ถ้าพูดถึง “การเดินเร็ว” หลายคนก็คงนึกถึงเทคนิคการออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นการเผาผลาญ หรือการเพิ่มสปีดการเดินในเวลาที่เร่งรีบเร่งด่วน แต่สำหรับผลการศึกษาที่ถูกเปิดเผยบนเว็บไซต์ JAMA Network Open แล้วนั้น การเดินเร็วกลับถูกพูดถึงในแง่ของคุณสมบัติต้านความชรา ที่ไม่เพียงช่วยชะลอวัย…แต่ยังช่วยชะลอความเสื่อมของสมอง หลังผลการตรวจ MRI สมองของผู้เข้าร่วมทดลอง พบว่ากลุ่มที่มีพฤติกรรมการเดินที่ช้ากว่า ปริมาณเนื้อสมองโดยรวมน้อยกว่า สมองส่วนเปลือกนอกบางกว่า ในขณะที่เนื้อสมองส่วนลึกสีขาวกลับมีปริมาณมาก และมองเห็นรอยโรคเล็กๆ หรือที่เรียกว่า White Matter Lesion แล้วสิ่งที่เห็นจากการตรวจ MRI นี้หมายความว่ายังไง? เรามาทำความเข้าใจไปพร้อมกัน!
รู้ไหม? สมองส่วนเปลือกนอกบาง…สัญญาณเสี่ยง “สมองเสื่อม”
เนื้อสมอง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ “เนื้อสมองสีเทา” จะอยู่บริเวณเปลือกนอก และ “เนื้อสมองสีขาว” จะเป็นส่วนลึกที่อยู่ถัดไป ซึ่งเนื้อสมองส่วนสีเทานั้นเป็นเนื้อเยื่อเซลล์ประสาทที่ควบคุมทั้งในเรื่องของการมองเห็น การได้ยิน การรับรู้อารมณ์ ความนึกคิด ความจำ เพราะฉะนั้น การสลายของเนื้อสมองส่วนสีเทาจนเหลือน้อยลงนี้ จึงมีผลต่อภาวะสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นก่อนวัยอันควรได้ และยังพบว่าการสลายหรือการตายของเนื้อสมองนั้น คือปัจจัยหลักสำคัญที่เจอได้บ่อยในผู้ป่วยสมองเสื่อม อย่าง โรคอัลไซเมอร์
สอดคล้องกันกับผลการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ใน Plos One วารสารวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับการศึกษาในกลุ่มผู้สูงวัยอายุมากกว่า 80 ปี แต่ความจำยังดีเทียบเท่าคนอายุ 50-60 ปี พบว่า เนื้อสมองส่วนสีเทานั้นมีขนาดใหญ่กว่าคนในวัยเดียวกัน แต่ด้วยขนาดของเนื้อสมองสีเทาที่เราไม่สามารถอัพไซส์ให้ใหญ่ขึ้นได้ จึงคาดการณ์ว่า เป็นเพราะกระบวนการสลายของเนื้อสมองส่วนนี้ถูกชะลอให้ช้าลง ความเสื่อมถอยของสมองน้อย…กระบวนการทำงานของสมองจึงยังคงมีประสิทธิภาพที่ดีเมื่อเทียบกับตัวเลขอายุขัยของกลุ่มตัวอย่าง
White Matter Lesion รอยโรคเนื้อสมองส่วนสีขาว…คืออะไร?
สำหรับรอยโรคเล็กๆ นี้จะสามารถมองเห็นได้จากการตรวจด้วยวิธี MRI เท่านั้น ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันกับโรคของเส้นเลือดขนาดเล็ก (small vessel disease) หรือการเกิดหลอดเลือดแดงแข็งในเส้นเลือดขนาดเล็กในสมอง ส่งผลทำให้เสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดอุดตันได้ หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ การเดินเร็ว มีส่วนช่วยลดโอกาสการเกิดเส้นเลือดในสมองอุดตันได้ด้วยนั่นเอง
อีกหนึ่งผลการศึกษา พบว่า…ความเร็วในการเดินมีผลต่อความเสื่อมของร่างกาย
Line Jee Hartmann Rasmussen นักวิจัยประจำมหาวิทยาลัย Copenhagen ประเทศเดนมาร์ก ได้เขียนถึงผลการศึกษาชิ้นหนึ่งที่มีการติดตามประเมินสุขภาพของชาวนิวซีแลนด์จำนวน 904 คน ที่เกิดในช่วงปี พ.ศ.2515-2516 โดยติดตามตั้งแต่กลุ่มผู้ร่วมทดลองอายุ 3 ขวบไปจนถึงอายุครบ 45 ปี ประเมินสุขภาพทั้งเรื่องดัชนีมวลกาย ความดันโลหิต ระดับคอเลสเตอรอล รวมถึงไอคิว ความจำ และการเรียนรู้ จากนั้นเปรียบเทียบกับความเร็วในการเดิน พบว่าความเร็วของผู้ที่เดินช้าสุดอยู่ที่ 3.9 ฟุตต่อวินาที และเร็วสุดเฉลี่ย 5.7 ฟุตต่อวินาที ซึ่งข้อมูลที่ได้จากผลการศึกษานี้ ทำให้เห็นว่า…ในผู้ที่มีระดับการเดินช้าลง สัญญาณความเสื่อมของอวัยวะในหลายระบบก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ใบหน้าและผิวพรรณดูเหี่ยวย่นมากกว่า รวมถึงปริมาตรของสมองโดยรวมที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับคนวัยเดียวกันที่มีพฤติกรรมเดินเร็วกว่า
อยากฝึกเดินเร็ว…ต้องเร็วแค่ไหนถึงพอดี!
จากผลการศึกษากว่า 38 ชิ้น ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร British Journal of Sports Medicine แนะนำว่า ระดับความเร็วในการเดินของผู้ที่อายุน้อยกว่า 60 ปี ควรมากกว่า 100 ก้าวต่อนาที หรือคิดเป็นระยะทางประมาณ 4.3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วความเร็วในการเดินที่เราทำอยู่ทุกวันนี้…เร็วพอหรือยัง มาทดสอบตาม 3 Step นี้เลย
Step 1: นำเทปกาว 2 แผ่น มาแปะทำเครื่องหมายบนพื้น โดยเว้นระยะห่างกันประมาณ 6 เมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่ใช้ในการศึกษากับชาวนิวซีแลนด์
Step 2: เดินจากเทปกาวจุดที่ 1 ไปยังเทปกาวจุดที่ 2 โดยระหว่างนั้นจับเวลาเพื่อดูว่าระยะทาง 6 เมตร เราใช้เวลาเดินกี่วินาที
Step 3: นำจำนวนระยะทางมาหารกับเวลา เพื่อคำนวณระยะทางการก้าวเดินเป็นหน่วยเมตรต่อวินาที แล้วหลังจากนั้น นำตัวเลขระยะทางที่ได้มาคำนวณให้หน่วยเป็นเมตรต่อชั่วโมง
อีกหนึ่งวิธีสำหรับคนที่อยากทดสอบความเร็วในการเดินแบบง่ายๆ คือให้นับจำนวนก้าวที่เราเดินในระยะเวลา 10 วินาที แล้วคูณด้วย 6 เพื่อคำนวณเบื้องต้นว่าใน 1 นาที เราสามารถเดินได้มากกว่า 100 ก้าวตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญหรือเปล่า
จากผลการศึกษามากมายทำให้พอเข้าใจได้ว่า “การเดินเร็ว” ไม่เพียงช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญ ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด แต่ยังช่วยควบคุมความดันโลหิต จึงสามารถชะลอความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ได้หลายระบบ ไม่ว่าจะเป็นหัวใจและหลอดเลือด หรือระบบประสาทและสมอง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่เราสามารถทำเป็นประจำได้โดยไม่ต้องรอแพลนออกกำลังกาย ไม่มีค่าใช้จ่าย แถมยังป้องกันได้หลายโรคอีกด้วย
Phyathai Call Center 1772