อาการบาดเจ็บที่เกิดกับ “กระดูก เอ็น และกล้ามเนื้อ” หากเป็นเพียงเล็กน้อยก็อาจใช้การรักษาด้วยการกินยาหรือการทำกายภาพบำบัด แต่หากเป็นอาการที่รุนแรงจนควรได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดนั้น ผู้ป่วยหลายคนก็มักหลีกเลี่ยง โดยเลือกที่จะทนต่อความเจ็บปวดไปเรื่อยๆ เพราะเกรงว่าการผ่าตัดจะเจ็บมากหรือเป็นอันตราย กลัวไปว่า… หากผ่าตัดแล้วอาจจะไม่สามารถกลับมาใช้งานอวัยวะนั้นๆ ได้ดีเหมือนเดิม หรืออาการก็คงไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด
ซึ่งทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อมจะเข้ารับการผ่าตัด แพทย์ก็อาจพิจารณาให้ใช้นวัตกรรมการรักษาโรคกระดูก เอ็นและกล้ามเนื้อ ในแบบที่ผู้ป่วยจะเจ็บตัวน้อยลงกว่าการผ่าตัด แต่ช่วยให้อาการที่เป็นอยู่นั้นดีขึ้นได้ นั่นคือ “การฉีด PRP (Platelet Rich Plasma)” หรือ “พลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้น” ซึ่งเราจะมาทำความรู้จักกับการรักษาด้วยวิธีนี้กัน
ทำความรู้จักกับการรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น PRP (Platelet Rich Plasma)
PRP (Platelet Rich Plasma) คือ การรักษาเพื่อบรรเทาอาการบาดเจ็บและการอักเสบของโรคข้อเข่าเสื่อม เอ็นกล้ามเนื้อ เอ็นกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อนต่างๆ โดยไม่ต้องผ่าตัด โดยการนำเลือดของผู้ป่วยมาปั่นแยกเกล็ดเลือดและพลาสมา หลังจากนั้นแพทย์จะนำเกล็ดเลือดและพลาสมาที่ได้มาปั่นจนเข้มข้นและฉายแสง (Photoactivation) ก่อนฉีดกลับเข้าไปในบริเวณที่ผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บ เพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวด ช่วยเร่งการฟื้นฟูเซลล์ เป็นการรักษาที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดกระบวนการซ่อมแซมความเสื่อมถอยของเนื้อเยื่อและเอ็นให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ดีได้
สิ่งดีๆ ที่ได้จากการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น PRP
การฉีด PRP สามารถซ่อมแซมร่างกายบริเวณที่บาดเจ็บและช่วยลดอาการเจ็บปวดได้ ที่สำคัญคือช่วยให้ผู้ป่วยจากโรคเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
- โรคข้อเข่าเสื่อม
- เอ็นไหล่ฉีกขาด
- เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าบาดเจ็บ
- ปุ่มกระดูกข้อศอกด้านนอก
- เคล็ดขัดยอกข้อเท้า
- เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบบริเวณกล้ามเนื้อพังผืด
- อาการเคล็ดขัดยอกเอ็นกล้ามเนื้อ
การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น PRP มีข้อจำกัดหรือไม่ อย่างไร?
การรักษาด้วยวิธีการฉีด PRP (Platelet Rich Plasma) นั้น เป็นการใช้เกล็ดเลือดจากเลือดของผู้ป่วยเอง จึงไม่มีผลข้างเคียงใดๆ และมีความปลอดภัยสูง แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่างในการใช้รักษา เช่น
- ในการฉีด PRP จะไม่สามารถใช้ยาชาร่วมด้วยได้ เพราะความเป็นกรด-ด่างของยาชา อาจมีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือดที่ฉีด ฉะนั้นผู้ป่วยอาจต้องทนเจ็บ หรือระบมจากการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น PRP
- ผู้ป่วยต้องงดยากลุ่มแก้อักเสบหรือสเตียรอยด์ก่อนการฉีด 2 สัปดาห์ขึ้นไป เนื่องจากยาลดการอักเสบจะส่งผลให้การทำงานของเกล็ดเลือดมีประสิทธิภาพลดลง
- การรักษาด้วย PRP ไม่สามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพได้
รู้ไว้…ก่อนเข้ารับการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น PRP
ก่อนเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยต้องทำความเข้าใจและปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์อย่างเคร่งครัด ดังนี้
- งดยาตามที่แพทย์สั่ง โดยเฉพาะยาต้านการอักเสบและสเตียรอยด์ก่อนการฉีดประมาณ 2 สัปดาห์
- ผู้ป่วยต้องไม่มีภาวะขาดน้ำ เนื่องจากจะทำให้การดูดเลือดจากตัวผู้ป่วยเป็นไปได้ยาก
- เมื่อได้เลือดจากผู้ป่วยแล้ว จะนำไปเข้าเครื่องมือเฉพาะ และทำการปั่นเลือดให้ได้เกล็ดเลือดที่เหมาะสมในการรักษา โดยใช้เวลาปั่นประมาณ 15 นาที
- หลังจากฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น PRP แล้ว ต้องงดยาต้านการอักเสบและสเตียรอยด์ต่อไป หากมีอาการปวดอาจใช้ยาแก้ปวดหรือใช้การประคบเย็นแทน
ความเหมาะสมในการฉีด PRP
กระบวนการรักษาต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะที่เกิดโรค ระดับความรุนแรงของโรค รวมถึงสุขภาพของผู้ป่วย ฉะนั้นต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์เป็นสำคัญ
- การรักษาให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดนั้นขึ้นกับอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บ หากเป็นกล้ามเนื้ออาจใช้เวลารักษาน้อยกว่ากลุ่มของเส้นเอ็น
- ผู้ป่วยเรื้อรังอาจต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานกว่า และผลการรักษาอาจได้ประสิทธิผลน้อยกว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาทันทีที่ได้รับบาดเจ็บ
- ตำแหน่งและขนาดของข้อต่างๆ ที่ได้รับบาดเจ็บ เช่น บริเวณข้อศอกกับหัวไหล่ ก็จะใช้ระยะเวลาและให้ผลการรักษาที่แตกต่างกัน
- การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น PRP ต้องฉีดประมาณ 2-3 ครั้งต่อเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บ โดยเว้นระยะห่างกันครั้งละ 7-10 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
- เห็นผลการรักษาได้ตั้งแต่ 4-6 สัปดาห์ เป็นต้นไป
ความต่างของ PRP กับสเตียรอยด์ ที่หลายคนสงสัย?
หลายคนที่เคยเลือกใช้สเตียรอยด์ในการรักษาอาการเจ็บปวด คงสงสัยว่าต่างกับการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น PRP อย่างไร?
- สเตียรอยด์ : การทำงานของสเตียรอยด์ คือ ต้านการอักเสบ แม้ว่าอาการปวดและการอักเสบจะลดลง แต่สเตียรอยด์จะไปรบกวนการซ่อมแซมของเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อ และหากใช้สเตียรอยด์เป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบในระยะยาวได้
- PRP : การทำงานของ PRP คือ การกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมสภาพเส้นเอ็นให้สามารถกลับมามีประสิทธิภาพและคุณสมบัติเหมือนเดิม ฉะนั้นอาจมีอาการปวดจากการอักเสบได้ แต่การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น PRP เป็นการรักษาที่ใช้เลือดของผู้ป่วยเอง จึงค่อนข้างแน่นอนว่าไม่เป็นอันตรายใดๆ และไม่มีผลข้างเคียง
ทุกความเจ็บปวด… เป็นเรื่องที่ต้องรีบรักษาให้หายโดยเร็ว หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือหาวิธีบรรเทาให้ความเจ็บปวดนั้นลดลง ซึ่ง “การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น PRP” เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ที่กำลังอยู่ในภาวะความทรมาน ไม่ว่าจะเกิดจากการบาดเจ็บของกระดูก เอ็น หรือกล้ามเนื้อก็ตาม ได้คลายความเจ็บปวด หรือมีอาการดีขึ้นจนกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนเดิมได้
นพ. กอบศักดิ์ อุดมเดช
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมโรคกระดูกและข้อ
ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์