หลายข้อสงสัยในโรคฝีดาษลิง ที่นี่มีคำตอบ

หลายข้อสงสัยในโรคฝีดาษลิง ที่นี่มีคำตอบ

โรคฝีดาษลิง (Monnkeypox) เป็นโรคที่หลายคนให้ความสนใจและกังวลว่าจะเกิดการระบาดเป็นวงกว้าง การมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อเราจะได้เตรียมรับมือแบบไม่ตื่นตระหนก วันนี้ นพ.พัทธยา เรียงจันทร์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ จึงมาให้ความรู้เกี่ยวกับ “โรคฝีดาษลิง”  เพื่อคลายความสงสัย ดังนี้

ถาม : โรคฝีดาษลิง มีถิ่นกำเนิดมาจากไหน?

ตอบ : โรคฝีดาษลิงนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว มีถิ่นฐานเดิมในแถบทวีปแอฟริกา ซึ่งมีการระบาดอยู่เป็นระยะๆ แต่ในตอนนี้ที่มีข่าวดังขึ้นมา เพราะมีการแพร่ระบาดไปในหลายประเทศนอกทวีปแอฟริกา เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา โดยเกิดขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกัน

ถาม : โรคฝีดาษลิง ต่างกับ อีสุกอีใส อย่างไร?

ตอบ : โรคฝีดาษลิงและอีสุกอีใสนั้นมีลักษณะคล้ายกัน คือ มีอาการทางผิวหนังเป็นหลัก และเป็นโรคที่มาจากเชื้อไวรัสเหมือนกัน แต่ลักษณะที่แตกต่างกันคือ โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อที่ติดต่อจาก “สัตว์สู่คน” แต่โรคอีสุกอีใส ติดต่อจาก “คนสู่คน”

ถาม : โรคฝีดาษลิง จะแพร่เชื้อในลักษณะใดได้บ้าง?

ตอบ : โรคฝีดาษลิงสามารถแพร่เชื้อได้ 2 วิธี คือ

  1. ทางสารคัดหลั่ง ในการหายใจ ไอ จาม ซึ่งจะคล้ายโควิด-19 แต่การติดเชื้อจากสารคัดหลั่งดังกล่าวจะไม่ติดง่ายเหมือนกับโควิด-19
  2. ทางผิวหนัง หากมีสะเก็ด ตุ่ม หนอง ที่ตกสะเก็ดแล้ว สามารถแพร่เชื้อผ่านตุ่มหนองหรือสะเก็ดได้

ถาม : อาการเริ่มต้นของโรคนี้เป็นอย่างไร ใครที่ควรระวังเป็นพิเศษ?

ตอบ : อาการเริ่มต้นของฝีดาษลิงจะเหมือนอาการติดไวรัสทั่วๆ ไป คือจะมีไข้ต่ำถึงไข้สูง และมีอาการปวดเมื่อยตามตัว รวมถึงมีไอเล็กน้อย สำหรับอาการที่เด่นชัด คือ ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณใต้คาง ใต้คอ ซึ่งสามารถคลำได้ด้วยตัวเอง และต่อมาจึงมีตุ่มขึ้น ผลการรักษาโรคฝีดาษลิงยังไม่แน่นอน แต่ความรุนแรงมักไม่มาก เมื่อเป็นแล้วสามารถหายจากโรคเองได้

กลุ่มคนที่ควรระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ กลุ่มที่สัมผัสใกล้ชิดบุคคลที่มีความเสี่ยง ทั้งที่ยังไม่มีอาการและคนที่มีอาการ กลุ่มคนที่สัมผัสกับสัตว์ หรือกลุ่มสัตว์ที่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ประเภทสัตว์ฟันแทะ เช่น แพะ หนู กระรอก กระต่าย ส่วนที่โรคนี้ได้ชื่อว่า “Monkeypox” หรือ ฝีดาษลิง ก็เพราะว่า การค้นพบเชื้อนี้ครั้งแรกเป็นการพบในลิง แต่แหล่งเชื้อโรคจริงๆ มาจาก สัตว์ฟันแทะ

ถาม : โรคฝีดาษลิง คาดว่าจะเกิดการระบาดในประเทศไทยหรือไม่ จะมีวิธีป้องกันอย่างไรได้บ้าง?

ตอบ : มีความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาระบาดในประเทศไทย แม้มีการคัดครอง แต่โรคนี้มีระยะเวลาฟักตัวได้ตั้งแต่ 5-7 วัน จนถึงประมาณ 2-3 สัปดาห์ จึงเป็นไปได้ที่ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการจะผ่านการคัดกรองเข้ามาประเทศไทยได้

วิธีป้องกันโรคฝีดาษลิง สามารถทำได้ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
  2. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
  3. หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ
  4. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรองโรค
  5. กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นแหล่งโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักตัวเพื่อมิให้มีการแพร่กระจายเชื้อ

ถาม : ปลูกฝีมาแล้วป้องกันฝีดาษลิงได้ จริงไหม?

ตอบ : ในอดีตเราปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ …แต่ตั้งแต่ปี 2523 ประเทศไทยไม่ได้ปลูกฝี เนื่องจากองค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่า โรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ทั้งนี้โรคฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ เป็นคนละโรคกับฝีดาษลิง แต่การศึกษาที่แอฟริกา พบว่าการปลูกฝีป้องกันฝีดาษสามารถป้องกันการติดเชื้อฝีดาษลิงได้ถึง 85%

 

นพ. พัทธยา เรียงจันทร์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ
ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์


แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ




Loading...