หลายปีที่ผ่านมา คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งตับมากเป็นอันดับ 1 ของโรคมะเร็งชนิดต่างๆ โดยในแต่ละปี มีผู้ป่วยโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีเฉลี่ยราว 22,000 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตกว่า 16,000 คน ซึ่งมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ มะเร็งของเซลล์ตับ และมะเร็งท่อน้ำดีตับ
ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้น มะเร็งตับ (Hepatocellular carcinoma หรือ HCC) ยังเป็นโรคที่คร่าชีวิตประชากรทั่วโลกมากเป็นอันดับ 2 ของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง ทั้งที่จริงแล้วเราสามารถลดความน่ากลัวของตัวเลขเหล่านี้ได้ ด้วยการปรับพฤติกรรม และการเฝ้าระวังโรคมะเร็งตับด้วยการตรวจคัดกรอง
สาเหตุการเกิดมะเร็งตับ
การเกิดมะเร็งตับ มี 2 สาเหตุหลัก คือ มะเร็งที่เกิดขึ้นจากตับโดยตรง และมะเร็งที่ลามจากอวัยวะส่วนอื่นๆ ซึ่งการเกิดมะเร็งตับโดยตรง ส่วนใหญ่มักเกิดจากโรคตับแข็งที่เกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี พยาธิใบไม้ในตับ การดื่มสุรา นอกจากนี้ ยังเกี่ยวกับภาวะภูมิต้านทานร่างกายต่ำ หรือเกิดจากพันธุกรรมก็มีส่วน
ระยะของมะเร็งตับ พบเร็วรักษาหายได้ดี
มะเร็งตับ แบ่งได้เป็น 5 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 ก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดเล็กก้อนเดียว ขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร หากตรวจพบในระยะนี้ สบายใจได้เลย เพราะสามารถรักษาได้ไม่ยาก
- ระยะที่ 2 ก้อนเนื้อมะเร็งไม่เกิน 3 ก้อน ขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตร เป็นระยะที่สามารถรักษาให้หายขาดได้
- ระยะที่ 3 ก้อนเนื้อมะเร็งหลายก้อน ขนาดโตกว่ามะเร็งระยะที่ 2
- ระยะที่ 4 ก้อนเนื้อมะเร็งโตมาก ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียงตับ หรือเข้าหลอดเลือดดำในท้อง หรือไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ตับ หรือแพร่กระจายตามกระแสเลือด รวมถึงลามไปสู่อวัยวะอื่นๆ ในระยะนี้ต้องเข้ารับการผ่าตัด
- ระยะที่ 5 เป็นระยะที่ผู้ป่วยมีสุขภาพทรุดโทรมมาก นอนติดเตียงเป็นส่วนใหญ่ ตับจะทำงานแย่ลงมาก
สัญญาณเตือนมะเร็งตับที่ไม่ควรมองข้าม
ในระยะแรกของมะเร็งตับอาจไม่มีแสดงอาการใดๆ เพียงแต่มีอาการเบื่ออาหาร แน่นท้อง ปวดท้อง จุดเสียดท้อง ท้องอืด ท้องโต มีน้ำในช่องท้อง น้ำหนักตัวลดลง ตาเหลือง ตัวเหลือง ปวดชายโครงด้านขวา เมื่อคลำอาจพบก้อนที่บริเวณนั้น
เป็นมะเร็งตับหรือไม่ ยิ่งตรวจพบเร็ว ยิ่งรักษาได้ทัน
จากใน 5 ระยะข้างต้น มะเร็งตับระยะที่ 1-2 จะยังแสดงอาการไม่เยอะ เซลล์มะเร็งยังมีขนาดเล็กไม่เกิน 3 เซนติเมตร ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นยิ่งตรวจพบเร็วเท่าไร ก็ยิ่งรักษาได้ง่ายเท่านั้น ส่วนผู้ป่วยที่ตรวจพบมะเร็งในระยะที่ 3 เป็นต้นไป มีโอกาสรักษาให้หายได้เช่นกัน แต่ต้องใช้เวลานานกว่า ซึ่งในบางรายก็รักษาหายขาดได้ยาก
การตรวจวินิจฉัยหามะเร็งตับ
การตรวจหามะเร็งตับสามารถทำได้หลายวิธี บางครั้งแพทย์ต้องใช้การตรวจหลายแบบเพื่อความแม่นยำที่สุด ดังนี้
- การตรวจทางรังสีวิทยา ได้แก่ การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) โดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือใช้การฉีดสารทึบแสงเข้าเส้นเลือดแดงเพื่อหาจุดที่เกิดมะเร็งตับ
- ตรวจโดยการเจาะเลือดหาระดับของสารอัลฟ่าฟีโตโปรตีน (AFP) ซึ่งเป็นสารที่มะเร็งตับประเภทนี้ผลิตออกมา จึงพบได้สูงขึ้นในผู้ป่วยมะเร็งตับ
มะเร็งตับรักษาได้ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง
ปัจจุบันการรักษามะเร็งตับมีหลายทางเลือก ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ และอาการของผู้ป่วย ในกรณีที่ตับยังทำงานได้ดี มะเร็งยังอยู่ในระยะต้นและปานกลางที่ขนาดไม่เกิน 5 เซนติเมตร และยังไม่มีการกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ การผ่าตัดจะให้ผลสำเร็จที่ดีที่สุด
การผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery) เป็นการผ่าตัดผ่านรูเล็กๆ บริเวณหน้าท้อง ที่ได้รับการยอมรับจากแพทย์ทั่วโลกและได้รับความนิยมสูง เนื่องจากเป็นการผ่าตัดขนาดเล็ก เสียเลือดระหว่างผ่าตัดน้อย เจ็บปวดน้อยกว่า และใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน
ข้อดีของการรักษาโรคมะเร็งตับด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการผ่าตัดใหญ่ได้ เช่น เคลื่อนไหวและลุกเดินลำบาก แผลปริ-แผลแยก และลำไส้อุดตันที่เป็นปัญหาระยะยาวของผู้ป่วยหลายๆ คน เพราะการผ่าตัดส่องกล้องจะกระทบกระเทือนอวัยวะภายในน้อยกว่าการผ่าตัดเปิดแผล
ทั้งนี้ การผ่าตัดส่องกล้องยังใช้รักษาโรคมะเร็งได้ดี ทั้งมะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหารระยะต้นถึงปานกลาง มะเร็งในมดลูก-รังไข่ และมะเร็งทางนรีเวชอื่นๆ ซึ่งแพทย์ผู้รักษาต้องมีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดส่องกล้อง ร่วมกับมีทักษะการใช้กล้องและอุปกรณ์เป็นอย่างดี ซึ่งการผ่าตัดส่องกล้องที่โรงพยาบาลพญาไท 2 แพทย์จะใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับได้รับการรักษาตามมาตรฐานที่ดีที่สุด
หลังผ่าตัดมะเร็งตับ ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?
เนื่องจากการผ่าตัดส่องกล้องเป็นการผ่าตัดขนาดเล็ก ที่มีแผลบริเวณหน้าท้องประมาณ 5 จุด หลังผ่าตัดใน 1-2 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนภายใน ผู้ป่วยสามารถลุก เดิน นั่งได้ด้วยตัวเอง รับประทานอาหารอ่อนได้ แพทย์จะถอดสายระบายช่องท้องและสายน้ำเกลือ และจะตัดไหมในวันที่ 7 พร้อมกลับบ้านในวันเดียวกัน
เมื่อกลับบ้านแล้ว ต้องทานยาตามแพทย์สั่ง และพบแพทย์ตามนัดประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังผ่าตัด เพื่อประเมินอาการและติดตามการทำงานของตับ ผู้ป่วยต้องพักผ่อนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ออกกำลังกายหักโหม งดการยกของหนัก 3 เดือน ในระยะยาวจะติดตามโดยการเจาะเลือดและเอกซเรย์ทุก 2-3 เดือน ในช่วง 2-3 ปีแรก จากนั้นจะติดตามผลทุกๆ 6 เดือนจนครบ 5 ปี
กรณีที่มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ มีทั้งลุกลามหลังได้รับการรักษา หรือลุกลามในครั้งแรกที่พบว่าเป็นมะเร็งแล้วระยะหนึ่ง หากไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจไม่สามารถหยุดยั้งการเติบโตของมะเร็งได้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลง และมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ หากผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี และใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับมะเร็งแต่ละชนิด ก็มีโอกาสที่จะใช้ชีวิตได้ยาวนานขึ้น
ใครที่มีความสงสัย มีความเสี่ยง มีอาการเบื้องต้น หรือมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งตับ สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้ที่ โทร. 1772