“ตับ” เป็นอวัยวะภายในร่างกายที่ใหญ่ที่สุด และมีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างน้ำดีเพื่อช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยขจัดของเสียออกจากกระแสเลือด รวมถึงช่วยผลิตโปรตีนหลายชนิดให้ร่างกาย ฉะนั้นเราจึงควรใส่ใจดูแล “ตับ” ให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรงปกติ พร้อมทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ โดยการ “ตรวจการทำงานของตับ” เช่นเดียวกับการตรวจอวัยวะอื่นๆ
ตรวจการทำงานของตับ
1. ตรวจการทำงานของตับ AST (Aspartate transaminase) หรือ SGOT (Serum glutamic oxaloacetic transaminase)
AST คือเอนไซม์ที่ตับสร้างขึ้นเมื่ออวัยวะในร่างกายเกิดความเสียหาย หากพบในปริมาณมากจะเป็นสัญญาณว่าอวัยวะภายในมีปัญหา
-
- ตรวจการทำงานของตับ AST ตรวจเพื่อยืนยันอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของโรคทางตับ เช่น อาการตัวเหลือง คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องใต้ชายโครงใต้ลิ้นปี่ เป็นต้น
- ตรวจเมื่อต้องติดตามผลการรักษาอาการทางตับ หรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการรักษา
- ตรวจเพื่อหาความเสียหายของตับที่อาจเกิดขึ้น
2. ตรวจการทำงานของตับ ALT (Alanine transaminase) หรือ SGPT (Serum glutamate-pyruvate transaminase)
ALT เป็นเอนไซม์ที่พบมากในตับ ร่างกายใช้ในการเผาผลาญโปรตีนเป็นพลังงาน เป็นเอนไซม์ที่สร้างขึ้นเมื่ออวัยวะในร่างกายเกิดความเสียหาย โดยปกติระดับ ALT พบได้ในกระแสเลือดปริมาณเล็กน้อย แต่หากตรวจพบ ALT ในปริมาณมากกว่าปกติ ก็อาจเป็นสัญญาณว่าการทำงานของตับมีปัญหานั่นเอง
-
- ตรวจสอบความรุนแรงของความเสียหายที่เกิดกับตับ หรืออาการทางตับที่เป็นอยู่
- ตรวจการทำงานของตับสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการตัวเหลือง หรือผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเพื่อยืนยันโรคทางตับ
- ตรวจสอบผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับยาที่ใช้รักษา เช่น ยาลดคอเลสเตอรอล
ทำไมเราต้องตรวจตับ
หาก “ตับ” ทำงานผิดปกติ ก็จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายด้วย เราจึงไม่ควรละเลย “การตรวจการทำงานของตับ” อย่างเด็ดขาด เพื่อเป็นการเฝ้าระวังโรคอย่างมีสติ
- ตรวจหาความเสี่ยงและความเสียหาย หรืออาการติดเชื้อที่เกี่ยวกับตับ
- ตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตับ และความผิดปกติที่มีผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ
- ตรวจหาผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยา
- ตรวจการทำงานของตับในผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเป็นโรคที่เกี่ยวกับตับ
- ตรวจเพื่อติดตามอาการ และผลการรักษาโรคที่เกี่ยวกับตับ
ใครบ้างที่ควรตรวจการทำงานของตับ
ทุกคนควรเข้ารับการตรวจการทำงานของตับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มบุคคลต่อไปนี้
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ผู้ที่ทานยาที่ส่งผลต่อการทำงานของตับเป็นประจำ
- ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นหรือเคยเป็นโรคที่เกี่ยวกับตับ
- ผู้ที่มีความสงสัยว่าตนเองอาจได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ
- ผู้ที่พบว่าตนมีอาการของโรคทางตับ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ภาวะตัวเหลือง (ภาวะดีซ่าน) อ่อนแรง ท้องบวม ขาบวม เป็นต้น
ไม่ตรวจ “ตับ”เสี่ยงโรคร้าย
ความผิดปกติของตับสามารถส่งผลร้ายต่อร่างกายคุณได้ไม่ยาก และอาจมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคร้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง รวมไปถึงโรคท่อน้ำดี
เราทุกคนจึงควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ และใส่ใจสุขภาพของ “ตับ” ให้มากขึ้น เพื่อให้ “ตับ” ได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ และช่วยรักษาความสมดุลของระบบต่างๆ ในร่างกาย เพื่อความแข็งแรงและการมีสุขภาพที่ดีไปอย่างยาวนาน
นพ. อุดมรัช โกวิททวิพัฒน์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม
ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์