คุณเป็น พาหะธาลัสซีเมีย โดยไม่รู้ตัว อยู่หรือเปล่า

คุณเป็น พาหะธาลัสซีเมีย โดยไม่รู้ตัว อยู่หรือเปล่า

รู้หรือไม่? โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อยที่มากที่สุดในประเทศไทย

รู้หรือไม่? มีทารกแรกเกิดตรวจพบธาลัสซีเมียกว่า 12,000 คนต่อปี

รู้หรือไม่? คนไทยกว่า 22 ล้านคนเป็น พาหะธาลัสซีเมียโดยไม่รู้ตัว

ทุก 1 ใน 3 คนของประชากรไทย คือคนที่เป็น “พาหะธาลัสซีเมีย” หรือที่นิยมเรียกกันว่า “ธาลัสซีเมียแฝง” และเพราะว่าการเป็นพาหะ ไม่ได้เป็นภาระในการใช้ชีวิต ไม่ได้แสดงความผิดปกติ และไม่ได้กระทบต่อสุขภาพ จึงไม่แปลกอะไรที่เราจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็น แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณวางแผนที่จะมีลูก การเป็นพาหะธาลัสซีเมียเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะธาลัสซีเมีย เป็นโรคจากความปกติในการผลิตฮีโมโกลบิน ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สมบูรณ์ คนที่เป็นโรคธาลัสซีเมียจึงมีโอกาสที่จะมีปัญหาสุขภาพมากมายและรุนแรงกว่าคนทั่วไป ที่สำคัญคือเป็นแล้วต้องอยู่กับโรคนี้ไปตลอดชีวิต!

เช็กสิ๊คุณเสี่ยงเป็นพาหะธาลัสซีเมียหรือไม่

โดยปกติแล้วการเป็นพาหะธาลัสซีเมียจะไม่แสดงอาการที่ผิดปกติใดๆ แต่ก็มีสัญญาณเตือนบางสิ่งที่บ่งบอกคุณอาจมีภาวะนี้อยู่ ได้แก่

  • ตรวจพบขนาดเม็ดเลือดแดงตัวเล็กกว่าปกติ โดยขนาดของเม็ดเลือดแดงในคนปกติควรมีค่า MCV อยู่ที่ 80-100 หากมีค่าต่ำกว่านี้ คุณก็อาจเป็นพาหะธาลัสซีเมียได้
  • ตรวจพบโลหิตจางชนิดไม่รุนแรง พูดง่ายๆ ก็คือความเข้มข้นของเลือดอาจจะต่ำกว่าค่ามาตรฐานเล็กน้อย อาจทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย หรือผิวซีดในบางราย และอาจไม่ได้กระทบกับสุขภาพจนไม่ทราบถึงความผิดปกตินี้

ตรวจคัดกรองธาลัสซีเมีย ทำได้กี่วิธี

          1.ตรวจคัดกรองเบื้องต้น (Screening Test)
ก็คือการตรวจเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดในเบื้องต้น ดูค่าความเข้มข้นของเลือด ขนาดของเม็ดเลือดแดงว่าผิดปกติหรือไม่ เป็นวิธีการตรวจที่แปลผลง่าย รวดเร็ว แต่จะไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นพาหะของธาลัสซีเมียชนิดใด หากเข้าข่ายมีความเสี่ยงก็ควรเข้ารับการตรวจ Hb Typing เพื่อยืนยันผลที่ชัดเจน

          2.ตรวจชนิดของฮีโมโกลบิน (Hemoglobin Typing)
การตรวจชนิดฮีโมโกลบินจะช่วยตรวจสอบดูว่ามีฮีโมโกลบินชนิดใดที่ขาดไปหรือไม่ เพราะฮีโมโกลบินแบ่งออกได้ 2 ชนิดหลัก คือ อัลฟา (Alpha) และเบต้า (Beta) ซึ่งโรคธาลัสซีเมียก็แบ่งออกเป็น 2 ชนิดเช่นกัน โดยแบ่งตามชนิดของฮีโมโกลบินที่ร่างกายผลิตไม่ได้

          3.การตรวจดีเอ็นเอ (DNA Analysis)
เป็นการตรวจหาพาหะธาลัสซีเมียที่มีความเฉพาะเจาะจงกว่า และให้ผลชัดเจนกว่า เรียกได้ว่าเป็นวิธีการตรวจที่แม่นยำที่สุดในปัจจุบัน สามารถทราบถึงชนิด ความเสี่ยง และบางครั้งอาจคาดคะเนถึงความรุนแรงของธาลัสซีเมียที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเช่นกัน

เป็นพาหะธาลัสซีเมีย มีลูกได้หรือไม่?

  • กรณีที่มีเพียงคุณพ่อหรือคุณแม่ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สามารถมีลูกได้ โดยลูกมีโอกาสที่จะมีจะยีนผิดปกติเป็นพาหะธาลัสซีเมียได้ 50% และมีโอกาสที่จะไม่เป็นพาหะ 50%
  • กรณีที่ทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นพาหะธาลัสซีเมียทั้งคู่ ก็สามารถมีลูกได้เช่นกัน แต่มีโอกาสที่ลูกจะได้รับยีนผิดปกติจากทั้งพ่อและแม่ มีโรคธาลัสซีเมียแต่กำเนิด 25% โอกาสที่จะมีจะยีนผิดปกติเป็นพาหะธาลัสซีเมียได้ 50% และมีโอกาสที่จะไม่เป็นพาหะ 25% แต่หากคุณพ่อคุณแม่กังวลใจก็สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์แบบลดความเสี่ยง

เป็นพาหะธาลัสซีเมีย บริจาคเลือดได้หรือไม่?

ข้อมูลจากสภากาชาดไทย ยืนยันว่า การเป็นพาหะธาลัสซีเมีย ไม่เป็นข้อห้าม ในการบริจาคเลือด สามารถบริจาคเลือดได้ตามปกติ หากค่าความเข้มข้นของเลือดถึงเกณฑ์มาตรฐาน คือ ไม่ต่ำกว่า 12.5 กรัม/เดซิลิตร ในผู้หญิง และไม่ต่ำกว่า 13 กรัม/เดซิลิตร ในผู้ชาย แต่มีข้อแนะนำว่า หลังบริจาคโลหิตควรพักผ่อนให้เพียงพอ ทานยาบำรุงเลือดที่ได้รับจนหมด เพื่อปริมาณเม็ดเลือดฟื้นฟูกลับเข้าสู่ภาวะปกติ


แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ



Loading...