ปวดมือ ชามือ มืออ่อนแรง ส่องกล้องรักษาโรคเส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ

พญาไท 3

2 นาที

พฤ. 08/09/2022

แชร์


Loading...
ปวดมือ ชามือ มืออ่อนแรง ส่องกล้องรักษาโรคเส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ

 

ปวดมือ ชามือ มืออ่อนแรง จากโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ ส่องกล้องรักษาได้

ในชีวิตประจำวัน ที่เราจำเป็นต้องใช้มือทำงานซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือใช้มือทำงานหนักเกินไป อาจก่อให้เกิดอาการปวดมือ ชามือ มืออ่อนแรง หยิบของหลุดมือบ่อยๆ ลักษณะอาการดังกล่าว อาจมีสาเหตุมาจากโรคเส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ (carpal tunnel syndrome หรือ CTS) ซึ่งหากปล่อยไว้ไม่รีบรักษา อาการจะยิ่งลุกลามหนักขึ้น และสามารถส่งผลให้เกิดอาการมือลีบในที่สุด

ในบทความนี้ จะกล่าวถึงโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ เพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุ การรักษา และการดูแลข้อมือ ที่สำคัญหากมีอาการปวด ชา หรือข้อมืออ่อนแรง ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที

สารบัญ 

  1. เส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ สาเหตุ เกิดจากอะไร?
  2. ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ 
  3. โรคเส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ อาการเป็นอย่างไร ?
  4. รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคเส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ 
  5. โรคเส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ รักษาอย่างไร ?
  6. การป้องกันโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ

เส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ สาเหตุ เกิดจากอะไร?
บริเวณข้อมือ มีอุโมงค์ให้เอ็นและเส้นประสาทลอดผ่านจากบริเวณแขนสู่ฝ่ามือ โครงสร้างของอุโมงค์ข้อมือประกอบด้วยกระดูกข้อมือทางด้านล่างและพังผืดทางด้านบน การใช้มือทำงานหนักหรือทำงานซ้ำๆ  ติดต่อกันเป็นเวลานาน เป็นผลให้เกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อภายในอุโมงค์ข้อมือ มีการอักเสบ บวม

ลักษณะดังกล่าวทำให้เกิดการกดเบียดเส้นประสาท เป็นผลให้เลือดไปเลี้ยงเส้นประสาทบริเวณมือน้อยลง มีอาการปวด ชา บริเวณฝ่ามือ หากไม่ได้รับการรักษา มือจะเริ่มอ่อนแรง เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตในที่สุด โดยจะเห็นกล้ามเนื้อลีบบริเวณเนินฝ่ามือด้านหัวแม่มือ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ

  • การใช้มือและข้อมือทำงานซ้ำๆ หรือทำงานหนักมากเกินไป
  • ลักษณะอุโมงค์ข้อมือแคบผิดปกติโดยกำเนิด
  • การได้รับการบาดเจ็บบริเวณข้อมือ
  • การตั้งครรภ์
  • ภาวะหมดประจำเดิอน
  • การใช้ยาคุมกำเนิด
  • โรคเบาหวาน
  • โรครูมาตอยด์
  • โรคอ้วน
  • โรคเก๊าท์
  • มีก้อนเนื้องอกหรือถุงน้ำบริเวณข้อมือ

โรคเส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ อาการเป็นอย่างไร?
เริ่มแรก จะมีอาการชาบริเวณปลายนิ้วมือ อาจชาเพียงนิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว จากนั้นอาการชาจะลุกลามเป็นมากขึ้น ร่วมกับมีอาการปวด โดยจะปวดมากในเวลานอนหลับ บางครั้งอาจปวดมากจนต้องตื่นขึ้นมาสะบัดมือแล้วจึงนอนต่อได้

ต่อมา อาการปวดอาจมีมากขึ้นจนไม่สามารถนอนหลับได้ อาการปวดจะมีมากที่สุดในท่างอข้อมือ หากไม่ได้รับการรักษามือจะเริ่มมีการอ่อนแรง หยิบจับของหลุดมือบ่อยๆ กล้ามเนื้อเนินฝ่ามือด้านหัวแม่มือเริ่มลีบ มือเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และนิ้วมือผิดรูปในที่สุด

ลักษณะอาการดังกล่าว หากได้รับการรักษาช้าเกินไป อาจไม่สามารถกลับสู่สภาวะปกติได้ ส่งผลให้มีอาการชาหรืออ่อนแรงถาวร รวมถึงการมีกล้ามเนื้อลีบหรือนิ้วมือผิดรูปถาวรเช่นกัน สำหรับผู้ป่วยที่สังเกตว่าเริ่มมีอาการตามที่กล่าวข้างต้น และเริ่มเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคเส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ?
การวินิจฉัยโรคเส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ จะอาศัยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย โดยแพทย์จะทดสอบกล้ามเนื้อฝ่ามือและกล้ามเนื้อแต่ละนิ้ว การเคาะเบาๆ บริเวณเส้นประสาท การงอข้อมือหรือกดเส้นประสาท เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการแสดงอาการ การตรวจเลือด เพื่อหาโรคร่วม และภาพถ่ายรังสีข้อมือเพื่อหาความผิดปกติของโครงสร้างอุโมงค์ข้อมือ การตรวจคลื่นเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า (electromyography) เพื่อยืนยันการวินิจฉัย

อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางราย การตรวจคลื่นเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้าอาจให้ผลปกติ แม้ผู้ป่วยจะเป็นโรคเส้นประสาทข้อมือถูกดทับจริง จึงควรใช้ควบคู่กับการตรวจวินิจฉัยอื่นๆ

โรคเส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ รักษาอย่างไร?
วิธีการรักษาโรคเส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ ขึ้นอยู้กับระดับความรุนแรงของโรคและระยะเวลาที่เป็น โดยมีวิธีการรักษาดังนี้

  • การพักการใช้งาน
    ช่วยลดการอักเสบ ลดบวม ส่งผลให้การกดเบียดเส้นประสาทลดลง เลือดกลับไปเลี้ยงเส้นประสาทมากขึ้น ช่วยให้เส้นประสาทฟื้นตัวได้ดีขึ้น จากนั้นควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้มือให้เหมาะสม
  • ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
    ช่วยลดการอักเสบ ลดบวม อาจทำให้อาการดีขี้นในกรณีที่เริ่มมีอาการและไม่รุนแรง แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ เช่น โรคกระเพาะ โรคไต
  • วิตามินบี
    ช่วยในการฟื้นตัวของเส้นประสาท ได้ผลในกรณีที่มีอาการเพียงเล็กน้อย ควรใช้ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ
  • การใช้เครื่องพยุงมือ
    ช่วยลดความดันภายในอุโมงค์ข้อมือ ทำให้เลือดกลับไปเลี้ยงเส้นประสาทได้ดีขึ้น แนะนำให้ใส่เวลานอนหลับการฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์เข้าอุโมงค์ข้อมือ
  • การฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์เข้าอุโมงค์ข้อมือ
    ใช้ในกรณีรักษาโดยวิธีการข้างต้นไม่ได้ผล การฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์เข้าอุโมงค์ข้อมือ ช่วยลดการอักเสบภายในอุโมงค์ข้อมือ แต่ไม่ควรฉีดเกิน 2 ครั้ง เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังจากการระคายเคืองเส้นประสาท
  • การผ่าตัดพังผืดอุโมงค์ข้อมือ
    เป็นวิธีสุดท้ายในการรักษาเส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ สามารถขยายขนาดอุโมงค์ข้อมืออย่างถาวร ทำได้โดยการฉีดยาชาเฉพาะที่ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล โดยทั่วไปแผลผ่าตัดจะอยู่บริเวณโคนฝ่ามือ มีความยาวประมาณ 3-4 เชนติเมตร หลังผ่าตัดประมาณ 7-10 วัน สามารถตัดไหมได้ จากนั้นจึงเริ่มใช้มือทำงานได้ตามปกติ
  • การส่องกล้องตัดพังผืดอุโมงค์ข้อมือ
    สามารถตัดพังผืดอุโมงค์ข้อมือผ่านกล้อง โดยการฉีดยาชาเฉพาะที่ ใช้เวลาประมาณ 20 นาที ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แผลผ่าตัดยาวประมาณ 1 เซนติเมตรบริเวณข้อมือ ขนานไปการรอยพับของข้อมือ เพื่อซ่อนรอยแผลผ่าตัด ข้อดีคือ โอกาสเกิดแผลเป็นหลังผ่าตัดน้อยกว่าวิธีทั่วไป อาการเจ็บแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่าวิธีทั่วไป เพราะเกิดการบาดเจ็บจากการผ่าตัดน้อยกว่า สามารถกลับมาใช้มือได้เร็วกว่า และในระยะยาว สามารถลดปัญหาแผลเป็นจากการผ่าตัดได้ดีกว่า

การป้องกัน โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ
โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ ไม่มีวิธีป้องกันโดยตรง เพราะสาเหตุอาการปวดมือ ชามือ มืออ่อนแรง อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือความผิดปกติแต่กำเนิด แต่สามารถลดความเสี่ยงของโรคได้ โดยการเลี่ยงพฤติกรรมที่ต้องใช้มือและข้อมือหนักๆ โดยมีข้อแนะนำ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการใช้มือและข้อมือหนักๆ หากต้องทำงานกับเมาส์และคอมพิวเตอร์ ควรจัดท่าทางการวางมือให้ถูกต้อง วางแป้นพิมพ์ในระดับเดียวกับหรือต่ำกว่าข้อศอกเล็กน้อย และหลีกเลี่ยงการแอ่นข้อมือขึ้นหรือลงจนสุด
  • ระหว่างการทำงาน ควรหยุดพัก ยืด ดัด และหมุนมือกับข้อมืออยู่เสมอ
  • ไม่นอนทับมือ หากสวมอุปกรณ์พยุงข้อมือ ควรสวมอุปกรณ์พยุงที่ไม่คับจนเกินไปขณะนอนหลับ
  • หากอยู่ในสภาพอากาศที่หนาวเย็น ควรสวมถุงมือเพื่อรักษาความอบอุ่นของมือ จะช่วยลดอาการปวดตึง
  • รักษาโรคที่เป็นสาเหตุของการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ เช่น โรคเบาหวาน โรครูมาตอยด์ โรคอ้วน โรคเก๊าท์

โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่หลายคนต้องทำงานโดยใช้ข้อมือหนักๆ ซ้ำๆ ในทุกๆ วัน ดังนั้นหากมีอาการปวดมือ ชามือ มืออ่อนแรง จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรสังเกตอาการและรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาก่อนอาการจะเป็นหนักขึ้น รวมถึงควรปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก เพื่อรักษาข้อมือให้แข็งแรงและสามารถใช้งานได้อย่างปกติในระยะยาว

รศ.นพ.อดิศักดิ์ สังข์เพ็ชร
ศัลยแพทย์ทางมือ ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูก และข้อ
โรงพยาบาลพญาไท 3 ชั้น 1
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Phyathai Call Center 1772
โทร. 0-2467-1111 ต่อ 3100 และ 3112

 


แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ



Loading...