รับมือกับโรคลมชัก รู้จักอาการและวิธีสังเกต

พญาไท 1

1 นาที

03/08/2022

แชร์


Loading...
รับมือกับโรคลมชัก รู้จักอาการและวิธีสังเกต

อาการของโรคลมชักที่คนทั่วไปเข้าใจ มักจะหมายถึงเฉพาะอาการชักเกร็งกระตุกทั่วตัว หมดสติ แต่ในความเป็นจริงแล้วโรคลมชักเกิดจากความผิดปกติของสมอง จึงแสดงอาการได้หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับว่าความผิดปกตินั้นเกิดที่บริเวณสมองส่วนใด

 

อาการของโรคลมชักที่คนทั่วไปมักไม่รู้จัก เช่น เหม่อนิ่ง เคี้ยวปาก ส่งเสียงร้อง มือขยำไปมา มือหยิบจับสิ่งของ เป็นอาการที่เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนขมับ (Temporal lobe) โดยอาการเหล่านี้ ไม่มีอาการเกร็งกระตุกที่รุนแรง จึงทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าอาการเหล่านี้ไม่ใช่อาการของโรคลมชัก

อาการของโรคลมชัก ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องหมดสติ

คนทั่วไปมักคิดว่า ขณะที่มีอาการชักจะต้องหมดสติทุกครั้ง เพราะมักเห็นผู้ที่มีอาการชักหมดสติ แต่โรคลมชักบางชนิดขณะมีอาการชัก ผู้ป่วยจะยังมีสติอยู่ และสามารถพูดคุยตอบโต้ได้เป็นปกติ เนื่องจากบางครั้งอาการชักเกิดจากจุดเล็กๆ ในสมองเพียงจุดเดียว ผู้ป่วยจึงไม่หมดสติ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยรายหนึ่งมีอาการมือด้านขวาอยู่ดีๆ ก็กำมือแน่นขึ้นมาเอง ไม่สามารถควบคุมมือให้แบได้ ขณะที่มือกำนั้นผู้ป่วยสามารถพูดคุยหรือทำอย่างอื่นได้ตามปกติ โดยมีอาการครั้งละ 1 นาที หลังจากนั้นอาการก็หายไป สามารถขยับมือได้ตามปกติ แต่จะมีอาการเช่นนี้ซ้ำๆ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์

 

เมื่อผู้ป่วยให้ประวัติเหล่านี้แก่แพทย์ แพทย์ก็คิดว่าอาการเข้าได้กับอาการชัก จึงทำการตรวจด้วย MRI หรือ เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สมอง และตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalography  หรือ EEG) พบว่าผู้ป่วยมีคลื่นชักจากการตรวจด้วยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง และพบก้อนเนื้องอกที่สมองของผู้ป่วยจากการตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการชักของผู้ป่วยอีกด้วย ผู้ป่วยรายนี้หลังได้รับการรักษาด้วยการกินยากันชัก และผ่าตัดเนื้องอกที่สมองออก ทุกอย่างก็หายเป็นปกติ คือไม่มีอาการกำมือเองที่ผิดปกติอีกเลย

รู้และเข้าใจอาการชัก

เพราะอาการชักจะแสดงออกได้หลากหลายมาก คนทั่วไปจึงมักไม่สามารถจดจำอาการทั้งหมดได้ เราจึงจำแนกลักษณะเด่น 3 อย่าง ที่ให้พอสังเกตเพื่อจะทราบได้ว่าเป็นอาการชักหรือไม่? ดังนี้

  1. อาการชักมักเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่ผิดปกติ และผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมอาการนั้นให้หยุดได้เอง เช่น อาการมือ แขน ขาเกร็งหรือกระตุก หน้าเบี้ยว คอบิดเกร็ง มือหยิบจับหรือส่งเสียงแปลกๆ เป็นต้น
  2. อาการชักจะมีแบบแผนคล้ายเดิมเสมอ (stereotype) เช่น ถ้ามีอาการมือด้านขวาเกร็ง ก็จะมีอาการที่มือขวาเกร็งเหมือนๆ เดิม โดยจะไม่เปลี่ยนข้างไปเป็นข้างซ้าย หรือเปลี่ยนไปเป็นที่เท้า
  3. ระยะเวลาในการชัก มักจะเป็นเวลาสั้นๆ ประมาณตั้งแต่ 10 วินาที ไปจนถึง 3 นาที และสามารถหายได้เอง

 

ดังนั้น ถ้าใครมีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติที่ไม่สามารถควบคุมได้ มีลักษณะคล้ายๆ เดิมทุกครั้ง และเป็นในเวลาสั้นๆ ควรสงสัยว่าเป็นอาการชักเสมอ เมื่อสงสัยก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการชัก จะได้รับการรักษาที่ถูกต้องตรงจุด เป็นการป้องกันไม่ให้อาการของโรคลมชักรุนแรงมากขึ้น และช่วยลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุที่มักเกิดขึ้นจากอาการชักอีกด้วย

 

นพ. ชาคริต สุทธิเสวันต์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา
ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท 1


นัดหมายแพทย์

แชร์