ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อต้องผ่าตัดรักษาต้อกระจก

พญาไท 2

1 นาที

อ. 15/03/2022

แชร์


Loading...
ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อต้องผ่าตัดรักษาต้อกระจก

ต้อกระจก เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย พบบ่อยในผู้สูงอายุ เมื่อแพทย์ตรวจพบต้อกระจกแล้ว คนไข้สามารถเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการผ่าตัดรักษาได้ โดยต้องพิจารณาถึงความรุนแรงของอาการ สภาพร่างกาย และความพร้อมของช่วงเวลาที่สะดวก โดยควรมีเวลาพักผ่อนเพื่อการฟื้นตัวที่ดีหลังผ่าตัด

การผ่าตัดต้อกระจก ต้องทำและเตรียมตัว ดังนี้

  1. ตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือแพทย์อาจส่งตรวจอื่นๆ ตามความเหมาะสม
  2. วัดค่าเลนส์ทดแทน โดยแพทย์จะใช้เครื่องคำนวณคอมพิวเตอร์มาตรฐานสูงในการตรวจวัด
  3. สำหรับท่านที่มีโรคประจำตัว และมีประวัติแพ้ยา จำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน เพื่อพิจารณาส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทางร่วมดูแลรักษา
  4. หยอดยาป้องกันการติดเชื้อ 1-3 วันก่อนวันผ่าตัด และในวันผ่าตัดให้นำยามาด้วย โดยเก็บยาในตู้เย็นช่องปกติ
  5. ฝึกนอนราบและคลุมโปงประมาณ 30 นาที เนื่องจากขณะผ่าตัด แพทย์จะคลุมผ้าให้ผู้ป่วยลักษณะนี้

การปฏิบัติตัวในวันผ่าตัด

  1. พักผ่อนให้เต็มที่ในคืนก่อนผ่าตัด งดการทำงานหนัก เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย
  2. ล้างหน้า สระผมให้สะอาด งดการแต่งหน้าในวันผ่าตัด
  3. รับประทานยาประจำตัวได้ตามปกติ เว้นยาบางชนิดที่แพทย์ให้งดก่อนผ่าตัด
  4. มาถึงโรงพยาบาลก่อนเวลาผ่าตัดประมาณ 2-3 ชั่วโมง เพื่อหยอดยาก่อนผ่าตัด
  5. สามารถรับประทานอาหารอ่อนๆ ก่อนเข้าห้องผ่าตัดประมาณ 1-2 ชั่วโมง ทั้งนี้ควรรับประทานแค่พอหายหิว
  6. เข้าห้องน้ำทำธุระส่วนตัวให้เรียบร้อยก่อนเข้าห้องผ่าตัด
  7. ขณะผ่าตัด ควรนอนศีรษะนิ่ง ถ้าจะไอจามหรือขยับศีรษะต้องแจ้งแพทย์ก่อนเสมอ

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด

  1. เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้ว แพทย์จะปิดตาข้างที่ได้รับการผ่าตัดไว้ และจะเปิดตาเพื่อหยอดยาในวันรุ่งขึ้น
  2. วันแรกหลังการผ่าตัด ควรหลีกเลี่ยงการก้มหน้า การไอจามแรงๆ หรือการเบ่งถ่าย
  3. หลังผ่าตัด 2 สัปดาห์แรก ให้ทำความสะอาดใบหน้า โดยใช้น้ำเกลือสะอาดที่แพทย์จัดให้ หรืออาจใช้น้ำดื่ม/น้ำต้มสุกที่เย็นแล้วทำความสะอาดใบหน้า การสระผม ควรสระตามร้านและระวังน้ำเข้าตา ควรใส่ที่ครอบตาเวลานอนเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนดวงตา
  4. หลังผ่าตัด 1 เดือนแรก ควรใส่แว่นกันแดด และเลี่ยงการโดนลม ฝุ่น ไม่ควรยกของหนักเกิน 10 กิโลกรัม พักการทำครัว การออกกำลังกาย การทำสวน การเลี้ยงเด็กเล็ก การเลี้ยงสัตว์ที่อาจมาเล่นโดนใบหน้า
  5. หยอดยาตามแพทย์แนะนำ โดยทั่วไปจะมียาป้องกันการอักเสบ และยาป้องกันการติดเชื้อ ผู้ที่มีปัญหาต้อลม หรือตาแห้งอยู่ก่อน สามารถหยอดน้ำตาเทียมร่วมได้
  6. รับประทานอาหารได้ตามปกติ ยกเว้นอาหารรสจัด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  7. มาตรวจตาแพทย์นัด โดยปกติอาการไม่สบายตาจะค่อยๆ ลดลง และระดับการมองเห็นจะดีขึ้นตามลำดับ และคงที่ในเวลาประมาณ 1 เดือน จากนั้นสามารถวัดสายตาเพื่อการตัดแว่นตา
  8. ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ปวดตา ตาแดง ให้มาพบแพทย์ก่อนวันนัดติดตามผลได้

ชนิดเลนส์แก้วตาเทียมที่ควรเลือกตามความเหมาะสม

  1. เลนส์มาตรฐาน ออกแบบมาเพื่อแก้ไขสายตาให้มองไกลชัดขึ้น โดยมีแบบชนิดนิ่ม (พับได้) ลดแสงกระจาย และกรองแสงอัลตร้าไวโอเลตได้
  2. เลนส์แก้ไขสายตาเอียง เหมาะกับผู้ที่ต้องการลดการใช้แว่นอ่านหนังสือ สามารถมองเห็นได้ดีขึ้น ทั้งการมองไกลและมองใกล้
  3. เลนส์มองได้หลายระยะ เหมาะกับผู้ที่ต้องการลดการใช้แว่นอ่านหนังสือ สามารถมองเห็นได้ดีขึ้นทั้งการมองไกลและมองใกล้

แชร์

Loading...
Loading...
Loading...