การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก (Bariatric Surgery) ปลอดภัยได้สุขภาพที่ดีขึ้น

พญาไท 1

3 นาที

พ. 03/08/2022

แชร์


Loading...
การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก (Bariatric Surgery) ปลอดภัยได้สุขภาพที่ดีขึ้น

ผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก (Bariatric Surgery) คือ การผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะให้เล็กลง หรือเพื่อลดการดูดซึมของกระเพาะอาหาร ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วน เพราะว่าในกระเพาะอาหารของเรามีฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดความอยากอาหาร เมื่อเราผ่าตัดลดขนาดกระเพาะลง ก็จะตัดส่วนที่มีฮอร์โมนชนิดนี้ออกไปด้วย และเมื่อฮอร์โมนนี้ลดลงก็จะส่งผลให้ความอยากอาหารลดลงไป

ใครสามารถทำการผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนักได้บ้าง?

  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน คือค่า BMI มากกว่า 32.5
  • ผู้ที่ลดความอ้วนด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล
  • ผู้ที่ไม่มีข้อห้ามในการผ่าตัด หรือโรคทางจิตเวช

“การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ถือว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมในการที่จะได้ผลการรักษาออกมาดี เพื่อการทำให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ทั้งนี้แพทย์จะวินิจฉัยอาการของผู้รับบริการว่ามีความพร้อมและปลอดภัยพอสำหรับการผ่าตัดหรือไม่ เพื่อผลที่ได้นั้นจะมีประสิทธิภาพ โดยไม่มีโรคหรืออาการแทรกซ้อนแต่อย่างใดที่ต้องกังวล”

ทำความรู้จักกับคำว่า “โรคอ้วน” ว่าที่แท้… คืออะไร ?

โรคอ้วน (Morbid Obesity หรือ Adiposity-based chronic disease : ABCD) คือ สภาวะทางการแพทย์ที่มีการสะสมไขมันในร่างกายมากถึงขนาดที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้สูงมาก ซึ่งทำให้มีอายุสั้นลง มีปัญหาสุขภาพและเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนต่างๆ โดยการวินิจฉัยโรคอ้วนนั้นแพทย์จะพิจารณาจากการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index : BMI) ซึ่งคำนวณได้โดยใช้ “น้ำหนักตัว” (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตร) ยกกำลังสอง ตามสูตร BMI = weight (Kg) / [height (m)]2

เกณฑ์ดัชนีมวลกาย (BMI) และการประเมินผล

น้อยกว่า 18 

น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ

18.5 – 22.9 สมส่วน
23.0 – 24.9 น้ำหนักเกิน
25.0 – 29.9 โรคอ้วน
มากกว่า 30 ขึ้นไป โรคอ้วนอันตราย

ตัวอย่างการคำนวณ BMI
นายสมชาย อายุ 35 ปี มีน้ำหนักตัว 62 กิโลกรัม ส่วนสูง 170 เซนติเมตร กับนางสาวสมหญิง อายุ 28 ปี มีน้ำหนักตัว 55 กิโลกรัม ส่วนสูง 155 เซนติเมตร ถามว่าใครมีค่าดัชนีมวลกายดีเหมาะสมกว่ากัน

นายสมชาย :       BMI 62 กิโลกรัม / [(1.70 x 1.70) เมตร] = 21.45
นางสาวสมหญิง : BMI 55 กิโลกรัม / [(1.55 x 1.55) เมตร] = 22.89
สรุปว่า นายสมชายมีร่างกายสมส่วนเช่นเดียวกับนางสาวสมหญิง มีโอกาสการเกิดโรคแทรกซ้อนในระดับน้อยที่สุด

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วนมีอะไรบ้าง?

  • พันธุกรรม
  • พฤติกรรมการรับประทานอาหาร
  • พฤติกรรมการออกกำลังกาย
  • อายุและเพศ
  • ความผิดปกติของสภาพอารมณ์และจิตใจ
  • โรคและยาบางชนิด

ผลของโรคอ้วนต่อรางกาย

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • โรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
  • ภาวะไขมันพอกตับ และโรคตับอักเสบจากไขมันพอกตับ
  • ภาวะการนอนกรน และการหยุดหายใจในขณะนอนหลับ
  • โรคข้อกระดูกเสื่อม
  • ภาวะการมีบุตรยาก
  • โรคมะเร็งบางชนิด

การอ่านค่า BMI อย่างละเอียด

BMI < 18.5 สภาวะ “น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์”
เป็นผู้ที่มีค่า BMI อยู่ในเกณฑ์ระดับต่ำกว่ามาตรฐาน มีภาวะความเสี่ยงสูงที่ร่างกายจะขาดสารอาหาร ทำให้อ่อนเพลียง่าย ภูมิคุ้มกันต่ำ การออกกำลังกายควบคู่กับการรับประทานอาหารโปรตีนสูงจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและมีสารอาหารเพียงพอต่อการซ่อมแซมการทำงานของอวัยวะต่างๆ

BMI 18.5 – 22.9
เป็นผู้ที่มีค่า BMI อยู่ในเกณฑ์ระดับมาตรฐาน จะมีภาวะเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนจากโรคอ้วนได้น้อยที่สุด ควรรักษาความสุมดลของค่า BMI ระดับนี้ไว้อย่างสม่ำเสมอ โดยคำนวณค่า BMI จากการตรวจสุขภาพประจำปีทุกครั้ง

BMI 23.0 – 24.9 สภาวะ “น้ำหนักเกินมาตรฐาน”
เป็นผู้ที่มีค่า BMI อยู่ในเกณฑ์ระดับเกินตามมาตรฐาน มีภาวะความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคอ้วนได้ ควรควบคุมปริมาณไขมันในร่างกายด้วยการเลือกทานอาหารที่มีโปรตีนสูง หมั่นออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ เพิ่มกิจวัตรประจำวันที่ใช้พลังงานสูงเพื่อลดระดับไขมันให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

BMI 25.0 – 29.9 สภาวะ “อ้วน”
เป็นผู้ที่มีค่า BMI อยู่ในเกณฑ์ระดับเกินตามมาตรฐานมาก มีภาวะความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคอ้วนได้สูง ควรควบคุมปริมาณไขมันในร่างกายแบบเร่งด่วนด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีการกินที่เน้นสุขภาพให้มากขึ้น พร้อมออกกำลังกายเป็นประจำ และงดทานของจุบจิบ ดื่มน้ำให้ได้อย่างต่ำวันละ 8 แก้ว พักผ่อนให้เพียงพอ และติดตามค่า BMI อย่างสม่ำเสมอในช่วงควบคุมน้ำหนัก

BMI 30.0 > สภาวะ “อ้วนมาก”
เป็นผู้ที่มีค่า BMI อยู่ในเกณฑ์ระดับสูงเกินตามมาตรฐานมาก มีภาวะความเสี่ยงที่เกิดโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคอ้วนได้สูงที่สุด ควรพบแพทย์เพื่อรับยาในการควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือด พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้เป็นอาหารสุขภาพ ทานไขมันให้น้อยลง และหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 10-12 แก้ว และติดตามค่า BMI อย่างสม่ำเสมอในช่วงควบคุมน้ำหนัก

ข้อจำกัดของค่า BMI

เนื่องจากการคำนวณดัชนีมวลกายเพื่อหาความสัมพันธ์เกี่ยวกับปริมาณไขมันในมวลร่างกายของผู้ใช้บริการนั้นมีข้อจำกัดทางด้านเพศ อายุ รวมถึงปริมาณกล้ามเนื้อของบุคคลบางกลุ่ม ที่ทำให้ผลการคำนวณค่า BMI มีผลที่แตกต่างออกไป ดังต่อไปนี้

  1. การคำนวณ BMI ผู้หญิง มีแนวโน้มที่ปริมาณไขมันในร่างกายจะสูงกว่าผู้ชาย เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงช่วยเร่งสารอาหารให้เป็นไขมันได้ง่ายกว่าผู้ชาย ซึ่งทำให้การคำนวณดัชนีมวลกายผู้ชายในการตรวจดูไขมันอาจพบแค่ 15% ในขณะผู้หญิงพบได้ถึง 25% ของมวลไขมันทั้งหมด
  2. ผู้ที่อายุมากกว่า มีโอกาสสูงที่ปริมาณไขมันสะสมมากกว่าผู้ที่อายุน้อยกว่า
  3. นักกีฬาที่ได้รับการฝึกฝนร่างกายทางกายภาพสูง จะมีผลการคำนวณค่า BMI ที่มีมวลกล้ามเนื้อสูงกว่าปริมาณไขมันในองค์ประกอบร่างกายมากกว่าคนทั่วไป

เหตุใดการลดน้ำหนักโดยวิธีทั่วไปจึงไม่ได้ผล

ในความเป็นจริงแล้วการลดน้ำหนักโดยการออกกำลังกายอย่างมีวินัยและควบคุมพฤติกรรมการกินนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยพบว่าคนส่วนใหญ่จะลดน้ำหนักได้เพียงแค่ 5–10 % ของน้ำหนักตัวเท่านั้น เพราะว่าร่างกายของเราจะเริ่มปรับสภาพตัวเองให้อยู่ในสภาพเสมือนอดอาหาร ทำให้การควบคุมอาหารนั้นไม่ได้ผล บางรายถึงกับเสียสุขภาพเนื่องจากมีการควบคุมอาหารและออกกำลังกายหนักมากเกินไป และยิ่งกว่านั้น ในจำนวนของผู้ที่ลดน้ำหนักจากการออกกำลังกายและควบคุมอาหารนี้ พบว่ากว่า 50 % น้ำหนักจะกลับขึ้นมาใหม่ภายในเวลาเพียง 2 ปี

และสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากๆ การออกกำลังกายเหมือนคนทั่วไปนั้นก็เป็นไปได้ยาก เพราะนอกจากจะเหนื่อยง่ายแล้ว การออกกำลังกายของผู้ที่มีน้ำหนักมากยังเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้มากกว่า ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดในการที่จะลดน้ำหนักได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์โดยตรง เพื่อวางแผนการรักษาให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และมีการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ประโยชน์จากการรักษาโรคอ้วนโดยการผ่าตัดกระเพาะอาหาร

กรณีที่ไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยวิธีปกติ การผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักถือเป็นหนึ่งทางเลือกที่มีความปลอดภัย วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้มาตรฐานสากลทางการแพทย์ และถือเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้ป่วยโรคอ้วนสามารถลดน้ำหนักลงมาได้ โดยหลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะสามารถควบคุมน้ำหนักได้โดยง่าย ทั้งการออกกำลังกายและควบคุมการพฤติกรรมการทานอาหาร โดยทางโรงพยาบาลมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่พร้อมให้คำปรึกษาและวางแผนการรักษาเพื่อประสิทธิภาพและผลการรักษาที่ดีในระยะยาว ซึ่งโดยปกติ การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะจะทำให้ผู้ป่วยจะสามารถลดน้ำหนักลงได้เฉลี่ยประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ในช่วงแรก และกลับมาออกกำลังได้ตามปกติภายใน 1 เดือน และเมื่อลดน้ำหนักลงมาได้แล้ว โรคประจำตัวที่มีอยู่ก็อาจจะดีขึ้นหรือหายเป็นปกติได้

การผ่าตัดลดน้ำหนักมีวิธีการอย่างไร?

การผ่าตัดลดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนัก แบ่งออกเป็น 2 วิธีหลักด้วยกัน ได้แก่

1. การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารผ่านกล้อง
(Laparoscopic Sleeve Gastrectomy : LSG)
คือการผ่าตัดผ่านกล้องโดยใช้อุปกรณ์เครื่องมือตัดเย็บลำไส้อัตโนมัติ ทำการผ่าตัดกระเพาะอาหารให้เล็กลง เหลือเป็นลักษณะท่อยาวคล้ายแขนเสื้อ ซึ่งจะช่วยจำกัดปริมาณอาหารที่รับประทานได้ในแต่ละมื้อ และลดฮอร์โมนควบคุมความอยากอาหารซึ่งผลิตจากกระเพาะอาหารส่วนที่ตัดออกไป

2. การผ่าตัดบายพาสกระเพาะอาหารผ่านกล้อง
(Laparoscopic Roux-en-Y Gastric Bypass : LRYGB)
คือการผ่าตัดผ่านกล้องโดยใช้อุปกรณ์เครื่องมือตัดเย็บลำไส้อัตโนมัติ ทำการผ่าตัดแบ่งกระเพาะอาหารให้มีส่วนที่รับอาหารเล็กลง และเชื่อมต่อกับลำไส้เล็กส่วนกลาง จึงช่วยจำกัดทิ้งปริมาณอาหารที่รับประทาน และช่วยลดการดูดซึมของสารอาหาร รวมทั้งลดการกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนควบคุมความอยากอาหารอีกด้วย

ตารางการเปรียบเทียบวิธีการผ่าตัดลดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก

 

รายการควบคุม

LSG LRYGB
ผลการลดน้ำหนักส่วนเกิน 50-60% ภายในระยะเวลา 18-24 เดือน 60-80% ภายในระยะเวลา 12-18 เดือน
ผลการรักษาโรคต่างๆ  ที่พบร่วมด้วย ++ +++

มักจะสามารถหยุดยาได้เกือบทั้งหมด

ปริมาณอาหารที่สามารถรับประทานได้ ภายหลังการผ่าตัด 4-5 คำ/มื้อ 2-3 คำ/มื้อ
ภาวะทุพโภชนาการ ภายหลังการผ่าตัด + +++

อาจจำเป็นต้องได้รับวิตามินเสริมบางชนิด

การคงอยู่ของผลการผ่าตัด 2 ปี (ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัว) 2 ปี (ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัว)
ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย ภายหลังการผ่าตัด

ภาวะกรดไหลย้อน

ภาวะ Dumping Syndrome

การพิจารณาเลือกวิธีการผ่าตัดลดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนัก

เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี ตรงกับความต้องการและส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ป่วยน้อยที่สุด จะมีการพิจารณาร่วมกันระหว่างผู้ป่วยกับคณะแพทย์และสหสาขาวิชาชีพที่ร่วมกันดูแลผู้ป่วย และเนื่องจากผลการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อบำบัดรักษาโรคอ้วนจะให้ผลดีที่สุดในการผ่าตัดครั้งแรก จึงแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีค่า BMI เกิน 50 กิโลกรัม/เมตร2 พิจารณารับการผ่าตัดแบบ By pass กระเพาะอาหาร หากไม่มีข้อห้าม มากกว่าการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร

ความสำคัญในการเตรียมตัวผู้ป่วยก่อนเข้ารับบริการผ่าตัดลดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก

ก่อนเข้ารับบริการผ่าตัดลดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจประเมินสุขภาพร่างกายจากทีมแพทย์เฉพาะทาง และทีมสหสาขาวิชาชีพในด้านต่างๆ ได้แก่

  1. พบอายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดรักษาโรคอ้วนหรือผ่าตัดลดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งจะทำการตรวจประเมินภาวะความเสี่ยงและสาเหตุอื่นๆ ของโรคอ้วน รวมถึงให้การรักษาโรคร่วมทางอายุรกรรม เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง
  2. พบอายุรแพทย์ทางเดินอาหาร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตับ เพื่อตรวจประเมินภาวะไขมันพอกตับ และภาวะตับอักเสบจากไขมันพอกตับ โดยการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องและตรวจสแกนเนื้อเยื่อตับ (Fibroscan) และร่วมให้การรักษาหากมีภาวะตับอักเสบ
  3. พบอายุรแพทย์ทางเดินหายใจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะการนอนกรนและการหยุดหายใจขณะนอนหลับ เพื่อทำการตรวจ Sleep Test และประเมินความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจระหว่างนอนหลับ (CPAP) โดยหากผู้ป่วยมีภาวะจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ควรเริ่มรับการรักษาอย่างน้อย 6-8 สัปดาห์ ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  4. เข้ารับการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น เพื่อประเมินภาวะหลอดอาหารอักเสบจากกรดไหลย้อน ตรวจการติดเชื้อ Helicobacter ในกระเพาะอาหาร และความผิดปกติทางกายวิภาคอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวเนื่องกับผลการผ่าตัด
  5. ปรึกษานักโภชนาการ เพื่อปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยแนะนำให้ผู้ป่วยลดการรับประทานอาหารที่มีแคลอรีสูง (ปริมาณแคลอรีรวมต่อวันต้องไม่เกิน 800-1200 แคลอรี) ปรับลดอาหารจำพวกข้าว แป้ง และไขมัน ปรับเพิ่มอาหารจำพวกกากใย และเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อย

นอกจากนี้ ยังอาจต้องปรึกษาแพทย์สาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เช่น จิตแพทย์ แพทย์โรคผิวหนัง หรือศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เพื่อร่วมกันตรวจประเมินและให้การรักษาที่จำเป็นแก่ผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด

ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำให้เริ่มออกกำลังกายตามความเหมาะสมกับข้อจำกัดทางสรีระ และสุขภาพของผู้ป่วย โดยเน้นการออกกำลังกายแบบมีแรงต้านเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และการออกกำลังกายแบบแอโรบิคเพื่อช่วยเพิ่มการเผาผลาญแคลอรีและไขมันส่วนเกิน

ในระหว่างช่วงการเตรียมตัวผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด แนะนำให้ผู้ป่วยเริ่มทำการลดน้ำหนักส่วนเกินให้ได้ประมาณ 5-10% ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัดได้มาก ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิผลของการลดน้ำหนักหลังการผ่าตัดให้ดียิ่งขึ้น

การปฏิบัติตัวภายหลังการผ่าตัดลดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก

ในระยะแรกภายหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยรับประทานอาหารตรงตามมื้ออาหารเท่านั้น และหยุดรับประทานเมื่อเริ่มรู้สึกอิ่ม เลือกรับประทานอาหารจำพวกโปรตีนและเนื้อสัตว์เป็นหลัก งดรับประทานอาหารจำพวกข้าวและแป้ง จำกัดปริมาณรวมต่อวันไม่เกิน 800-1200 แคลอรี พยายามไม่ดื่มน้ำระหว่างรับประทานอาหาร รวมถึงก่อนและหลังรับประทานอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ไปดื่มน้ำให้เพียงพอในช่วงเวลาระหว่างมื้ออาหารแทน โดยควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 2500-3000 มิลลิลิตรต่อวัน

ทั้งนี้ควรงดการรับประทานอาหารหรือขนมจุบจิบระหว่างมื้ออาหาร และงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อยางเด็ดขาด

ข้อดีของการผ่าตัดลดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก (Bariatric Surgery)

  1. แผลผ่าตัดเล็ก
  2. ใช้เวลาฟื้นตัวหลังการผ่าตัดน้อย
  3. ผู้ป่วยสามารถเริ่มกลับมาออกกำลังกายได้ตามปกติทันที (ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม)
  4. ทีมแพทย์เฉพาะทางมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์โดยตรง จะทำงานร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพต่างๆ เพื่อสนับสนุนและวางแผนการรักษาเป็นอย่างดี โดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด

ข้อแนะนำ

  • หากก่อนเข้ารับการผ่าตัดมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจระหว่างนอนหลับ ยังจำเป็นจะต้องใช้เครื่องอย่างต่อเนื่องไปก่อนจนกว่าแพทย์จะแนะนำให้หยุดใช้ได้
  • ควรมาพบแพทย์เพื่อติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอตามนัดทุกครั้ง โดยคณะแพทย์และทีมสหสาขาจะติดตามแนวโน้มการลดลงของน้ำหนักตัว และอาการแทรกซ้อนต่างๆ รวมถึงภาวะทุพโภชนาการที่พบได้หลังการผ่าตัด และทำการปรับลดขนาดยารักษาโรคร่วมต่างๆ ตามอาการที่ดีขึ้น
  • ในผู้ป่วยเพศหญิงจะแนะนำให้ทำการคุมกำเนิดไว้ก่อน เพื่อป้องกันผลเสียจากการลดน้ำหนักต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
  • ภายหลังเข้ารับการผ่าตัดเป็นเวลา 2 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มสามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้น น้ำหนักที่ลดลงไปอาจจะเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามคงพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เหมาะสม และการออกกำลังกายที่เพียงพอเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ร่วมกับการติดตามการรักษากับทีมแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผลการรักษาที่ดี สามารถคงอยู่ต่อไปได้ในระยะยาว

แชร์

Loading...
Loading...
Loading...