ท้องผูกเรื้อรัง ต้องรีบแก้ไขก่อนเกิดโรคร้าย

พญาไท นวมินทร์

1 นาที

พฤ. 01/09/2022

แชร์


Loading...
ท้องผูกเรื้อรัง ต้องรีบแก้ไขก่อนเกิดโรคร้าย

ท้องผูกเรื้อรัง ต้องรีบแก้ไขก่อนเกิดโรคร้าย

อาการ “ท้องผูก” เป็นปัญหาที่คนส่วนมากมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร เพราะคิดว่าแค่กินยาระบายก็ทำให้ถ่ายได้แล้ว ดังนั้นพอเป็นอีกก็กินยาอีกไปเรื่อยๆ แต่หารู้ไม่ว่า…หากกินยาช่วยถ่ายแบบนี้เป็นประจำ นอกจากโรคท้องผูกจะไม่หายแล้ว ยังอาจส่งผลให้เกิดโรคร้ายตามมาอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

ภาวะท้องผูกเรื้อรัง คือ?

โดยปกติคนเราจะถ่ายอุจจาระอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ถ้าถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือมีอาการถ่ายยากติดต่อกันนานเป็นเดือน อาจบ่งชี้ได้ว่าเรามี “ภาวะท้องผูกเรื้อรัง” ทั้งนี้ ตามความเป็นจริงแล้ว อาการท้องผูกของแต่ละคนก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรวัดเดียวกัน และไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้ง หรือความสม่ำเสมอในการขับถ่ายเสมอไป ตราบใดที่เรายังสามารถขับถ่ายได้อย่างสบาย ไร้ปัญหา ไม่ต้องเบ่ง และอุจจาระมีลักษณะนิ่มจับตัวเป็นก้อนดี แม้จะถ่ายไม่สม่ำเสมอก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด

ระหว่างท้องผูกฉับพลัน..กับ..ท้องผูกเรื้อรัง แบบไหนต้องรักษา?

ภาวะ “ท้องผูก” ของบางคน อาจจะถ่ายลำบาก ต้องเบ่งถ่าย มีอุจจาระแข็ง หรือบางคนอาจจะนานๆ ถ่ายที ซึ่งทั้งหมดนี้คือภาวะท้องผูก แต่หากมีอาการแค่ 2-3 วัน อาจเป็นแค่ “ภาวะท้องผูกฉับพลัน” ที่มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิต เช่น ความเจ็บป่วย การกินยา การเดินทาง หรือไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ภาวะนี้เพียงแค่ปรับการใช้ชีวิต ทานผักผลไม้ให้มากขึ้น หมั่นออกกำลังกาย หรือสามารถซื้อยาระบายมารับประทานเพื่อบรรเทาอาการได้ แต่หากมีอาการนานเป็นเดือนหรือนานเป็นปี นั่นคือ “ภาวะท้องผูกเรื้อรัง” ซึ่งควรเข้ารับการรักษาและต้องพบแพทย์เฉพาะทางด้านระบบทางเดินอาหารและตับจะดีที่สุด

อาการแบบไหน? ที่เรียกว่า…ภาวะท้องผูกเรื้อรัง

อาการท้องผูกในทางการแพทย์ คือกลุ่มอาการต่างๆ ดังนี้

  • ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
  • อุจจาระเป็นก้อนแข็ง
  • ต้องเบ่งมากกว่าปกติจึงจะถ่ายออก
  • รู้สึกเหมือนมีอะไรอุดตันอยู่ในลำไส้ตรง และขัดขวางการขับถ่ายอุจจาระ
  • รู้สึกเหมือนถ่ายอุจจาระได้ไม่สุด
  • ต้องกดนวดหน้าท้องเพื่อช่วยให้ถ่ายอุจจาระง่ายขึ้น หรือต้องใช้นิ้วมือช่วยในการถ่ายอุจจาระ

ภาวะท้องผูกเรื้อรัง…เกิดจากสาเหตุใด?

มีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะท้องผูกเรื้อรัง

  • เกิดจากโรคทางกาย
  • เบาหวาน
  • ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
  • ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง
  • โรคทางระบบประสาทต่างๆ เช่น การบาดเจ็บที่สมองหรือไขสันหลัง โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) หรือโรคเอ็มเอส (MS)
  • เกิดจากยาที่รับประทานเป็นประจำ เช่น ยาในกลุ่มโอปิแอต (Opiate) ยาต้านแคลเซียม ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยาที่มีผลกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ (Sympathomimetic drug) ยาต้านอาการทางจิต ยาขับปัสสาวะ อาหารเสริมแคลเซียม อาหารเสริมธาตุเหล็ก ยาแก้แพ้ ยาลดกรด โดยเฉพาะชนิดที่มีแคลเซียมสูง
  • การทำงานของลำไส้ หรือกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่ายผิดปกติ
  • มีความผิดปกติที่ทวารหนัก หรือลำไส้ตรงฉีกขาด
  • มีภาวะลำไส้ตีบตัน หรือลำไส้แปรปรวน
  • มีปัญหาสุขภาพทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรคการกินผิดปกติ
  • ความบกพร่องทางร่างกายที่ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก เช่น ผู้ป่วยติดเตียง
  • ไม่ค่อยออกกำลังกาย
  • ดื่มน้ำไม่เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย

ปรับตัวปรับพฤติกรรม…ลดเสี่ยง “ท้องผูกเรื้อรัง” ได้ 

ถ้าไม่อยากทรมานกับ “อาการท้องผูกเรื้อรัง” เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง ก็ช่วยให้เราสามารถขับถ่ายได้ดีขึ้น

  • หากปวดอุจจาระ ควรรีบเข้าห้องน้ำทันทีที่ทำได้ อย่ากลั้นเอาไว้
  • กินอาหารที่มีกากใยและไฟเบอร์สูง เช่น พืชตระกูลถั่ว ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด
  • ลดการกินอาหารจำพวกเนื้อแดง นมและผลิตภัณฑ์จากนม และอาหารแปรรูป
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อให้อุจจาระอ่อนนุ่ม ถ่ายง่าย
  • ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการกระตุ้นลำไส้ให้ทำงานปกติ
  • พยายามขับถ่ายให้เป็นเวลา
  • เมื่อรู้สึกเครียดควรหากิจกรรมทำเพื่อคลายเครียด เช่น นั่งสมาธิ ฟังเพลง เดินเล่น ดูหนังที่ชอบ

ใครก็ตามที่มีความผิดปกติในเรื่องระบบการขับถ่าย ให้รีบมาพบแพทย์เฉพาะทางทันที เพื่อรับการตรวจ วินิจฉัย และทำการรักษาอย่างถูกต้องตรงสาเหตุ เพราะหากปล่อยไว้นานๆ อาจเกิดโรคร้ายแรงแทรกซ้อนขึ้นมาได้

“การขับถ่าย” ถือเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวัน หากเรามีการขับถ่ายที่ดี ก็จะช่วยให้ในแต่ละวันของเราสดใส สบายท้องไปทั้งวัน

 

นพ. อุดมรัช โกวิททวิพัฒน์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม
ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์


นัดหมายแพทย์

แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ



Loading...
Loading...