“ไบโพลาร์” โรคอารมณ์สองขั้ว

“ไบโพลาร์” โรคอารมณ์สองขั้ว

คุณเคยพบหรือไม่? คนที่มีอารมณ์แปรปรวน อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย… อย่าคิดว่านี่คือเรื่องปกติ และถ้าเขาคนนั้น…คือคนใกล้ชิดหรือคนรู้จัก ควรแนะนำหรือหาทางให้เขาได้ไปพบแพทย์ เพราะอาการที่เขาเป็นอยู่นั้นอาจบ่งชี้ได้ว่ามีภาวะ “โรคอารมณ์สองขั้ว” หรือที่รู้จักกันดีว่า “โรคไบโพลาร์” นั่นเอง

“ไบโพลาร์”…โรคนี้ที่คุ้นหู

โรคอารมณ์สองขั้ว หรือ โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) คือโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์สองแบบที่ต่างกันสุดขั้วสลับไปมา ระหว่างช่วงที่อารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ (Mania) กับ อารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติ (Depression) โดยในแต่ละช่วงอารมณ์อาจอยู่นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน โดยสามารถมีช่วงอารมณ์ปกติคั่นกลางได้

นี่ใช่ไหม? ที่เรียก “ไบโพลาร์”

ผู้ป่วยไบโพลาร์จะมีอารมณ์แปรปรวนสลับกัน โดยไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ใดๆ ดังนี้

ช่วงที่ผู้ป่วยมีภาวะอารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ

  • มักคิดว่าตนเองสำคัญ มั่นใจในตัวเองมากขึ้น
  • นอนน้อยกว่าปกติมาก โดยไม่มีอาการเพลียหรือต้องการนอนเพิ่ม
  • คิดเร็ว พูดเร็ว พูดมากกว่าปกติ
  • ทำกิจกรรมหลายๆ อย่างในช่วงเวลานั้น
  • ภาวะในการตัดสินใจไม่ดี มีความผิดพลาดสูง เช่น ใช้เงินฟุ่มเฟือย ขาดความยับยั้งใจในเรื่องเพศ
  • โต้ตอบต่อสิ่งเร้าอย่างรวดเร็วและรุนแรง หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย ไม่มีเหตุผล

ช่วงที่ผู้ป่วยมีภาวะอารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติ

  • มีอาการซึมเศร้า เก็บตัว เสียใจง่าย ร้องไห้ง่าย
  • มีปัญหาด้านการนอน นอนไม่หลับ หรือนอนหลับมากเกินไป
  • มีปัญหาด้านการกิน กินมากเกินไป หรือกินน้อยเกินไป
  • สมาธิลดลง ไม่สามารถจดจำสิ่งต่างๆ ได้
  • วิตกกังวลต่อสิ่งรอบตัว มองโลกในแง่ร้าย
  • รู้สึกเบื่อ ท้อแท้ สิ้นหวัง ไม่สนใจกิจกรรมต่างๆ
  • รู้สึกผิดหวัง ไม่มีความสุข มีความคิดเรื่องการตายอยู่เรื่อยๆ

“ไบโพลาร์”… เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง

มีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิด “โรคไบโพลาร์”  

  • ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง
    ได้แก่ สารอะดรีนาลีน สารเซโรโทนิน และสารโดปามีน ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการทำงานในส่วนต่างๆ ของสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์
  • ทางพันธุกรรม
    พบว่าผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้ หรือโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคไบโพลาร์สูงกว่าคนทั่วไป
  • สภาพแวดล้อม
    การเลี้ยงดูในวัยเด็กหรือวิกฤตในชีวิตที่ผู้ป่วยต้องเผชิญ เช่น ความผิดหวัง ความเสียใจ  การเจ็บป่วย หรือความเครียดสะสม สิ่งต่างๆ เหล่านี้กระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจทั้งสิ้น

“ไบโพลาร์” มีวิธีรักษา

แม้ว่า “โรคไบโพลาร์” ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาได้ตามอาการ และสามารถควบคุมอาการให้มีผลต่อผู้ป่วยน้อยที่สุดได้

  • การรักษาด้วยยา
    ใช้ยาเพื่อปรับสารสื่อประสาทในสมองให้กลับสู่สภาวะปกติ ทำให้อารมณ์มั่นคง  สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแต่ผู้ป่วยห้ามหยุดยาเอง ต้องปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ  หากผู้ป่วยกังวลเรื่องผลข้างเคียงของยา สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์ปรับยาให้เฉพาะบุคคลอย่างเหมาะสม
  • การรักษาด้วยจิตบำบัด
    การรักษาด้วยไฟฟ้า หรือ Electroconvulsive Therapy เรียกสั้นๆ ว่า ECT เป็นการใช้กระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นให้สารสื่อนำประสาทภายในสมองกลับมาทำงานโดยปกติ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนเพื่อควบคุมอาการให้สงบลง

เราไม่มีทางรู้เลยว่า ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมานั้น ใครบ้างที่กำลังป่วยอยู่?… เราจะเห็นได้ว่านอกจากสารเคมีในสมองที่ผิดปกติจะเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดโรคแล้ว คนใกล้ชิด คนรู้จัก ล้วนมีส่วนที่ทำให้สภาพจิตใจของเขาเหล่านั้นดีขึ้นหรือแย่ลงได้ด้วยเช่นกัน

ถนอมคำพูด ถนอมน้ำใจ รักษาความรู้สึกของกันและกันให้ดี… เพื่อไม่ให้ “ใคร” ก็ตาม  ต้องตกอยู่ในภาวะ “ไบโพลาร์”

 


แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ




บทความแนะนำ

ระวัง! โรคร้ายที่มาพร้อมกับน้ำท่วมขัง

พญาไท นวมินทร์

ในช่วงฤดูฝนและน้ำท่วม การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ เพราะน้ำที่ท่วมขังอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค เช่น โรคฉี่หนูและโรคน้ำกัดเท้า ควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ และหากจำเป็นต้องลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบูทและล้างร่างกายให้สะอาดทันที หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้สูงหรือแผลเปื่อย ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษาโดยเร็ว

รู้ให้ทัน…รักษาให้ไวกับโรคไข้เลือดออก

พญาไท นวมินทร์

โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า “เดงกี” (Dengue virus) ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ โดยมียุงลายบ้านและยุงลายสวนเป็นพาหะนำโรค ทำให้ผู้ที่ถูกยุงลายเหล่านี้กัดจึงติดเชื้อไวรัสเดงกีแล้วเป็นโรคไข้

วิธีจัดการความเครียดภายในครอบครัวและผู้สูงอายุ ช่วงโควิด-19

พญาไท นวมินทร์

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนเราจะมีภาวะเครียด ขอแค่เรารู้ตัวและหามีวิธีรับมือกับความเครียดได้อย่างเหมาะสม เราก็จะทำให้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์ต่างๆ ไปได้ด้วยดี

เสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ด้วยวัคซีนสำหรับผู้ใหญ่

พญาไท นวมินทร์

ผู้ใหญ่และผู้สูงวัยมักมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง จึงทำให้มีอาการมากและเป็นเสี่ยงโรคแทรกซ้อนได้ง่ายเมื่อมีการติดเชื้อ การฉีดวัคซีนตามความเสี่ยงของช่วงวัย อาชีพ และสภาพแวดล้อมจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง