้อาการเจ็บปวดกำเริบขึ้นมา แต่หากใช้การรักษาด้วยการกายภาพบำบัดแล้วยังไม่ดีขึ้นก็ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณาการใช้ยา หรือการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
วิธีบรรเทาอาการปวดสะโพกด้วยการยืดกล้ามเนื้อ
- ให้นอนราบกับพื้นแล้วชันเข่าขึ้นทั้ง 2 ข้าง
- ยกข้อเท้าซ้ายมาวางพาดไว้บนเข่าขวา
- ใช้มือดึงเข่าขวาเข้าหาอกแล้วค้างไว้ นับ 1-10
- วางขากลับไปชันเข่าเช่นเดิม
- สลับมายกข้อเท้าขวามาวางพาดไว้บนเข่าซ้าย แล้วทำซ้ำในลักษณะเดียวกัน
- เมื่อทำครบทั้งซ้ายและขวา ให้นับเป็น 1 เช็ต
- ทำเช่นนี้ต่อเนื่อง 5-10 เซ็ต ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้