ผมหงอกก่อนวัย ทำอย่างไรจึงไม่ลุกลาม

พญาไท 1

1 นาที

พ. 11/05/2022

แชร์


Loading...
ผมหงอกก่อนวัย ทำอย่างไรจึงไม่ลุกลาม

เส้นผมไม่ได้เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญเพียงแค่ความสวยงาม หรือเป็นเพียงตัวแทนของการดูว่ามีสุขภาพดีเท่านั้น แต่เส้นผมยังมีหน้าที่ปกป้องร่างกายจากความร้อนและความเย็น ป้องกันแสงแดดที่เป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนัง และเพื่อกันแมลงต่างๆ

รู้ไหมว่า… เส้นผมของเราตั้งแต่เกิดนั้นมีมากกว่าหนึ่งแสนเส้น และจำนวนรากผมที่เยอะที่สุดจะเป็นช่วงแรกเกิด ต่อเมื่อเราอายุมากขึ้นเซลล์รากผมจะค่อยๆ ลดน้อยลงไป

การสร้างตัวของเส้นผม

เส้นผมของเราสร้างมาจาก ‘เซลล์รากผม’ ซึ่งอยู่ลึกลงไปประมาณ 1-2 มิลลิเมตรใต้หนังศีรษะ มีเซลล์ที่ผลิตให้มีแกนผมและเปลือกภายนอกของเส้นผม ในบริเวณรากผมจะมีเซลล์สร้างเม็ดสี โดยคนเอเชียจะมีผมสีดำหรือน้ำตาลเข้ม เพราะมีเม็ดสีที่เรียกว่า ‘ยูเมลานิน’ (Eumelanin) ซึ่งมีสีเข้ม แต่คนที่ผมสีทองมียูเมลานิลน้อย และจะมีเซลล์เม็ดสีที่อ่อนกว่า ชื่อว่า ‘ฟีโอเมลานิน’ (Pheomelanin)
เซลล์สร้างเม็ดสีเหล่านี้ก็เหมือนเซลล์อื่นๆ ในร่างกาย ที่ย่อมมีความเสื่อม ทำงานช้าลง หรือตายไป และมีการสร้างเซลล์ใหม่มาทำหน้าที่แทน แต่มีปัจจัยบางอย่างที่อาจทำให้เซลล์เสื่อมเร็วกว่าปกติ หรือเมื่อเซลล์ตายแล้วกลับไม่มีเซลล์ใหม่มาทำงานแทน จึงเกิดเป็นภาวะที่เรียกว่า ‘ผมหงอก’ นั่นเอง
ทั้งนี้ ในคนเชื้อชาติที่ต่างกันจะมีอายุเริ่มต้นผมหงอกต่างกัน โดยค่าเฉลี่ยของคนเอเชียมักเริ่มมีผมหงอกตั้งแต่อายุก่อน 40 ปี ส่วนคนผิวขาวมักพบผมหงอกก่อนคนเอเชีย คือเฉลี่ยที่อายุประมาณ 35 ปี จึงเชื่อได้ว่าพันธุกรรมมีส่วนสำคัญกับภาวะผมหงอกก่อนวัย
โดยในกลุ่มคนผมหงอกก่อนวัย มักพบปัญหาเดียวกันในบิดาหรือมารดา ในเพศชายมักพบผมหงอกบริเวณจอนและขมับ ก่อนจะเริ่มพบกระจายบริเวณกระหม่อม และพบผมหงอกน้อยบริเวณท้ายทอย ส่วนในเพศหญิงมักเริ่มพบผมหงอกบริเวณไรผมก่อนบริเวณอื่น

สาเหตุที่เร่งให้เกิดผมหงอก

นอกจากธรรมชาติของเส้นผมแล้ว ยังมีสาเหตุหรือปัจจัยอื่นๆ ที่เร่งให้เกิดผมหงอก เช่น

  • การสูบบุหรี่ เกิดสารอนุมูลอิสระซึ่งทำลายเซลล์โดยตรง
  • การดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ยาหลายชนิด
  • โรคประจำตัว ได้แก่ โรคไทรอยด์ชนิดเกรฟ (Graves disease)โรคผิวหนังอักเสบ (atopic dermatitis) ภาวะผิดปกติของภูมิต้านทาน โรคโลหิตจางชนิดขาดวิตามิน B12 โรคไตเรื้อรัง โรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคด่างขาว นอกจากทำให้ผิวหนังบริเวณที่เป็นโรคไม่มีสี มีลักษณะขาวซีดเป็นวงแล้ว เส้นผมบริเวณดังกล่าวมักกลายเป็นผมหงอกไปด้วย
  • ภาวะขาดสารอาหารรุนแรง ขาดโปรตีน ขาดธาตุเหล็กรุนแรง และภาวะขาดทองแดง

การเริ่มพบผมหงอกตั้งแต่อายุน้อยไม่ได้ทำนายความรวดเร็วในการเกิดผมหงอกทั่วศีรษะ บางคนมีผมหงอก 10-20 เส้นตั้งแต่วัยเด็ก และมีผมหงอกเพียงเท่านี้จนเข้าวัยผู้ใหญ่ ในขณะที่คนบางกลุ่มเริ่มพบผมหงอกช้า แต่มีการดำเนินอาการเร็ว และพบผมหงอกจำนวนมากในเวลาสั้น แม้ผมหงอกจะจัดทรงยากและแข็งหยาบกว่าผมที่มีสี แต่ข้อดีของผมหงอกคือมักมีขนาดเส้นผมที่หนาขึ้นและยาวได้มากกว่าผมปกติ ทำให้ผมดูหนาขึ้นได้ รวมถึงหนวดเคราที่ไม่มีเม็ดสีกลายเป็นสีขาวสามารถยาวกว่าหนวดปกติได้ถึง 4 เท่า

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาผมหงอกที่ปลอดภัยและได้ผลถาวร แต่มีการทดลองรักษาด้วยยาบางชนิด ซึ่งเมื่อหยุดยาผมก็จะกลับมาหงอกเช่นเดิม แพทย์จึงมักแนะนำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดผมหงอกมากขึ้น เช่น การสูบบุหรี่  การดื่มสุรา รวมถึงไม่ควรปล่อยให้มีความเครียดรุนแรงต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุของผมหงอกผมบางแล้ว ยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอื่นๆ ได้อีกมาก

ทั้งนี้การทำสีผมทั้งชนิดชั่วคราวและถาวรเพื่อปกปิดผมหงอก ไม่พบว่าเป็นสาเหตุการเกิดผมหงอกโดยตรง

 

ดร.พญ. พลินี รัตนศิริวิไล
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง-เลเซอร์
ศูนย์ความงาม โรงพยาบาลพญาไท 1

นัดหมายแพทย์

แชร์