ปัจจุบันการ “รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม” สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ซึ่งเริ่มตั้งแต่การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไปจนถึงการผ่าตัดไปเปลี่ยนข้อเข่าเทียม โดยในทุกวิธีการรักษาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อตรวจประเมินและวางแนวทางการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมอย่างเหมาะสม โดยรายละเอียดในแต่ละวิธีจะเหมาะกับลักษณะอาการแบบใด เราได้รวบรวมมาไว้ให้แล้ว
วิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
วิธีรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม แพทย์จะพิจารณาถึงอาการ ความรุนแรง ที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อเสื่อมสภาพและสึกหรอ ความเจ็บปวด ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และสุขภาพด้านอื่นๆ ของผู้ป่วยร่วมด้วย ซึ่งการรักษา จะมีหลายวิธีให้เลือกตามความเหมาะสม ดังนี้
1.ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต (non-pharmacological therapy)
วิธีนี้เป็นการรักษาที่สำคัญ หากเริ่มรู้สึกปวดหัวเข่า คนไข้ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลตัวเอง รู้แนวทางในการปฏิบัติตัว หรือปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต เพื่อจัดการกับสาเหตุของโรค เช่น
- การลดน้ำหนัก หากน้ำหนักเกินมาตรฐาน เป็นโรคอ้วนก็ควรลดน้ำหนัก ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารมันๆ ขนมหวาน การดื่มแอลกอฮอล์
- ไม่ยกของหนัก เพราะจะมีแรงดัดต่อข้อเข่าเพิ่มขึ้น โดยทุกๆ 1 กิโลกรัมของน้ำหนักที่แบกหรือยก เข่าจะต้องแบกน้ำหนักเพิ่มประมาณ 3 เท่า ทำให้เข่าเสื่อมเร็วขึ้น
- การบริหารข้อเข่า การใช้ข้ออย่างถูกต้อง ใช้ข้ออย่างทะนุถนอม บริหารกล้ามเนื้อข้อเข่าอย่างเหมาะสม เพื่อให้กล้ามเนื้อโดยรอบช่วยพยุงกระดูกข้อเข่าให้เสื่อมช้าลง
- การปรับเปลี่ยนท่านั่งที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งยองๆ พับเพียบ คุกเข่า และการนั่งขัดสมาธิ การนั่งในท่าเหล่านี้จะทำให้เกิดแรงอัดต่อโครงสร้างของข้อ หากทำบ่อยๆ ทำนานๆ ข้อเข่าก็จะเสื่อมมากขึ้นและเร็วขึ้น จนเกิดการอักเสบตามมา
- พักการใช้งานบ้าง ในกรณีทีมีอาชีพที่ต้องยืนทั้งวัน เช่น แม่ค้า แม่ครัว ควรนั่งพักบ้าง
อีกข้อที่สำคัญคือ ควรมีความรู้ความเข้าใจว่า โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดได้กับคนทุกวัย รวมถึงโรคนี้สามารถดูแลรักษาให้อาการดีขึ้นได้ จึงไม่ควรปล่อยทิ้งไว้แบบเลยตามเลยจนอาการลุกลาม ควรรีบมาพบแพทย์จะดีกว่า
2.เวชศาสตร์ฟื้นฟู ทำกายภาพบำบัด
การทำกายภาพบำบัดทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูสามารถช่วยลดอาการปวด ลดความฝืดแข็งของข้อ ลดกล้ามเนื้อเกร็งตัว ขณะเดียวกันยังช่วยทำให้กล้ามเนื้อรอบๆ ข้อมีความแข็งแรงเพื่อช่วยพยุงข้อได้มากขึ้นด้วย โดยควรได้รับการดูแลจากนักกายภาพบำบัดโดยเฉพาะ เพื่อให้การรักษาเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้องและปลอดภัย เช่น
-
- การนวด เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง ลดอาการปวด ลดความตึงของกล้ามเนื้อ ทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
- การใช้ความร้อน-ความเย็น (thermal modalities) เพื่อลดข้อฝืด ลดอาการปวด ลดกล้ามเนื้อเกร็ง ป้องกันการหดสั้นของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น โดยการใช้ความร้อนจะมี 2 แบบคือ ความร้อนตื้นและความร้อนลึก
- ความร้อนตื้น เช่น การใช้กระเป๋าน้ำร้อน
- ความร้อนลึก เช่น การใชอัลตราซาวด์ ที่มักใช้กับข้อใหญ่และอยู่ลึก
- การใช้อุปกรณ์ที่ช่วยพยุงข้อ (supports devices) เช่น การใช้ที่รัดเข่าเพื่อช่วยลดอาการปวด ทำให้บริเวณหัวเข่ากระชับ หรือใช้ Walker ใช้ไม้เท่า เพื่อช่วยประคองการทำงานของหัวเข่า
3.การออกกำลังกาย (exercise)
การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าได้ เพิ่มความกระชับและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ เพิ่มความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวของข้อเข่า รวมถึงยังช่วยลดไขมันในผู้ที่มีภาวะอ้วน ลดอาการปวดเมื่อยบริเวณหัวเข่า แต่ทั้งนี้ต้องเลือกชนิดของการออกกำลังกายที่เหมาะสมตามลักษณะอาการด้วย
4.การรักษาด้วยการใช้ยา (pharmacological therapy)
อาจจะเป็นแบบรับประทาน แบบฉีด หรือแบบทา ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ เพื่อใช้บรรเทาอาการปวด ทำให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้ และใช้ข้อได้ดีขึ้น
-
- การฉีดยา เพื่อรักษาอาการข้อเข่าเสื่อมให้ดีขึ้นได้ โดยต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะอาจเสี่ยงต่อการสะสมของยาเคมี
- ยาแก้ปวดข้อเข่า การรับประทานยาแก้ปวดข้อเข่า ได้แก่ ยาแก้ปวดที่ไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ยาต้านการอักเสบแบบไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) ก็ช่วยลดอาการปวดหัวเข่า และต้านอักเสบได้เช่นกัน
- ยาทาเฉพาะที่ เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวด
5.การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Knee Arthroplasty)
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จะเป็นการผ่าตัดเฉพาะส่วนผิวข้อเข่าที่เสื่อมสภาพออก โดยจะไม่ตัดกระดูกเดิมออกทั้งหมด และจะทำให้กระดูกมีรูปร่างรับกับผิวของข้อเทียมที่จะใส่เข้าไป แล้วสวมข้อเข่าเทียมครอบลงไป โดยข้อเข่าเทียมจะทำหน้าที่ทดแทนผิวกระดูกอ่อนในภายในข้อเข่าที่เสียไป
โดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมีทั้งแบบใช้ซีเมนต์และไม่ใช้ซีเมนต์ แบบที่ใช้ซีเมนต์จะช่วยให้มั่นคงแข็งแรงมากกว่า ซึ่งต้องอาศัยการเคลือบผิวของข้อเข่าเทียมด้วยสารพิเศษ เช่น Hydroxy apatite (ไฮดรอกซี แอพพาไทต์) เพื่อช่วยให้กระดูกของผู้ป่วยสามารถงอกเข้าไปสัมผัสกับผิวข้อเข่าเทียมได้ดีขึ้น
ปัจจุบันมีข้อเข่าเทียมหลายประเภทให้เลือกใช้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ และความต้องการของผู้ป่วย รวมถึงงบประมาณค่าใช้จ่าย เช่น
-
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน (Unicompartment Knee Arthroplasty: UKA) เป็นการเปลี่ยนเฉพาะบางส่วน โดยเปลี่ยนเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งของข้อเข่าส่วนที่สึกหรอ โดยคงสภาพของข้อส่วนที่ปกติไว้ โดยปกติข้อเข่าจะถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนหลักคือ ช่องตรงกลาง (ส่วนด้านในของหัวเข่า), ช่องด้านข้าง (ส่วนนอก) และช่องของลูกสะบ้า ซึ่งแตกต่างจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมแบบทั่งข้อ
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด (Total Knee Arthroplasty: TKA) เป็นการผ่าตัดที่ใช้ในการรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อมขั้นรุนแรง โดยแพทย์จะนำเอาส่วนผิวข้อเข่าที่เสื่อมแล้วออกไป จากนั้นทดแทนด้วยผิวข้อเข่าเทียมทั้งหมด ทั้งส่วนของกระดูก Femur, Tibia และ Patella
การเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแบบทั้งหมด จะเป็นการผ่าตัดโดยการตัดผิวข้อเข่าที่เสียหายของกระดูกส่วนปลายต้นขา (Femur) และส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) ทั้งด้านในและนอก (Medial and lateral compartment) ออกทั้งหมด ทั้งนี้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมดจะช่วยแก้ไขปัญหาตรงจุดนี้ได้ในคราวเดียว จึงเป็นที่นิยมมาก เพราะเห็นผลการรักษาไว และทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติโดยไม่ต้องเจ็บปวดอีก
6.การรักษาทางเลือก
-
- ฉีดสารตัวนำสร้างกระดูก (Subchondroplasty) เป็นการฉีดสารตัวนำการสร้างกระดูกที่มีแคลเซียมฟอสเฟตเข้าไปในข้อเข่า โดยแคลเซียมฟอสเฟตที่ฉีดเข้าไปจะไหลเข้าสู่กระดูกด้านในที่มีความเป็นรูพรุน จากนั้นจะแข็งตัวเหมือนเนื้อกระดูก สามารถช่วยให้ข้อรับน้ำหนักได้ดี
- ฉีด Platelet Rich Plasma (PRP) เป็นการใช้สารสกัดจากเลือดที่มีความเข้มข้นของเกล็ดเลือดสูงกว่าปกติของตัวผู้ป่วยเอง สามารถช่วยรักษาอาการบาดเจ็บของข้อ เอ็นและกล้ามเนื้อได้
- การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าเทียม (Hyaluronic acid) คือสารหล่อชนิดหนึ่ง ช่วยเพิ่มน้ำหล่อลื่นและกระตุ้นสารตั้งต้นผิวข้อเข่า วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม และรักษาด้วยยาแล้วไม่หาย สามารถช่วยบรรเทาอาการปวด และลดอาการฝืดตึงของข้อเข่าได้
รักษาโรคข้อเข่าเสื่อมจำเป็นต้องผ่าตัดถึงหายจริงไหม?
การรักษาโรคข้อเข้าเสื่อม หากเริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ ในขณะที่อาการยังไม่รุนแรง ก็ยิ่งดี เพราะไม่ใช่ทุกเคสที่จำเป็นต้องผ่าตัดเสมอไป แต่หากอาการลุกลามและต้องจบลงด้วยการผ่าตัด ซึ่งแพทย์มักจะใช้เป็นวิธีสุดท้าย รวมถึงในปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างในสมัยก่อน เนื่องจากความรู้และนวัตกรรมทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก มีการใช้เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย การผ่าตัดจึงมีความแม่นยำสูง สามารถช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น และโดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยเดินได้ทันทีภายในหนึ่งวันหลังผ่าตัดเสร็จหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ทำให้ระยะเวลานอนโรงพยาบาลหลังการผ่าตัดสั้นลง
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมมีหลายวิธี ส่วนผู้ป่วยแต่ละรายจะเหมาะสมกับการวิธีการรักษาแบบใด
ก็ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรง โดยจะมีการซักประวัติ และตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยแพทย์ ร่วมกับการวินิจฉัยจากภาพถ่ายรังสี ซึ่งสามารถบอกถึงความรุนแรงของโรคได้ ทั้งนี้ แพทย์จะประเมินอาการ พร้อมวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมในแต่ละราย เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด