การฟัง เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการสื่อสาร และยิ่งกว่านั้นการสื่อสารจะบรรลุตามวัตถุประสงค์ได้ การฟังต้องมีประสิทธิภาพที่ดีด้วย ฉะนั้น “หู” อวัยวะที่จะทำให้เราได้ยินได้ฟังสิ่งต่างๆ จึงควรได้รับการดูแลและหมั่นตรวจว่า “หู” ยังทำหน้าที่ “ได้ยิน” อย่างเต็มที่อยู่หรือไม่ ทั้งนี้ “การตรวจระดับการได้ยิน” จะช่วยให้เรารู้เท่าทันและป้องกันการสูญเสียการได้ยินได้
การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน
การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน เป็นการตรวจการทำงานของหูและระบบโสตประสาท เพื่อประเมินระดับการได้ยินอย่างละเอียด ถือเป็นการตรวจคัดกรองเพื่อเฝ้าระวังภาวะสูญเสียการได้ยิน โดยผู้ที่มีการได้ยิน “ปกติ” จะมีระดับการได้ยินเสียงอยู่ระหว่าง -10 ถึง 25 เดซิเบล หากมากกว่า 25 เดซิเบล ถือว่ามีความผิดปกติของการได้ยิน
การสังเกตเบื้องต้นว่า… คุณมีการได้ยินที่ผิดปกติหรือยัง?
นอกจากการไปตรวจการได้ยินโดยแพทย์เฉพาะทางแล้ว คุณเองก็สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ว่า คุณมีการได้ยินที่ผิดปกติหรือไม่ เช่น
- ฟังคำพูดของคู่สนทนาไม่ชัด ต้องถามซ้ำบ่อยๆ
- เปิดโทรทัศน์ หรือวิทยุเสียงดังกว่าปกติ
- ฟังเสียงจากโทรศัพท์ไม่ค่อยได้ยิน
- เป็นคนพูดเสียงดังขึ้นกว่าเดิม
- มีอาการหูอื้อบ่อย ได้ยินเสียงวี้ดๆ ในหู
- มีประวัติคนในครอบครัวหูตึง หูหนวก
ผู้ที่ควรตรวจการได้ยิน
ปัญหาการได้ยินเกิดได้ในทุกช่วงวัย ฉะนั้นทุกคนควรได้รับการตรวจการได้ยิน โดยในแต่ละช่วงวัยก็มีความแตกต่างกัน ดังนี้
- วัยเด็ก
การตรวจการได้ยินสำหรับวัยนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการได้ยินเป็นส่วนสำคัญในการพูด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก หากมีความบกพร่องด้านการได้ยิน จะทำให้มีปัญหาด้านพัฒนาการการพูดตามมา ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก - วัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
มลภาวะทางเสียงในที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงาน รวมถึงการกินยาบางชนิดที่ทำลายประสาทหู ล้วนส่งผลกระทบต่อการได้ยินทั้งสิ้น การตรวจวัดระดับการได้ยินในกลุ่มวัยนี้จะเป็นการช่วยลดความรุนแรงของอาการที่อาจเกิดขึ้นได้
วิธีการตรวจการได้ยิน
การตรวจการได้ยิน จะแบ่งออกตามวัตถุประสงค์ คือการตรวจเพื่อคัดกรอง และตรวจเพื่อวินิจฉัย ซึ่งทำต่างกัน
- วิธีตรวจเพื่อคัดกรอง
โดยการใช้ส้อมเสียงเคาะเพื่อทดสอบการได้ยินของผู้เข้ารับการตรวจ หรืออาจเว้นระยะ 1 เมตร จากนั้นเรียกถามผู้เข้ารับการตรวจ 5 คำ แล้วทดสอบว่าได้ยินครบหรือไม่ - วิธีตรวจเพื่อวินิจฉัย
ใช้เสียงบริสุทธิ์และใช้คำพูด โดยจะค่อยๆ ลดระดับความดังลงทีละระดับ โดยให้ผู้เข้ารับการตรวจตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยิน
ขั้นตอนการตรวจการได้ยิน
- ให้คนไข้ฟังเสียง และให้คนไข้ตอบสนองด้วยการยกมือ
- ค่อยๆ ลดระดับเสียงลงเรื่อยๆ
- หาเสียงที่เบาที่สุดที่คนไข้สามารถตอบสนองได้
หากตรวจพบความผิดปกติ การเข้าสู่กระบวนการรักษาตามดุลพินิจของแพทย์เฉพาะทางและระดับความรุนแรงของอาการ จะช่วยลดปัญหาและป้องกันการสูญเสียการได้ยินได้ดีกว่าปล่อยทิ้งไว้
ทุกเรื่องราว ทุกการสื่อสาร ต้องมีทั้งผู้พูดและผู้ฟัง “การได้ยิน” จึงมีความสำคัญในการดำรงชีวิต หากวันใดที่รู้สึกว่าโลกดูเงียบๆ ไป อย่าชะล่าใจ… มาเข้ารับการตรวจการได้ยินโดยผู้เชี่ยวชาญให้เร็วที่สุดจะดีกว่า
นพ. เมธี อึ้งอาภรณ์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก
ศูนย์หู คอ จมูก โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์