ผู้หญิงที่อยากตั้งครรภ์ แพทย์มักจะแนะนำอย่างหนึ่งว่า ควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทำไมแพทย์ถึงแนะนำแบบนั้น? วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับหนึ่งในภาวะที่ทำให้เสี่ยงต่อการมีบุตรยากที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน ที่เกี่ยวข้องกับภาวะ PCOS กัน
ภาวะ PCOS คืออะไร?
ภาวะ PCOS (Polycystic ovary syndrome) หรือ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ มักส่งผลให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติ เมื่อไม่มีไข่ให้ตกมาผสมกับสเปิร์ม ก็ไม่มีตัวอ่อนหรือไม่เกิดการตั้งครรภ์ จึงกล่าวได้ว่า PCOS นั้น มีผลต่อการมีบุตรยากอย่างแน่นอน
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นภาวะ PCOS
โดยปกติเราจะพิจารณาว่าคนไข้มีโอกาสเป็นภาวะ PCOS แล้ว เมื่อพบอาการบ่งชี้ 2 ใน 3 ข้อ ดังต่อไปนี้
- ประจำเดือนมาผิดปกติ มาห่างกันมากกว่า 35 วัน หรือไม่มาเลย
- มีฮอร์โมนเพศชายที่สูงขึ้น ซึ่งอาจดูจากลักษณะที่ปรากฏภายนอกร่างกาย เช่น มีสิวขึ้นมาก หน้ามันมากกว่าปกติ ขนขึ้นเยอะผิดปกติ ผมร่วงมากหรือหน้าผากล้านขึ้นไปข้างบนแบบผู้ชาย เป็นต้น ถ้ามีลักษณะเหล่านี้ควรตรวจด้วยการเจาะเลือดอีกครั้ง
- อัลตราซาวด์บริเวณรังไข่ ถ้าเป็นภาวะ PCOS จะเห็นถุงไข่เล็กๆ ปริมาณมากในรังไข่
ภาวะ PCOS ส่งผลต่อการมีบุตรยากอย่างไรบ้าง?
ในแง่ของการมีบุตรนั้น ภาวะ PCOS มีผลต่อการตกไข่ของผู้หญิง ทำให้ไข่ไม่ได้คุณภาพหรือไม่มีไข่ตกมาเลย ซึ่งถ้าไม่มีไข่ก็จะไม่สามารถมีบุตรได้ ส่วนในกรณีที่สามารถตั้งครรภ์ได้แล้ว แต่ยังมีภาวะ PCOS อยู่ ร่างกายที่มีฮอร์โมนเพศชายที่สูงกว่าปกติอาจไปทำให้ฮอร์โมนอื่นๆ ที่มีหน้าที่ช่วยพยุงการตั้งครรภ์ทำงานได้ไม่ดี ซึ่งทำให้มีโอกาสแท้งบุตรได้ง่ายขึ้น หรืออาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด เป็นต้น รวมถึงอาจเป็นต้นเหตุของอาการเรื้อรังอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย ดังนั้นจึงควรรักษาภาวะ PCOS ให้หายก่อนเริ่มการมีบุตรจะดีที่สุด
ความเสี่ยงของภาวะ PCOS ในแง่มุมอื่นๆ
ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปสาเหตุของการเกิดภาวะนี้ที่แน่ชัด เราจึงเน้นการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น โดยส่วนมากผู้ที่มีภาวะนี้ร่างกายจะเกิดอาการดื้ออินซูลินที่มากกว่าปกติ อินซูลินคือฮอร์โมนที่นำน้ำตาลในกระเเสเลือดเข้าไปในเซลล์ เมื่อเกิดอาการดื้ออินซูลินก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสะสมสูงขึ้นไปเรื่อยๆ พอถึงระดับหนึ่งก็จะทำให้เป็นโรคเบาหวานได้ และส่งผลให้ฮอร์โมนเพศชายในรังไข่สูงขึ้นกว่าปกติ ทำให้รังไข่ไม่โตเพียงพอต่อการใช้งาน และเกิดภาวะ “ไม่ตกไข่” ในที่สุด
นอกจากนี้เมื่อฮอร์โมนเพศชายสะสมไปเรื่อยๆ ก็จะไปกระตุ้นให้ร่างกายดื้ออินซูลินมากกว่าเดิม เป็นวัฏจักรวนไปเรื่อยๆ ซึ่งการจะแก้ไขเราจะต้องตัดวงจรนี้ออกไป
ความผิดปกตินี้ นอกจากทำให้น้ำตาลขึ้นแล้ว ก็ยังมีกลุ่มอาการไขมันในเส้นเลือดได้ด้วย อย่างโรคอ้วนหรือภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ กลุ่มพวกนี้เราจะเรียกว่า Metabolic Syndrome คือ กลุ่มที่มีน้ำตาลสูง ความดันสูง ไขมันสูง ซึ่งอาจส่งผลไปสู่โรคหัวใจในอนาคต รวมไปถึงทำให้อัตราการตายสูงขึ้นได้ด้วย
จะเห็นได้ว่าภาวะ PCOS ไม่ได้ส่งผลต่อการมีบุตรยากเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลในหลายมิติ ดังนั้นหากมีปัญหาเหล่านี้ควรได้รับการรักษาเพื่อให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น
แนวทางการรักษาในแง่ของการมีบุตรยาก
- ดูแลตัวเองเบื้องต้นก่อนมาพบแพทย์
-
- ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อปรับการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายให้กลับมาใกล้เคียงปกติ ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ และยังเป็นการป้องกันการผิดปกติ และความเสี่ยงต่างๆ ได้มาก
- ปรับร่างกายให้แข็งแรงโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรือ ทานวิตามินเสริม เช่น วิตามินซี น้ำมันปลา โฟลิกหรือกรดโฟลิกซึ่งก็คือวิตามินบี9 เพื่อช่วยในการตั้งครรภ์
- เข้ามาพบแพทย์
-
- ซักประวัติและตรวจร่างกาย เช่น การเจาะเลือด ตรวจระดับฮอร์โมนต่างๆ ที่มีผลต่อการตั้งครรภ์
- รักษาภาวะ PCOS ด้วยยารักษาเบาหวานที่ออกฤทธิ์ให้อินซูลินทำงานได้ดีขึ้น เพื่อลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือด ซึ่งควรทำควบคู่กับการลดน้ำหนักและการคุมอาหาร
การทำอิ๊กซี่กับภาวะ PCOS
ผู้ที่มีภาวะ PCOS แล้วต้องทำเด็กหลอดแก้วหรืออิ๊กซี่ (ICSI) เวลาที่เก็บไข่ออกมาจะเห็นชัดเจนมากว่าไข่เป็นอย่างไร ซึ่งแพทย์สามารถคัดเลือกไข่ที่มีคุณภาพมาผสมกับเสปิร์ม ในผู้ที่มีภาวะ PCOS แล้วยังไม่ได้ควบคุมอะไรมาเลย ไข่ที่ได้ครึ่งหนึ่งมักไม่ได้คุณภาพ ส่วนอีกครึ่งที่เหลือก็อาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้ แต่ผู้ที่ได้รับการรักษามาแล้ว 1-2 เดือน เวลากระตุ้นไข่ออกมาคุณภาพไข่มักจะดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด
หากต้องการมีลูกให้เร็วขึ้น
ปัญหาที่ชัดเจนของผู้ที่มีภาวะ PCOS ก็คือ “ไม่มีภาวะตกไข่” ดังนั้นเราจึงจะเน้นการรักษาเพื่อให้ได้ไข่ออกมา และไข่ต้องมีคุณภาพมากพอที่จะนำไปใช้ต่อได้ ด้วยการใช้วิธีการกระตุ้นไข่ IUI หรือ IVF ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละคู่ แต่สุขภาพโดยรวมของแต่ละบุคคล
นพ. ธีรยุทธ์ จงวุฒิเวศย์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญพันธุ์
ศูนย์รักษาภาวะมีบุตรยาก โรงพยาบาลพญาไท 2