ปวดหรือเจ็บข้อมือบริเวณโคนหัวแม่มือ ปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ รีบพามือพบหมอ
อาการปวดหรือเจ็บข้อมือพบได้บ่อยในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องใช้งานข้อมือซ้ำๆ เช่น พนักงานออฟฟิศ นักกีฬาที่ต้องใช้ข้อมือหนักๆ บวกกับลักษณะชีวิตประจำวันที่มีการใช้โทรศัพท์มือถือมากๆ ข้อมือต้องอยู่ผิดท่าเป็นเวลานาน ทำให้มีอาการเจ็บเรื้อรัง และนำไปสู่ปัญหาเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De quervain’s disease) ได้ สำหรับใครที่กำลังมีปัญหานี้ ให้รีบพามือมาพบหมอ เพื่อหาวินิจฉัยหาสาเหตุ จะได้ป้องกันและรีบรักษาอย่างตรงจุด
สารบัญ
- โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ คืออะไร?
- อาการปวด เจ็บ ข้อมือ บริเวณโคนหัวแม่มือ
- สาเหตุ เอ็นข้อมืออักเสบ
- ลักษณะอาการที่ควรพบแพทย์
- ปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นเอ็นข้อมืออักเสบ
- การรักษาเอ็นข้อมืออักเสบ
- รู้ได้อย่างไรว่าถึงเวลาต้องผ่าตัดข้อมือ
- วิธีป้องกันเอ็นข้อมือและปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ
โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ คืออะไร?
ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De quervain’s disease) คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็นและเส้นเอ็นบริเวณข้อมือตรงโคนนิ้วหัวแม่มือ ส่งผลให้เกิดอาการปวดบวมบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ
อาการปวด เจ็บ ข้อมือ บริเวณโคนหัวแม่มือ
อาการปวด เจ็บข้อมือบริเวณโคนหัวแม่มือ จะมีอาการมากขึ้นขณะบิดหมุนข้อมือ จับวัตถุ กำมือ หรือหยิบสิ่งของ กรณีอาการรุนแรงอาจเจ็บมากจนของหลุดมือ ซึ่งลักษณะอาการดังกล่าว อาจเกิดจากเอ็นข้อมือบริเวณโคนหัวแม่มืออักเสบ
สาเหตุ เอ็นข้อมืออักเสบ
- ลักษณะทางกายวิภาคของข้อมือบริเวณโคนหัวแม่มือ ประกอบด้วยเอ็นที่ทำหน้าที่เหยียดและกางหัวแม่มือวางตัวอยู่บนกระดูกข้อมือ เอ็นดังกล่าวจะลอดผ่านอุโมงค์ขนาดเล็กบริเวณข้อมือด้านหัวแม่มือ
- การใช้งานหัวแม่มือซ้ำๆ ในการหยิบจับสิ่งของ โดยเฉพาะของหนัก ร่วมกับมีการเอียงหรือบิดหมุนข้อมือ เช่น การทำสวน เล่นกอล์ฟ แบดมินตัน เทนนิส อุ้มลูก อาจเป็นสาเหตุของการอักเสบดังกล่าว
- เมื่อมีการอักเสบ จะเกิดการบวมของเอ็นและผนังอุโมงค์ข้อมือ ทำให้เกิดการเสียดสีของเอ็นและอุโมงค์ข้อมือมากขึ้น เป็นผลให้เกิดการอักเสบมากขึ้นเช่นกัน โดยอาการเจ็บจะแปรผันตามกระบวนการการอักเสบที่เกิดขึ้น
ลักษณะอาการที่ควรพบแพทย์
เอ็นและปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ จะมีอาการปวด เจ็บ บวมบริเวณข้อมือด้านโคนนิ้วหัวแม่มือ โดยจะเจ็บมากเวลาขยับ บิดหมุนข้อมือ หรือกำมือ อาการเจ็บจะมากขึ้นถ้าเอียงข้อมือไปทางนิ้วก้อย กรณีอักเสบมากอาจเกิดการติดสะดุดของเอ็น รู้สึกได้เมื่อพยายามเหยียดหัวแม่มือ หรือกระดกข้อมือมาทางด้านหัวแม่มือ ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาการดังกล่าวจะเป็นมากขึ้น บางครั้งอาจเจ็บมากจนปล่อยของหลุดมือไม่รู้ตัว
ปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นเอ็นข้อมืออักเสบ
- อายุ พบบ่อยในช่วงอายุ 30-50 ปี
- เพศ พบในเพศหญิงมากกว่าชาย
- การตั้งครรภ์ พบได้บ่อยในสตรีขณะตั้งครรภ์และให้นมบุตร
- การเลี้ยงดูลูก การอุ้มลูกซ้ำๆ โดยใช้หัวแม่มือรับน้ำหนัก อาจส่งผลให้เอ็นข้อมืออักเสบได้
- การทำงานซ้ำๆ ที่จำเป็นต้องใช้มือและข้อมือรับน้ำหนัก อาจเป็นสาเหตุสำคัญให้เอ็นข้อมืออักเสบได้
การรักษาเอ็นข้อมืออักเสบ
- เครื่องพยุงข้อมือ ช่วยลดการอักเสบ ลดความเจ็บปวด ควรใส่เวลากลางคืนหรือขณะทำงาน
- ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ช่วยลดอาการปวดและอักเสบ อาจใช้รับประทานหรือทาเฉพาะบริเวณที่ปวด
- การปรับเปลี่ยนท่าการทำงาน ช่วยลดการบาดเจ็บ และควรหลีกเลี่ยงการทำงานซ้ำๆ
- การฉีดสเตียรอยด์เฉพาะที่ ใช้ในกรณีที่วิธีการข้างต้นไม่ได้ผล โดยจะฉีดเข้าบริเวณที่เกิดการอักเสบ ได้ผลประมาณร้อยละ 50-80 แต่ไม่แนะนำให้ฉีดเกิน 2 ครั้ง เนื่องจากจะเกิดผลเสียต่อเอ็นอย่างถาวร
- การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาโดยวิธีอื่นได้ผล โดยทั่วไปใช้การฉีดยาชาเฉพาะที่ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แผลผ่าตัดยาวประมาณ 1 เซนติเมตร หลังผ่าตัดสามารถใช้มือทำงานเบาๆ ได้ จากนั้นประมาณ 10-14 วัน สามารถตัดไหมได้และใช้มือทำงานได้ตามปกติ
รู้ได้อย่างไรว่าถึงเวลาต้องผ่าตัดข้อมือ
ในกรณีทำการรักษาเบื้องต้นแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น ยังคงมีอาการเจ็บปวดที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดจึงเป็นทางออกของการรักษา โดยวิธีการผ่าตัดจะเป็นการผ่าตัดเพื่อขยายอุโมงค์ปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณที่มีการเสียดสีกัน ช่วยให้เส้นเอ็นเคลื่อนตัวได้ดีขึ้น
ในกรณีที่เคยเข้ารับการรักษาเบื้องต้น และยังมีอาการเจ็บปวดหลงเหลืออยู่ แต่ไม่ได้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันก็อาจไม่จำเป็นต้องรับการผ่าตัด โดยแพทย์จะประเมินเป็นรายบุคคลว่าเหมาะสมกับการผ่าตัดหรือไม่
วิธีป้องกันเอ็นข้อมือและปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ
การป้องกันเอ็นข้อมืออักเสบ อันดับแรกคือ หากใช้งานข้อมือหนักเกินไป ควรลดการใช้ข้อมือลง หากเริ่มมีอาการปวด เจ็บ ควรหลีกเลี่ยงการใช้งาน โดยเฉพาะการใช้งานในลักษณะเดิมซ้ำๆ ถ้าเป็นงานที่ต้องใช้ข้อมือเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือคุณแม่ที่ต้องอุ้มลูกบ่อยๆ ควรจัดท่าทางการวางข้อมือให้ถูกต้องเพื่อลดแรงกระทำต่อข้อมือ และช่วยถนอมสุขภาพข้อมือให้แข็งแรงในระยะยาว
ข้อมือเป็นหนึ่งข้อต่อที่มีการใช้งานบ่อยที่สุด มีส่วนประกอบละเอียดอ่อนที่ช่วยยึดและดึงเพื่อให้ข้อมือสามารถเคลื่อนไหวในแนวต่างๆ ได้ จึงมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย โดยมีอาการปวด เจ็บข้อมือ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หากมีอาการเจ็บต่อเนื่องไม่หายควรพบแพทย์เพื่อการวินิฉัยและได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เพราะหากปล่อยปละละเลยอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น และมีโอกาสเกิดการอักเสบร่วมกับเอ็นนิ้ว ทำให้เกิดนิ้วล็อก หรือหากเกิดอาการเอ็นอักเสบบวมมากจนเบียดเส้นประสาท อาจทำให้มีอาการปวดและชามือได้
รศ.นพ.อดิศักดิ์ สังข์เพ็ชร
ศัลยแพทย์ทางมือ ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูก และข้อ
โรงพยาบาลพญาไท 3 ชั้น 1
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Phyathai Call Center 1772
โทร. 0-2467-1111 ต่อ 3100 และ 3112